วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อนาคตไทยกับสังคมผู้สูงอายุ วัลลียา วิริยะสุมน 53242537


 รายงานวิชา 830029 ปัญหาและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา
บทความทางวิชาการ เรื่อง อนาคตไทยกับสังคมผู้สูงอายุ

                                                                                         น.ส.วัลลียา  วิริยะสุมน   53242537
                                                                                                 คณะสังคมศาสตร์   เอกพัฒนาสังคม  ปี3

อนาคตไทยกับสังคมผู้สูงอายุ

               การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่กำลังมีปัญหาและได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ เพราะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับมหภาค ได้แก่ ผลต่อผลผลิตรวมของประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวของประชากร การออม และการลงทุน งบประมาณของรัฐ และในระดับจุลภาค ได้แก่ ผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและสุขภาพ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องเริ่มตั้งแต่บัดนี้ เพราะมาตรการเกือบทุกอย่างต้องใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น

               ความหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ด้านสังคมวิทยากำหนดว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้มีอายุมากจนถึงขั้นให้สังคมอนุเคราะห์มากกว่าที่จะอนุเคราะห์สังคม  ด้านกฎหมาย กำหนดว่าผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เข้าสู่ชราภาพ ต้องปลดเกษียณตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน ด้านสรีรวิทยา กำหนดที่กระบวนการเข้าสู่วัยชราเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปี และคนจะเข้าถึงวัยชราแท้จริงตามหลักสรีรวิทยาจะช้าเร็วผิดกันตามสภาวะแวดล้อมและพฤติกรรมของแต่ละคน ส่วนทางด้านจิตวิทยา กำหนดว่าสามารถสังเกตพฤติกรรมได้ว่าเป็นพฤติกรรมของผู้สูงอายุ เช่น มือสั่นน้อย ๆ จำได้ยาก หลงลืมง่าย ช่วงความใส่ใจน้อยลง จิตใจสงบน้อยลง เป็นห่วงกังวลมากขึ้น จดจำในการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เสถียรภาพทางอารมณ์น้อยลง หงุดหงิดบ่อยขึ้นและหงุดหงิดในเรื่องที่ไร้สาระ นอนหลับได้น้อยลง การศึกษาผู้สูงอายุแต่ละสังคมจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุโดยเฉลี่ยของการทำงานหรือสภาพทางร่างกาย สภาพทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

               จะเห็นได้ว่า ความหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งพอสรุปได้ว่าผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีสภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมถอย มีโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายสมควรที่จะได้รับการดูแลช่วยเหลือ และยังถือว่าเป็นวัยที่เกษียณจากการทำงาน สำหรับประเทศไทยกำหนดว่าเป็นผู้สูงอายุหรือไม่ โดยยึดตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกและองค์การระหว่างประเทศได้ประชุมตกลงกันซึ่งนับอายุตามปฏิทินเป็นมาตรฐานสากล แบ่งเกณฑ์อายุ ตามสภาพของการมีอายุเพิ่มขึ้นดังนี้ ผู้สูงอายุ (elderly) เป็นผู้มีอายุระหว่าง 60-74 ปี คนชรา (old) เป็นผู้มีอายุระหว่าง 75-90 ปี และคนชรามาก (very old) เป็นผู้มีอายุ 90 ปีขึ้นไป
กำหนดว่าเป็นผู้สูงอายุหรือไม่ โดยยึดตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกและองค์การระหว่างประเทศได้ประชุมตกลงกันซึ่งนับอายุตามปฏิทินเป็นมาตรฐานสากล แบ่งเกณฑ์อายุ ตามสภาพของการมีอายุเพิ่มขึ้นดังนี้ ผู้สูงอายุ (elderly) เป็นผู้มีอายุระหว่าง 60-74 ปี คนชรา (old) เป็นผู้มีอายุระหว่าง 75-90 ปี และคนชรามาก (very old) เป็นผู้มีอายุ 90 ปีขึ้นไป


               สังคมผู้สูงอายุองค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกิน 10% หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีเพิ่มเป็น 20% และอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 14%

               สำหรับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 10.5% แนวโน้มในอนาคตที่เห็นได้ชัดเจน คือ ประชากรไทยจะมีอายุยิ่งสูงขึ้นไปอีก ในอีกเพียงไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า ประชากร 1 ใน 5 จะเป็นผู้สูงอายุ และสัดส่วนจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกหลังจากนี้ ทุกวันนี้ เราจะเริ่มรู้สึกว่าในสังคมมีคนแก่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ขณะเดียวกันเด็กก็เริ่มลดน้อยลง ภาพที่เห็นเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา ภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรไทยลดต่ำลงมากและรวดเร็ว ตามหลักฐานการจดทะเบียนเกิดในแต่ละปีจากทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย ในช่วง 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ถึง 2526 มีเด็กเกิดปีละเกินกว่าล้านคน อัตราเกิดช่วงนั้นสูงมากเกินกว่า 35 ต่อประชากร 1000 คน แต่หลังจากนั้น อัตราและจำนวนเด็กเกิดในประเทศก็ลดลงเรื่อยๆจนในปัจจุบันเมื่อปี 2553 อัตราเกิดได้ลดลงเหลือเพียง 13 ต่อประชากร 1000 คน และจำนวนเกิดได้ลดลงเหลือเพียง 7 แสน8 หมื่นคนเท่านั้น

               ในขณะที่ภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรไทยลดลง อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยก็ยืนยาวขึ้น เนื่องจาก การพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์สาธารณสุข สุขาภิบาล เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทำให้อัตราตายของประชากรไทยลดต่ำลงอย่างมากในทุกกลุ่มอายุ ปัจจุบันการตายก่อนอายุครบ 60 ปีของประชากรคิดเป็นร้อยละ 30  ในอนาคตการตายก่อนอายุครบ 60 ปี น่าจะเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้ศึกษา  ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมีประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือ
              1. สถานการณ์ด้านประชากรของประเทศ  จะเห็นได้ว่าโครงสร้างอายุประชากรของประเทศไทยได้เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นรูปทรงคล้ายพีระมิดฐานกว้าง  มาเป็นรูปคล้ายหกเหลี่ยม เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรวัยกลางคนค่อนข้างสูง สาเหตุเนื่องจากอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน  ขณะที่อัตราการเสียชีวิตลดลงเพราะการพัฒนาทางสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้แนวโน้มประชากรมีอายุยืนขึ้น การที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดทดแทนลดลง ทำให้สัดส่วนของผู้ที่อยู่ในวัยพึ่งพิงวัยทำงานเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานต้องทำงานมาขึ้นเพื่อปันผล หาเลี้ยงประชากรวัยพึ่งพิง คาดว่า ในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้สูงอายุ(ที่ไม่ได้ทำงาน) ต่อประชากรวัยทำงาน ในสัดส่วน 1:4 คน 

              2. ผลต่อเศรษฐกิจในเชิงมหภาค ประชากรในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำมีผลต่อการเติบโตของรายได้ประชาชาติ (GDP) โดยจะทำให้ GDP ต่อหัวของคนในประเทศเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะภาวะการขาดแคลนแรงงานทำให้ค่าแรงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมผู้สูงอายุกับระดับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนขึ้นอยู่กับรายได้ของบุคคลเป็นหลัก สังคมที่ผู้สูงอายุมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพและมีฐานะยากจนการบริโภคของประเทศไทยก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ด้านการเงินการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) ช่วยให้การเข้าถึงบริการ ที่จำเป็นของผู้ป่วยดีขึ้นโดยเฉพาะบริการทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูง ส่งผลให้รายจ่ายสุขภาพรวมของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั่งแต่เริ่มมีโครงการ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับภาระถึงประมาณ3ใน4และมีแนวโน้มจะมีภาระเพิ่มขึ้นในระยะยาว เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอายุอื่นผู้สูงอายุย่อมมีโอกาสเจ็บป่วยมากกว่า ยิ่งผู้สูงอายุมีอายุเพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และ สามารถพึ่งตนเองได้น้อยลง โรคของผู้สูงอายุมักเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว เช่น โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อม โรคเหล่านี้ต้องการการรักษาต่อเนื่อง และจะเพิ่มภาระในการดูแลรักษาให้กับสังคมไทย การเตรียมความพร้อมของระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะทรัพยากรสุขภาพที่จำเป็นทั้ง สถานบริการ บุคลากร และงบประมาณ เพื่อการให้บริการและการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า

               3.ผลกระทบต่อแรงงานและภาคการผลิตของประเทศ สังคมผู้สูงอายุมีผลต่อภาคการผลิตของประเทศ 2 ทาง คือด้านอุปสงค์ เนื่องจากรูปแบบการบริโภคของผู้สูงอายุแตกต่างจากวัยทำงาน ทำให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าที่แตกต่างออกไปด้านอุปทาน  สังคมผู้สูงอายุอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำ ทำให้กำลังแรงงานในอนาคตลดลง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ภาคการค้า และบริการภาวะขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
การบริการและสวัสดิการผู้สูงอายุการบริการสำหรับผู้สูงอายุทางด้านสังคมของรัฐภายใต้ความรับผิดชอบของกรมประชาสงเคราะห์ได้มีการจัดการบริการแก่ผู้สูงอายุอย่างชัดเจนตั้งแต่ พ.ศ. 2496 โดยการจัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราแห่งแรกขึ้นจากนั้นมีการจัดตั้งศูนย์บริการคนชราซึ่งทำหน้าที่หลักในด้านการบริการดูแลกลางวัน เป็นแหล่งพักพิงฉุกเฉิน และหน่วยบริการชุมชนเคลื่อนที่ โดยเน้นการส่งเสริมและการบำบัดรักษา ภายหลังจากการจัดทำนโยบายและมาตรการสำหรับผู้สูงอายุระยะยาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2554 นั้น กรมประชาสงเคราะห์ได้เริ่มดำเนินโครงการเงินอุดหนุนกองทุนส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน หรือโครงการเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเงินในการยังชีพที่ไม่มีผู้ดูแลหรืออุปการะและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นสวัสดิการของรัฐ นอกจากนี้ยังจัด ทำโครงการนำร่องการจัดตั้งศูนย์บริการผู้สูงอายุในชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ทดลอง 4 แห่ง เช่น กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ขอนแก่นและเชียงใหม่โครงการนี้มุ่งจะให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อผู้สูงอายุภายในชุมชน โดยเน้นการจัดบริการส่งเสริมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรม ชุมชนช่วยชุมชนสำหรับนอกภาครัฐจะเป็นการดำเนินการขององค์กรอิสระเป็นส่วนใหญ่ เช่น สภากาชาดไทย มูลนิธิดวงประทีป และองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ เป็นต้น โดยเน้นทั้งการสงเคราะห์ในชุมชนและสถานบริการ แต่ปริมาณการบริการยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น บริการทางสังคมเป็นรูปแบบที่มากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะแฝงกับวัดทางพุทธศาสนาที่มีผู้สูงอายุทั้งที่บวชเป็นพระ ถือศีลเป็นชี และที่อยู่อาศัยในบริเวณวัดหรือบริเวณใกล้เคียง สำหรับสถานสงเคราะห์คนชราของกรมประชาสงเคราะห์นั้น รับเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาสังคมและยังช่วยตนเองไม่ได้เท่านั้น โดยมีบริการแบบให้เปล่า และที่เก็บค่า บริการบางส่วน สำหรับรูปแบบการบริการในชุมชน ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กรที่ให้บริการ เช่น การให้เงินอุดหนุนรายเดือน การสนับสนุนการซ่อมแซมที่พักอาศัย การช่วยเหลือด้านอาหารและของอุปโภค เป็นต้น สำหรับการบริการโดยเอกชนเพื่อหวังผลกำไรจะเป็นรูปแบบสถานบริการเรื้อรัง โดยแฝงรวมการบริการผู้ที่มีปัญหาทางสังคมที่มีกำลังซื้อรวมไว้ในการบริการสุขภาพเรื้อรัง

              นโยบายสาธารณะเพื่อการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นต้นมาได้มีการจัดตั้งหน่วยงานการบริการ ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่วัดญาณสังวราราม การจัดทำบัตรประจำตัวผู้สูงอายุ ในปีเดียวกัน และกำหนดการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุขึ้นในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการจัดทำนโยบายและมาตรการสำหรับผู้สูงอายุระยะยาว (พ.ศ. 2535-2554) และจัดตั้งสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายชัดเจนให้มีสวัสดิการด้วยการสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุเมื่อพิจารณาความจำเป็นของการจัดให้มีนโยบายสาธารณะ เพื่อการดูแลผู้สูงอายุนั้น เนื่องจากสถานการณ์ของผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะวิกฤต ดังนั้นนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการจัดสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ ควรเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับระบบการดูแลระยะยาว ไปถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เนื่องจากการดูแลระยะยาวเป็นการจัดบริการทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ สำหรับสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุซึ่งหมายถึงการมีรายได้เพื่อการยังชีพในชีวิตประจำวัน เป็นปัญหาสำคัญที่ทั้งผู้สูงอายุและครอบครัวประสบในปัจจุบัน และต่างมีความต้องการที่จะมีรายได้ เพื่อการยังชีพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรมีการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุชุมชน เพื่อให้มีส่วนดูแลผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านรายได้นอกจากนั้นแนวคิดการขยายเวลาในการประกอบอาชีพ กรณีที่ผู้สูงอายุยังคงสามารถปฏิบัติงานได้ เป็นข้อพิจารณาประการหนึ่งที่ควรส่งเสริม เพื่อสนับสนุนให้เกิดโอกาสการจ้างงานในผู้สูงอายุให้มากขึ้น

แนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์หรือสังคมวิทยา  ที่เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ

ทฤษฎีทางสังคมเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงแนวโน้มบทบาท สัมพันธภาพ และการปรับตัวในสังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งพยายามวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ผุ้สูงอายุต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมไป และพยายามที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีแนวคิดที่น่าสนใจ ได้แก่

               1.ทฤษฎีกิจกรรม ( Activity Theory ) พัฒนาขึ้นโดย Robert Havighurst 1960 ได้อธิบายถึงสถานภาพทางสังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ในทางบวก ระหว่างการปฏิบัติกิจกรรมกับความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุ กล่าวคือเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้น สถานภาพ และบทบาททางสังคมจะลดลง แต่บุคคลยังมีความต้องการทางสังคมเหมือนบุคคลในวัยกลางคน ซึ่งทฤษฎีนี้เชื่อว่า ผู้สูงอายุมีความต้องการที่จะเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อความสุขและการมีชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่ และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่ตนเองสนใจได้ สำหรับคำว่ากิจกรรมตามแนวคิดนี้หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมที่บุคคลปฏิบัติต่อตนเอง นั่นคือกิจกรรมที่บุคคลปฏิบัติต่อเพื่อนฝูง ต่อสังคม หรือชุมชน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุปฏิบัติจะทำให้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อสังคม สาระของทฤษฎีนี้อธิบายได้ว่า การมีกิจกรรมต่อสังคมของผู้สูงอายุจะมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุ ดังนั้นการมีกิจกรรมที่พอเหมาะกับวัยของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจำเป็น การจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับ ผู้สูงอายุควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ สภาพสังคมปัจจุบันที่ทันสมัย และเปลี่ยนแปลงไป (Modernization Perspective ) เป็นปัจจัยซึ่งว่าด้วยบทบาทของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้ผู้สูงอายุก้าวตามไปไม่ทัน การเชื่อมโยงบุคคลแต่ละวัยแต่ละยุค (Intergeneration Linkege) เป็นปัจจัยที่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและประสบการณ์ชีวิตของคนเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันระหว่างคนในวัยเดียวกันแต่คนละยุคสมัย

               นอกจากนี้ทฤษฎีกิจกรรมยังเชื่อว่า ผู้สูงอายุจะมีความสุข ความพึงพอใจในชีวิตเมื่อได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องจากที่เคยทำมาในอดีต จนเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน สำหรับกิจกรรมนั้น แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมที่ไม่มีรูปแบบ (informal activity) กิจกรรมที่มีรูปแบบ (formal activity) กิจกรรมที่ทำตามลำพัง หรือทำคนเดียว (solitary) ซึ่งกิจกรรมแต่ละประเภทมีลักษณะดังนี้ เช่น กิจกรรมที่ไม่มีรูปแบบ (informal activity) กิจกรรมนี้มีลักษณะเป็นกิจกรรมของผู้สูงอายุที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นทั้งในครอบครัวและสังคม ไม่มีการกำหนดรูปแบบเวลา การปฏิบัติที่แน่นอนชัดเจน กิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุปฏิบัติร่วม กับสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดอื่น เช่น ญาติ เพื่อน เพื่อนบ้าน เป็นกิจกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพกาย จิต สังคม มีพื้นฐานมาจากพฤติกรรมที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ระยะทางความใกล้ชิดกันในเรื่องบ้านที่อยู่อาศัยมีผลต่อการร่วมกิจกรรม กล่าวคือ คนที่อาศัยอยู่บ้านใกล้กันจะมีกิจกรรมร่วมกันมากกว่าคนที่อาศัยอยู่บ้านที่ห่างไกลกัน มีการนัดพบสังสรรค์กัน มีกิจกรรมนันทนาการในกลุ่มเดิมเสมอ มีการท่องเที่ยวร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการทำงานฝีมือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของครอบครัว กิจกรรมที่ไม่มีรูปแบบนี้ให้ประโยชน์ทั้งผู้สูงอายุและครอบครัว กิจกรรมที่มีรูปแบบ (formal activity) กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุเข้าร่วมในองค์กร เช่นสมาคม ชมรมหรือกลุ่มต่าง ๆ รูปแบบของกิจกรรมจะชัดเจน ซึ่งอาจกำหนดโดยผู้สูงอายุเอง หรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรนั้น ๆ เป็นกิจกรรมภายนอกครอบครัวซึ่งผู้สูงอายุจะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคม และผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับขององค์กรนั้น ๆ กิจกรรมต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นเพื่อประโยชน์โดยตรงต่อผู้สูงอายุ ในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุบางแห่ง กำหนดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุให้ความสนใจร่วมด้วยมาก มี 6 ประเภทกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมอาชีวบำบัด (occupation therapy) กิจกรรมนันทนาการบำบัด (recreation therapy) กิจกรรมบำบัดด้วยหนังสือ (biblio therapy) กิจกรรมทางศาสนา (religion therapy) กิจกรรมอาสาสมัคร (volunteering) กิจกรรมการออกกำลังกาย (physical exercise) ในรายละเอียดของแต่ละกิจกรรมอาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละสถานสงเคราะห์หรือศูนย์บริการผู้สูงอายุที่มาร่วมกิจกรรมและเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจมีความสามารถ ความพร้อมและการสนับสนุนที่ต่างกัน กิจกรรมที่ทำตามลำพัง หรือทำคนเดียว (solitary) กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ตามลำพังไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยธรรมชาติบุคคลอาจจะต้องการเวลาเพื่ออยู่คนเดียวตามลำพังอย่างสงบ และทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ พอใจอย่างเงียบ ๆ เช่น การทำงานอดิเรก การนอนพักผ่อน เป็นต้น ผู้สูงอายุจะได้ประโยชน์ ความสุขสบาย และความเพลิดเพลิน
กล่าวโดยสรุปว่า ทฤษฎีกิจกรรมเป็นทฤษฎีที่เชื่อว่าผู้สูงอายุจะมีชีวิตเป็นสุขได้นั้น ควรมีกิจกรรมทางสังคมตามสมควร หรือมีกิจกรรมตามบทบาทของตนเองที่ดำรงอยู่ เช่น การมีงานอดิเรกทำ หรือการเป็นสมาชิกกลุ่มสมาคม

               2.ทฤษฎีแยกตนเองหรือทฤษฎีการถอยห่าง (Disengagement Theory) เป็น ทฤษฎีที่เกิดขึ้นครั้งแรกราวปี 1950 กล่าวถึงผู้สูงอายุเกี่ยวกับการถอยห่างออกจากสังคม ของ Elaine Cummings and Willam Henry ที่พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในหนังสือ Growing old: The Process of Disengagement เมื่อปี 1961มีใจความว่าผู้สูงอายุและสังคมจะลดบทบาทซึ่งกันและกัน อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความต้องการของร่างกายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยอมรับว่าตนเองมีความสามารถลดลง สุขภาพเสื่อมลงจึงถอยหนีจากสังคมเพื่อลดความเครียดและรักษาพลังงาน พอใจกับการไม่เกี่ยวข้องกับสังคมต่อไป เพื่อถอนสภาพและบทบาทของตนให้แก่ชนรุ่นหลัง ซึ่งระยะแรกอาจมีความวิตกกังวลอยู่บ้างในบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปและค่อย ๆ ยอมรับการไม่เกี่ยวข้องกับสังคมต่อไปได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้อธิบายโดยกล่าวด้วยว่าโดยปกติแล้วบุคคลจะพยายามผสานอยู่กับสังคมให้นานเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการรักษาสมดุลย์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ก่อนที่บทบาทของตนเองจะแคบลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยสรุปกระบวนการถอยห่างเป็นกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้ เป็นกระบวนการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ผู้สูงอายุถึงพอใจเป็นสากลของทุกสังคม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลย์ของมนุษย์ ปัจจัยที่มีผลต่อการถ่อยห่างของผู้สูงอายุ ได้แก่ กระบวนการชราที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบุคคล, สภาพสังคมและความเชื่อมโยงของอายุที่เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าทฤษฎีการถอยห่าง และทฤษฎีกิจกรรมจะมีความขัดแย้งกัน ซึ่ง Bernice Neugartenและคณะได้ศึกษาเพื่อหาข้อขัดแย้งทั้งสองทฤษฎีแล้วพบว่า การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จ มีความสุข และมีกิจกรรม ร่วมกันนั้นขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและแบบแผนชีวิตของแต่ละบุคคลที่ผ่านมา ผู้ที่มีบทบาทในสังคมชอบเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม ก็ต้องการที่จะร่วมกิจกรรมต่อไป ส่วนผู้ที่ชอบสันโดษไม่เคยมีบทบาทใด ใด ในสังคมมาก่อน ก็ย่อมที่จะแยกตัวเองออกจากสังคมเมื่ออายุมากขึ้น และได้เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีความต่อเนื่อง (Continuity Theory)

              3.ทฤษฎีความต่อเนื่อง (Continuity Theory) เป็นทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นโดย Bernice Neugartenและคณะราวปี 1960 เพราะเหตุว่าทั้งทฤษฎีกิจกรรมและทฤษฎีการถอยห่างไม่เพียงพอที่จะอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมของผู้สูงอายุได้ นักทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อใหม่ว่า การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและแบบแผนชีวิตของแต่ละช่วงวัยที่ผ่านมาและมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมอธิบายได้แก่ แรงจูงใจ สถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจและสังคม บุคลิกภาพ ความยืดหยุ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลวในชีวิตบั้นปลายของผู้สูงอายุ

              4.ทฤษฎีบทบาท (Role Theory) ทฤษฎีบทบาทเป็นทฤษฎีทางสังคมวิทยาโดยมีแนวคิดว่าบทบาท หมายถึงพฤติกรรมของบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติจริง และพฤติกรรมที่ถูกคาดหวังจากคนอื่นตามสถานภาพหรือตำแหน่ง  แนวคิดพื้นฐานสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจทฤษฎีบทบาทมีสามประการได้แก่
-ประการแรกการมองผู้อื่น บุคคลจะมองและวิเคราะห์สิ่งเร้าตัวผู้ก่อให้เกิดสิ่งเร้าและสถานการณ์ก่อนการเลือกตอบสนองที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติบุคคลจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าในทันที

-ประการที่สองการมองภาพตนเอง บุคคลเกิดความรู้สึกบางอย่างภายหลังบุคคลนั้นเกิดจินตนาการภาพตนเองเมื่อปรากฏต่อสายตาผู้อื่นและจินตนาการว่า บุคคลอื่นจะตัดสินหรือประเมินภาพของตนอย่างไร
-ประการที่สามการแสดงพฤติกรรมตามสถานการณ์ บุคคลจะประเมินสถานการณ์และบุคคลอื่น ๆ ในสถานการณ์ก่อนจะแสดงพฤติกรรมที่คิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์และการคาดหวังของบุคคลเหล่านั้น

จากแนวคิดพื้นฐานสามารถพิจารณาแยกแยะลักษณะบทบาทได้ดังนี้
บทบาทตามสถานภาพของผู้สวมบทบาท ซึ่งเป็นบทบาทที่เกิดขึ้นตามสถานภาพโดยกำเนิด หรือสถานภาพที่ถูกกำหนดโดยสังคมส่วนใหญ่ยึดเป็นหลักเกณฑ์
เป็นบทบาทที่เกิดขึ้นตามสถานภาพโดยการแต่งตั้ง หรือโดยความสามารถซึ่งเป็นสถานภาพที่บุคคลได้รับมาภายหลัง
บทบาทตามลักษณะของการแสดงบทบาท โดยบุคคลจะกำหนดบทบาทการแสดงของตนเองและเวลาเดียวกันก็คาดหวังว่าบุคคลอื่นจะต้องแสดงบทบาทอะไร อย่างไร

              บทบาทและสถานภาพของผู้สูงอายุไทย ในสังคมและวัฒนธรรมไทย มีสถานภาพสูงเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถือ เป็นหลักชัย เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรของครอบครัว ผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน เป็น ผู้ถ่าย ทอดวิชาความรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และควบคุมการใช้จ่ายต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา ปัจจุบันสังคมไทยเจริญ ก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมาก ทำให้คนไทยรับวัฒนธรรมต่างชาติของชาวตะวันตกเข้ามา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วไปมีความทันสมัย สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป มีลักษณะความเป็นเมืองที่มีประกอบการด้านอุตสาหกรรม และด้านพาณิชยกรรม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมีบทบาทเป็นผู้นำทางศิลปะ เป็นผู้นำในการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การเป็นผู้นำในการจัดการด้านพิธีกรรมต่าง ๆ และการเป็นผู้นำในการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องความสวยงาม ความรัก ความอดทน เช่น งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และอื่น ๆ งานเหล่านี้ เป็นงานที่ผู้สูงอายุมีความเหมาะสม และสามารถจะทำได้ในอนาคต ผู้สูงอายุที่เป็นผู้นำทางศิลปะ อาจจะพบในเขตเมืองมากกว่าในเขตชนบท ผู้สูงอายุมีบทบาทเป็นผู้นำด้านองค์กรสงเคราะห์ และสวัสดิการสังคม เนื่องจากผู้สูงอายุจัดว่าเป็นคลังของทรัพยากรมนุษย์ และสังคม เมื่อมีเวลามากขึ้นย่อมจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมในรูปขององค์กรอาสาสมัคร โดยที่ผู้สูงอายุที่มีความพร้อม ไม่มีปัญหาในด้านการเงินย่อมมีอิสระต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในด้านสงเคราะห์ และสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุด้วยกัน หรือกลุ่มอื่น ๆ เช่น เด็กหรือเยาวชน หรือ คนพิการ ผู้สูงอายุมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชน เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ การให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาในเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคม นอกจากนั้นยังเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการประกอบอาชีพแก่ผู้สนใจในชุมชนและเป็นที่ปรึกษาในการจัดการงานพิธีต่าง ๆ

               5. ทฤษฎีความทันสมัย (modernization theory) จากการศึกษาผู้สูงอายุทางสังคมและวัฒนธรรมของคาวกิลล์ (Cowgill, 1972)  สนใจที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมอันเกิดจากการเติบโตของ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แนวคิดเชิงทฤษฎีนี้ คาวกิลล์ได้สรุปเป็นข้อเสนอไว้ 2 ประเด็นคือ
               ประเด็นหนึ่งปรากฏการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับผู้สูงอายุในทุกสังคม 8 ประการคือ
ผู้สูงอายุเป็นประชากรกลุ่มน้อยในประชากรทั้งหมดในกลุ่มประชากรสูงอายุจะมีสตรีมากกว่าบุรุษ
สตรีหม้ายเป็นกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ
ในทุกสังคม บุคคลที่ถูกจัดว่าเป็นผู้สูงอายุจะได้รับการปฏิบัติทางสังคมแตกต่างจากบุคคลอื่น
ผู้สูงอายุมักเป็นผู้มีบทบาทในด้านการให้คำปรึกษาหรือควบคุมการดำเนินงานที่ใช้กำลังแต่น้อยแต่มักสนใจอยู่กับเรื่องกลุ่มมากกว่าการผลิตทางเศรษฐกิจ
ในทุกสังคมผู้สูงอายุจะมีบทบาทเป็นผู้นำทางการเมืองการยุติธรรมและกิจกรรมทางด้านพลเรือนต่างๆ
ในทุกสังคม จารีตหรือกฎศีลธรรม เป็นตัวกำหนดความรับผิดชอบร่วมกันบางประการระหว่างผู้สูงอายุและบุตรของตนซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ในทุกสังคมเห็นคุณค่าของชีวิตและแสวงหามาตรการในการทำให้มีชีวิตยืนยาวแม้จะเป็นชีวิตในวัยสูงอายุก็ตาม

                ประเด็นที่สองข้อเสนอที่เป็นปรากฏการณ์ที่ผันแปรระหว่างสังคมที่ต่างกัน
ในส่วนที่เกี่ยวกับความสูงอายุและความทันสมัยนั้น ในสังคมดั้งเดิม บุคคลได้รับการจัดว่าเป็นผู้สูงอายุเมื่อยังมีอายุน้อยกว่าในสังคมใหม่
การเป็นผู้สูงอายุในสังคมสมัยใหม่ถูกกำหนดโดยอายุเป็นประการสำคัญ แต่ในสังคมดั้งเดิมและสังคมแบบอื่น ๆ ถูกกำหนดโดยปัจจัยสำคัญอื่น เช่น การเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น
การมีชีวิตยืนยาวมีความสัมพันธ์โดยตรงและอย่างมีนัยสำคัญกับระดับของภาวะทันสมัย
สังคมทันสมัย จะมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่าสังคมแบบอื่น ๆ
สังคมทันสมัยมีสัดส่วนประชากรสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีหม้ายสูงกว่าสังคมแบบอื่น
สังคมทันสมัยมีสัดส่วนของประชากรผู้เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ทวด มากกว่าสังคมแบบอื่น ๆ
ผู้สูงอายุมีสถานภาพสูงในสังคมดั้งเดิม แต่มีสถานภาพต่ำกว่าและไม่แน่ชัดในสังคมสมัยใหม่
ในสังคมดั้งเดิม ผู้สูงอายุมักจะดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ในสังคมสมัยใหม่ผู้สูงอายุส่วนน้อยที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ในสังคมที่ให้การเคารพนับถือ หรือบูชาบรรพบุรุษ ผู้สูงอายุจะมีสถานภาพสูง
เมื่อมีประชากรสูงอายุเป็นสัดส่วนน้อยของประชากร ผู้สูงอายุจะมีสถานภาพสูง และสถานภาพจะลดต่ำลง เมื่อจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้น
เมื่อสังคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูง สถานภาพทางสังคมของผู้สูงอายุ จะลดถอยลงในอัตราสูงด้วยเช่นกัน
ความมีเสถียรภาพในที่อยู่อาศัยทำให้ผู้สูงอายุมีสถานภาพสูง แต่การไม่มีเสถียรภาพในที่อยู่อาศัย หรือการย้ายถิ่นมักจะทำให้สถานภาพลดต่ำลง
ในสังคมเกษตรกรรม ผู้สูงอายุมีสถานภาพสูงกว่าในสังคมเมือง
ในสังคมที่ไม่รู้หนังสือผู้สูงอายุมักมีสถานภาพสูง แต่เมื่อระดับการรับรู้หนังสือในสังคมทวีสูงขึ้น สถานภาพของผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มลดต่ำลง
ในสังคมซึ่งผู้สูงอายุสามารถทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคม ผู้สูงอายุมักจะมีสถานภาพสูง แต่อย่างไรก็ดี ข้อสรุปดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับระบบค่านิยมของสังคมและกิจกรรมของผู้สูงอายุ
การเกษียณอายุการทำงานเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ และส่วนใหญ่พบในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมีภาวะการผลิตสูง
ผู้สูงอายุมีสถานภาพสูงในสังคมซึ่งมีครอบครัวแบบขยายและมีแนวโน้มที่จะมีสถานภาพต่ำลงในสังคมซึ่งมีครอบครัวเดี่ยว และมีการแต่งงานแยกไปตั้งครอบครัวใหม่
เมื่อสังคมทันสมัยขึ้น ความรับผิดชอบในการจัดบริการด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมีความต้องการพึ่งพิงบริการดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงจากหน้าที่ของครอบครัวมาเป็นภาระหน้าที่ของรัฐ
ความทันสมัยของสังคมทำให้ผู้สูงอายุสามารถรักษาสภาพการเป็นผู้นำของตนได้น้อยลง
ในสังคมแบบดั้งเดิม บทบาทของสตรีหม้ายมักเป็นบทบาทสืบทอดกันมาอย่างชัดเจน แต่เมื่อสังคมทันสมัยขึ้น บทบาทเช่นนั้นจะมีความชัดเจนน้อยลง ดังนั้นบทบาทของสตรีหม้ายในสังคมสมัยใหม่จึงมักยืดหยุ่นและไม่ชัดเจน
ระบบค่านิยมแบบปัจเจกชนนิยมตามแบบแผนของสังคมตะวันตกมักจะทำให้สถานภาพและเสถียรภาพของผู้สูงอายุลดน้อยลง
ในสังคมโบราณ หรือสังคมเกษตรกรรม การแยกตัวอยู่ตามลำพัง มิใช่ลักษณะสำคัญของผู้สูงอายุ แต่เมื่อสังคมมีระดับของการเป็นสังคมทันสมัยสูงขึ้น การแยกตัวอยู่ตามลำพังของผู้สูงอายุมักจะปรากฏสูงขึ้น

               6.ทฤษฎีการแยกตนเอง (disengagement theory)ทฤษฎีนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือชื่อ “growing old” ของ Elaine Cumming และ William Henry ในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้สูงอายุจะต้องลดกิจกรรมของตนเองและบทบาททางสังคม เมื่อตนเข้าสู่วัยสูงอายุ ผู้สูงอายุพยายามจะหลีกเลี่ยงหนีความกดดัน และความตึงเครียดโดยการถอนตัว (withdrawal) ออกจากสังคม ซึ่งเป็นผลจากการรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถลดลง นอกจากนี้ นักทฤษฎีการแยกตนเองเชื่อว่า การที่ผู้สูงอายุไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและบทบาททางสังคมนั้น เป็นการถอนสถานภาพและบทบาทของตนเอง ให้แก่หนุ่มสาวหรือคนที่จะมีบทบาทหน้าที่ได้ดีกว่า ทั้งนี้เพราะความต้องการสูงสุดของสังคม คือต้องการทักษะและแรงงานใหม่มากกว่าการได้จากผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไป จะคุ้นเคยต่อการไม่เกี่ยวข้องกับสังคม หลังจากที่รู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวลและมีความบีบคั้นในช่วงต้น ๆ ในที่สุดผู้สูงอายุจะยอมรับสภาพใหม่คือการไม่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจภาพสังคมผู้สูงอายุไทยในอนาคต ผู้เขียนได้บอกถึงความหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุทำไมจึงเกิดสังคมผู้สูงอายุ ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยการบริการและสวัสดิการผู้สูงอายุพร้อมทั้งนำแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์หรือสังคมวิทยามาเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุการทำความเข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความสูงอายุเป็นการศึกษาและทบทวนถึงแนวคิดกรอบทางความคิดเพื่อให้เกิดการชี้นำไปสู่การดูแลสุขภาพการปฏิบัติการช่วยเหลือการสนับสนุนให้กำลังเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวเองให้ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ความสามารถและข้อจำกัดของผู้สูงอายุจะช่วยให้ผู้ดูแลและครอบครัวตลอดจนการจัดบริการสุขภาพสวัสดิภาพและความเสมอภาคในสังคมต่อผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุมทุกมิติไม่ว่าจะเป็นด้านชีวภาพจิตใจ สังคมและบุคลิกภาพที่เป็นลักษณะเฉพาะของวัยนี้ที่แตกต่างจากวัยอื่นอันเป็นช่องว่างระหว่างวัย

ดังนั้นการประยุกต์ใช้หลักการในแต่ละทฤษฎีที่ว่าด้วยความสูงอายุจะเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการวางแผนส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุให้เหมาะสมต่อไปเพราะการแสดงออกถึงความอบอุ่นและความยกย่องผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาทางด้านจิตใจทั้งยังก่อให้เกิดความมั่นใจและความรู้สึกต่อคุณค่าในตนเองของผู้สูงอายุเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุในฐานะเป็นบุคคลๆหนึ่งสอดคล้องตามแนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตสุขภาพกายและการอยู่ร่วมกันของประชากรผู้สูงอายุกับบุคคลในวัยที่แตกต่างในสังคมได้อย่างมีความสุข

บรรณานุกรม
สุรเดช สำราญจิตต์. (2550, หน้า 32-34). วิถีชีวิตของผู้สูงอายุเขตเมืองภาคกลางในประเทศไทย, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สังคมวิทยา), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ, 2545, หน้า 88-97













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น