วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สาเหตุการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอีสาน นางสาว สุจิตรา แก้วอ้วน รหัสนิสิต 53242704


รายงานวิชา 830329 ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านพัฒนา
บทความทางวิชาการ เรื่อง สาเหตุการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอีสาน

นางสาว สุจิตรา แก้วอ้วน รหัสนิสิต 53242704
คณะ สังคมศาสตร์ สาขา การพัฒนาสังคม

บทนำ
                การย้ายถิ่นฐาน (Migration) และการตั้งถิ่นฐาน (Settlement) สามารถกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กันมาตั้งแต่อดีตซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคสมัยใด สวาท เสนาณรงค์ (มปป.) ได้อธิบายถึงการอพยพของมนุษย์ในสมัยแรกว่า ตามสัญชาติญานของมนุษย์ก็ชอบที่จะเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ แสดงว่าการอพยพเคลื่อนย้ายเป็นรูปแบบพฤติกรรมปกติของมนุษย์”  O.S Dewal et al. (nd.) ได้กล่าวถึงการย้ายถิ่นในอินเดียว่า เป็นปรากกฎการณ์ปกติมิใช่เกิดเพียงเฉพาะมนุษยชาติ แต่แม้กระทั้งหมู่สัตว์ก็ยังมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน เหตุผลของการย้ายถิ่นฐานต่างหากที่เป็นสิ่งที่น่ากล่าวถึง เพราะเหตุผลในการย้ายถิ่นฐานมีมากมาย และซับซ้อน นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานของประชากรในอินเดียว่าเกิดจากเหตุผลทางสังคม และวัฒนธรรม การปกครอง รวมถึงการศึกษาได้ส่งผลต่อการอพยพของประชากรในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ Alberto Zezza et al. (2005) ได้ทำการวิเคราะห์ถึงการเคลื่อนย้ายของประชากรในประเทศ อัลบาเนีย (Albania) และได้พบว่าสภาพพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมนั้นส่งผลให้ประชากรเกิดความยากแคล้น และความยากแคล้นนั้นเองเป็นแรงผลักดันให้ประชากรต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหาความถิ่นที่เหมาะสมในการหากินและดำรงชีพ  นอกจากนี้ J. Edward Taylor and Alejandro Lopez-Feldman (2007) ได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุว่าทำไมครอบครัวในชนบทที่เป็นกำลังผลิตที่สำคัญของประเทศจึงมีการอพยพโดยได้ทำการศึกษาที่ประเทศแมกซิโก (Mexico)  และพบว่าการอพยพแรงงานจากชนบทนั้นมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยสาเหตุสำคัญนั้นคือสภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการย้ายออกจากพื้นที่เดิมเข้าไปสู่เมืองใหญ่
                จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมาสามารถพิจารณาได้ว่าการย้ายถิ่นฐานนั้นเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และมีอยู่ทั่วทุกที่ในโลก เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นสวาท เสนาณรงค์ (มปป.) ได้กล่าวถึงว่านอกจากสัญชาติญาณเดิมของมนุษย์ แล้วยังเกิดจากการที่มนุษย์มุ่งแสวงหาอาหารเพื่อการดำรงชีพ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ อาทิ ฝนแล้ง แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม
                สำหรับการตั้งถิ่นฐาน ความหมายในสารานุกรมไทยเยาวชน (2537) ได้กล่าวว่าเกิดจากมนุษย์ต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อผึ่งพาอาศัยกัน และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ซึ่งการตั้งถิ่นฐานเป็นการรวมกลุ่มของมนุษย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานร่วมกัน และนอกจากนี้ นำพวัลย์ กิจรักษ์กุล(2528) ได้กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐาน (Settlement) ว่าคือการสร้างที่อยู่อาศัยของมนุษย์ โดยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน และเป็นเมือง ในการตั้งถิ่นจะมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ คน และพื้นที่ ส่วนประกอบที่สำคัญรองลงมาคือการติดต่อระหว่างกัน และกัน การใช้บริการต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของคนในชุมชนนั้นๆ เล่น โรงเรียน วัด ร้านค้า ที่การรัฐบาล สาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ Glenn T. Trewartha. (1969) ได้กล่าวถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อลักษณะการตั้งถิ่นฐานไว้ 3 ประการคือ 1. ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพทางธรรมชาติ (Natural Factors) 2. ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม (Cultural Factors) และ3. ปัจจัยเกี่ยวกับประชากร (Demographic Factors) และ Crarke (1972) ที่กล่าวถึงสิ่งที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับการกระจายตัวของประชากร และการตั้งถิ่นฐานคือ อิทธิพลทางธรรมชาติ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมาของประชากร และอิทธิพลทางสังคมเป็นต้น และในปีเดียวกันเอง H. Robinson. (1972.) ได้แสดงทรรศนะคติถึงการเลือกบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานของประชากรในแต่ละบริเวณนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันออกไป อันได้แก่ 1. แหล่งน้ำเพื่ออุปโภค และบริโภค (Water Supplies) 2. ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร (Farming Land) 3. ความปลอดภัยจากการรุกราน (Defense Possibilities) 4. พื้นที่แห้งปราศจากน้ำท่วม (Dry Land) และ5. แหล่งกำบังจากภัยธรรมชาติ (Shelter)
                จากแนวคิดด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อการตั้งถิ่นฐาน สามารถสรุปได้ว่ามี 1) ปัจจัยทางธรรมชาติ อาทิ สภาพทางภูมิประเทศ อากาศ ดิน แร่ธาตุ แหล่งน้ำ 2)สภาพทางสังคม และวัฒนธรรม ความเชื่อ และ3) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประชากร อาทิ ความปลอดภัย กลุ่มชาติพันธุ์ ความหนาแน่นของประชากร เป็นต้น
ประเทศไทยตั้งอยู่ในแหลมอินโดจีน  การที่เรียกว่าแหลมอินโดจีน  เพราะถือว่าอยู่ระหว่างประเทศอินเดีย กับประเทศจีน ซึ่งเป็นการถือเอาประเทศใหญ่เป็นจุดอ้าง  แต่ถ้าถือเอาสภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นจุดอ้างก็น่าจะเรียกว่า อินโด - แปซิฟิค  เพราะเป็นแหลมที่แบ่งน่านน้ำออกเป็นมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิค  มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ ดังนี้   ทิศเหนือ  จดเส้นรุ้ง 20 องศ า25 ลิบดา 30 พิลิบดา เหนือ ที่กิ่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  ทิศใต้  จดเส้นรุ้ง 5 องศา 37 ลิบดา ที่กิ่งอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทิศตะวันออก  จดเส้นแวง 105 องศา 37 ลิบดา 30พิลิบดา ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ทิศตะวันตก  จดเส้นแวง 97 องศา 22 ลิบดา ตะวันออก ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่จากหลักฐานของกรมแผนที่ทหาร  ประเทศไทยมีพื้นที่ ประมาณ 511, 937 ตารางกิโลเมตร ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 จนถึงปัจจุบัน
การย้ายถิ่นฐาน ของประเทศไทยนั้นมีการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีหลายๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานของประชากรในท้องถิ่นเข้าไปสู่แหล่งอาศัยใหม่ และการตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยนั้นจะมีการปรับรูปแบบจากเดิมเคยเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระแต่ต่อมาพื้นที่เริ่มถูกจำกัดมากขึ้นเพราะ นโยบายจากรัฐ หรือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นก็ตาม ดังนั้นรายงานฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์ ศึกษาสภาพการย้ายถิ่น และการตั้งถิ่นฐานของประชากรโดยเฉพาะภาคอีสาน เพราะภาคอีสานนั้นนับได้ว่าเป็นพื้นที่ ที่มีการอพยพไปสู่ภูมิภาคอื่นมากที่สุดในประเทศ
ภาคอีสาน
                ภาคอีสานเป็นที่ราบใหญ่ตอนใจกลางของแหลมทอง หรืออินโดแปซิฟิค อยู่ระหว่างเส้นแวง 101 องศา กับ 105 องศาตะวันออก และเส้นรุ้ง 14 องศา กับ 18 องศา 30 ลิบดาเหนือ มีทิวเขาเป็นกรอบล้อมรอบพื้นที่อยู่เกือบทุกด้าน จึงมีสภาพเป็นที่ราบสูง พื้นที่แยกออกจากภาคกลาง และภาคตะวันออกโดยมีทิวเขา และป่าใหญ่กั้นไว้ มีลำน้ำโขงกั้นอยู่ทางเหนือและทางตะวันออก และเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาวเป็นที่ราบสูงเกิดจาการยกตัวของเปลือกโลกทั้งสองด้าน คือด้านทิศตะวันตก และทิศไต้ ทำให้ภูมิประเทศลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก ผลจากการยกตัวทำให้เกิดเป็นขอบชัดด้านทิศตะวันตก และด้านทิศไต้ (รัตนา รุจิรกุล. 2523) จึงทำให้เกิดมีแอ่งที่ราบสูงอยู่ 2 แอ่งในภาคนี้คือ 1) บริเวณที่ราบแอ่งโคราช และ2) แอ่งสกลนคร ทั้งนี้ลักษณะโดยรวมของแหล่งที่ราบทั้งสองแอ่งนั้น ส่วนใหญ่เป็น ลอนลูกคลื่น (ธวัชชัย จักสาน, 2534)
                สภาพลักษณะดิน ส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่แอ่งโคราชนั้นเป็นดินทราย และทรายแป้ง มีคุณสมบัติกักเก็บน้ำได้น้อยมาก คล้ายกับพื้นที่แอ่งสกลที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นดินทรายอยู่(ธวัชชัย จักสาน.2534)  และดินบนที่ราบขั้นบันไดระดับต่ำ (ร้อยละ26.47) และระดับกลาง (ร้อยละ 33.84) ครอบคลุมพื้นที่ ร้อยละ 60.58 ของภาคอีสาน) ดินพื้นที่ราบขั้นบันได้ระดับต่ำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มดินดินเหนียว ดินทราย ดินลูกรัง และกลุ่มดินเค็ม ส่วนที่ราบขั้นบันไดระดับกลางนั้นเป็นกลุ่มดินร่วนปนทราย ดินทรายจัด ดินที่เป็นกรวด และศิลาแลง ทั้งนี้ลักษณะกลุ่มดินดังกล่าวนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และระบายน้ำได้ดีมาก ส่งผลต่อระดับการกักเก็บน้ำได้ต่ำ(ชรัตน์ มงคลสวัสดิ์.2549)
                สภาพป่าไม้ส่วนใหญ่ เป็นป่าไม้ผลัดใบ ได้แก่ ป่าแดง ที่เป็นป่าหลักของภาคนี้ อยู่ในบริเวณระหว่างลุ่มน้ำกับภูเขาโดยทั่วไป พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ ไม้พลวง เหียง เต็ง รัง มะค่า ยาง เป็นต้น ( ภูมิศาสตร์ประเทศไทย)
                สภาพภูมิอากาศภาคอีสานได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม 2 ชนิดคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูร้อนอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ กลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนอยู่ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม กลางเดือนตุลาคม ฤดูหนาวอยู่ระหว่างกลางเดือนตุลาคม กลางเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1,446.70 มิลลิเมตรต่อปี (ชรัตน์ มงคลสวัสดิ์. 2549) อย่างไรก็ดีโดยภูมิศาสตร์ภาคอีสานที่มีเทือกเขาล้อมรอบนั้นส่งผลให้ภูมิภาคนี้อยู่ใน เขตเงาฝน
                แหล่งน้ำธรรมชาติของภาคอีสาน ณ บริเวณที่ 1)ราบแอ่งโคราช ได้แก่ แม่น้ำมูล-แม่น้ำชี ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ สายต้นน้ำแห่งนี้ได้แก่ ลำคันฉู แม่น้ำพรม แม่น้ำเซิญ แม่น้ำพอง ลำปาว ซึ่งไหลลงไปรวมเป็นแม่น้ำชี และลำพระเพลิง ลำตะคลอง ลำเชิงไกร ลำพลับพลา แม่น้ำยัง ลำเซบาย ลำเซบก ลำปายมาศ ลำชี ห้วยทับทัน แม่น้ำ ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำมูล และ2) แอ่งสกลนคร แม่น้ำที่ไหลอยู่แถบนี้จะเป็นน้ำสายสั้นๆ แม่น้ำสายสำคัญที่สุดได้แก่ แม่น้ำสงคราม นอกจากนั้นก็มีห้วยหลวง ห้วยสวย แม่น้ำเลย และแม่น้ำเหมือง
                
ชุมชนอีสาน
                                ชุมชนอีสานนั้นนับได้ว่าเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการสืบทอดกันมาอย่างเหนียวแน่น (บัวพันธ์ พรหมพักพิง. 2545) สามารถพิจารณาได้จากโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีทิวเขาล้อมรอบ เมื่อถึงฤดูฝนฝนที่ตกก็เป็นเพียงเงาฝน ประกอบกับสภาพดินส่วนใหญ่เป็นเดินทรายซึ่งมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้น้อย ส่งผลให้ภูมิภาคนี้ถูกมองว่าเป็น ถิ่นทุรกันดาร แต่คนอีสานก็ยังทำนา และการเกษตรกันอยู่ สาเหตุหลักที่คนอีสานทำการเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือนของตนเอง เป็นหลัก (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และดารารัตน์ เมตตาริกานนท์.2541) และเมื่อเหลือจากการบริโภคเกษตรกรจึงนำเอาไปแลกเปลี่ยนผลผลิตอย่างอื่นกับคนในชุมชน และจำหน่าย 
                                1 ความเชื่อ และความศรัทธาของคนอีสาน
                                                บุญยงค์  เกศเทศ (มปป.) ได้กล่าวว่า อีสานเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่มีการสืบทอดกันมา โดยผูกพันกับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น อีกทั้งสังคมอีสานมีความเคร่งครัดในภาพแบบประเพณีพิธีกรรม เชื่อถือในเรื่องบาปบุญ คุณโทษ ขวัญ วิญญาน เทวดาอารักษ์ ตลอดจนผีสางนางไม้อย่างจริงจัง โดยมีการเซ่นสรวง ตามฤดูกาล พร้อมกันนี้ก็ยังปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาด้วยความมั่นคง ตามค่านิยมของชุมชน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ หรือแก้ไขปัญหา คติความเชื่อในเรื่อง ผี ชาวอีสานเชื่อกันว่าผีมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเป็นประเภทดี ช่วยคุ้มครองปกป้อง ตลอดจนดูแลรักษาชุมชนให้เกิดสันติสุข ขณะเดียวกันก็สามารถบันดาลให้เกิดความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ล่วงละเมิด หรือขาดความยำเกรง หรือมีพฤติกรรมอันไม่พึงปราถนาของชุมชน กลุ่มผีดังกล่าวได้แก่ ผีเจ้า ผีนาย ผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ ผีย่า ผีตา ผียาย หรือผีที่ชาวบ้านนับถือเฉพาะถิ่นมีความแตกต่างกันออกไป  ส่วนผีอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือกลุ่มที่ก่อให้เกิดโทษ เช่นผีปอบ ผีเปรต ผีแม่แล้ง ผีห่า เป็นต้น
                Seri Phongphit and Kevin Kewison  (1990) ที่รายงานถึงความเชื่อของคนอีสาน คือ 1) เรื่องของบุญ กรรม กล่าวคือคนอีสานจะเชื่อถือเรื่อง กรรม (Karmar ในภาษาสันกฤษ) สาเหตุเพราะคนอีสานส่วนมากศรัทธาในพุทธศาสนา ซึ่งในพุทธศาสนาก็ได้กล่าวถึงเรื่องบาป กรรม และการทำบุญ หรือการสร้างบุญ ดังนั้นการทำบุญของคนภาคอีสานจึงมีทุกสถานการณ์ ไม่ว่าการเกิด การเจ็บป่วย การตาย ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น การทำบุญคนอีสานเชื่อว่าเป็นการสะสมบุญให้กับตนเองแล้ว ยังสามารถอุทิศไปให้กับญาติที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  2) เรื่องผี 
                 บัวพันธ์ พรหมพักพิง (2545) ได้กล่าวไว้ในรายงานเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานว่า สังคมชาวนาในภาคอีสานนั้น แยกไม่ออกจากเรื่องความเชื่อเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างเช่นเรื่องผี เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองมักจะเป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้ต่อสู้กับภัยคุกคามต่างๆ
                ทั้งนี้จากความเชื่อในเรื่องที่อยากต่อการพิสูจน์ทำให้คนอีสานนำเอาความเชื่อผสานกับแนวทางที่จะทำให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสามารถพิจารณาได้จาก ขลำ หรือ เปิงบ้าน ที่ถือเป็นแนวทางปฏิบัตของคนในชุมชนให้เคารพต่อธรรมชาติ ผู้อาวุโส และรวมไปถึงการครองตนในแต่ละวัน
                                2 สังคมเศรษฐกิจ
                                                การประกอบอาชีพของคนในภาคอีสานมีหลากหลาย ดังเช่นปรากฏในวรรณกรรมเรื่องลูกอีสาน (คำพูน บุญทวี, 2523) คือ ช่างเหล็ก ช่างไม้ หาของป่า ประมง การเกษตร และรับจ้างอื่น ๆ นอกจากนี้ (ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์, 2546) จากการสำรวจของCarle C. Zimmerman (1999; reprint) ถึงสภาพเศรษฐกิจในชนบทประเทศไทยเมืองปี พ.ศ. 2480 2481 (ค.ศ. 1930 - 1931) พบว่ารายได้ส่วนใหญ่ของเกษตรกรในภาคอีสานนั้นไม่ได้มาจากการเกษตร แต่จะได้มาจากการประกอบอาชีพอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับจ้าง เป็นสำคัญ และ มันทนา สามารถ และคณะ (2526) ได้กล่าวถึงแหล่งรายได้ส่วนใหญ่ของเกษตรกร (ร้อยละ 75) ทั้งหมดนั้นมาจากการรับจ้าง และ รายได้ที่อยู่นอกภาคการเกษตรทั้งสิ้น
                แม้ว่าคนอีสานมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย มีช่องทางการหารายได้หลายทาง แต่อย่างไรก็ดีฐานการดำเนินชีวิตของคนอีสานก็ยังอยู่ในภาคการเกษตร ทั้งนี้การผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่นั้นมุ่งเน้นสำหรับการบริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากผลการสำรวจของ Carle C. Zimmerman ที่แสดงถึงรายจ่ายในค่าอาหารของเกษตรกรในภาคอีสานนั้นจะต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศ ซึ่งตรงกันกับรายงานของ สุวิทย์ ธีรศาศวัต และดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ (2541) ที่กล่าวว่าคนอีสานส่วนมากทำการเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือนของตนเอง เป็นหลัก และเหลือจากการบริโภคเกษตรกรจึงนำเอาไปแลกเปลี่ยนผลผลิตอย่างอื่นกับคนในชุมชน และจำหน่าย
                                3 ครอบครัวคนอีสาน
                                ธวัช ปุณโณทก (2532) ได้กล่าวถึงขนาดของครอบครัวอีสานนั้นมีขนาดใหญ่ มีความสัมพันธ์ของเครือญาติเหนียวแน่นมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่เครือญาติ และคนภายในชุมชนอีกด้วย และสุเทพ สุนทรเภสัช (2511) กล่าวว่าการแต่งงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) ของคนอีสานจะเป็นการแต่งงานในหมู่บ้านเดียวกันภายหลังการแต่งงานนั้นจะอยู่ภายในเรือนฝ่ายหญิงก่อนสักระยะ (ระหว่าง 2-10 ปี) เพราะผู้หญิงนั้นมีภาระต้องดูแลครอบครัว อาจกล่าวได้ว่าสามีภรรยาจะอยู่รับใช้พ่อแม่ จนทั่งลูกคนถัดไปของครอบครัวจะนำสามีมาอยู่ช่วยพ่อแม่ หรือมิฉะนั้นก็ช่วยพ่อแม่จนมีลูกคนแรก จึงแยกเรือนออกไป การปลูกเรือนจะปลูกอยู่ใกล้กันบนที่ดินพ่อแม่อนุญาตให้
              4 ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินธุ์
                                                Robert L. Pendleton (1943) ได้กล่าวไว้ในรายงานส่วนหนึ่งว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องเอาวัวควายเข้ามาเลี้ยงใต้ถุนบ้าน หรือใต้ฉางข้าวเพราะส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการลักขโมยที่จะเกิดขึ้น และเดช ภูสองชั้น (2546) ก็ได้กล่าวในลักษณะเดียวกันคือในอดีตภาคอีสานนั้นมีโจรขโมยวัว ควาย เยอะจึงทำให้คนอีสานต้องระวังตัวให้มากและนำวัวควายเข้ามาในหมู่บ้านในเวลาเย็น

การย้ายถิ่นของประชากรภาคอีสาน
                ประชากรในภาคอีสานมีการอพยพย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในประเทศ ผลการศึกษาของ ชลิต วิพัทนะพร (2529) ที่ได้ทำการศึกษาการอพยพย้ายถิ่นในดินแดนอีสาน ระหว่างปี พ.ศ.2321-2453 พบว่าปัจจัยหลักคือ สภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือคนไม่สามารถจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้อีกทั้งจะต้องส่งส่วยอากรให้กับรัฐเป็นประจำ สภาพการณ์เหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนผลักดัน (Push factor) หรือดึงดูด (Pull factor) ให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องเกิดการอพยพย้ายถิ่นขึ้นปัจจัยภายในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับ
                1.  ปัจจัยระบบเศรษฐกิจ
                                ก. การแสวงหาพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ การอพยพย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ของผู้คนในสมัยนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความแปรปรวนของธรรมชาติเมื่อเกิดน้ำท่วม ฝนแล้งคนสมัยนั้นต้องเผชิญกับความอดยาก และล้มตายกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องย้ายถิ่นอาศัยเข้าป่า หามัน หากลอยกินประทังความหิว บ้างก็ย้ายไปหากินถิ่นอื่นที่สมบูรณ์กว่า ซึ่งกล่าวสอดคล้องกันกับรายงานของ Seri Phongphit and Kevin Kewison (1990) ที่แสดงให้ถึงสาเหตุที่คนอีสานนั้นอพยพโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมเพื่อหาที่อยู่อาศัยใหม่ และ มีเหตุผลคล้ายคลึงกับการรายงานของ F. Hayao, Y. Kaida and M. Kuchiba (1985) ที่ได้ทำการศึกษา ณ บ้านดอนแดง ตำบลดอนหันจังหวัดขอนแก่น พบว่าชาวบ้านที่อพยพเข้ามาก่อตั้งบ้านเรือนนั้นได้อพยพหนีความแห้งแล้งขึ้นมาเพื่อ หานาดี สำหรับการเพาะปลูก และดำรงชีพ
                                ข. สาเหตุประชากรเพิ่มขึ้นส่งผลให้ที่อาศัยอยู่หนาแน่นทำให้ที่ดินไม่เพียงพอแก่การทำมาหากิน ประชากรบางส่วนจึงได้ทำการอพยพย้ายถิ่นไปหาที่ทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม เช่นกรณีผู้คนจากเมืองคำเกิด คำม่วน ซึ่งเดิมอพยพย้ายถิ่นเขามาเมืองแซงบาดาล ต่อมาคนมากขึ้นจึงย้ายจากเมืองแซงบาดาลมาอยู่ที่ท่าขอนยางเป็นต้น
                                ค. การเสียส่วนอากร คนสมัยนั้นมีภาระที่ต้องเสียส่วย ค่านา และอากรต่างๆให้กับทางราชการ ภาระหน้าที่ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแรงผลักดันที่ทำให้คนอีสานอพยพย้ายถิ่นอยู่เสมอๆ
                                ง. การแสวงหารายได้ทางเศรษฐกิจ ความต้องการแรงงานด้านการบุกเบิกพื้นที่เพาะปลูกหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และเมื่อรัฐบาลเปิดเส้นทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ-โคราช ในสมัย ร.5 ปัจจัยดังกล่าวได้เป็นแรงดึงดูดให้คนอีสานไปแสวงหารายได้ (ขายแรงงาน) รับจ้างทำนา และงานโยธาในภาคกลางเป็นจำนวนมาก ช่วงนี้การดำรงชีพของคนอีสานเริ่มผูกพันกับระบบเงินตรามากขึ้น เพราะมีสินค้าหลายประเภทจากภาคกลางทะลุเข้ามาขายในพื้นที่ภาคอีสาน การอพยพย้ายถิ่นในลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นการอพยพย้ายถิ่นลงไปรับจ้างชั่วคราวในช่วงเดือน พฤษภาคม-กุมภาพันธ์ของปีถัดไป เมื่อถึงฤดูทำนาชายฉกรรจ์ส่วนใหญ่จะกับมาทำนา ณ ภูมิลำเนาเดิม


                2 ปัจจัยทางสังคม
                                สังคมอีสานสมัยนั้นยึดถือ ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่น การช่วยเหลือกัน ความไว้วางใจกัน ดังนั้นสังคมอีสานจึงเป็นสังคมที่มีความผูกพันในตัวเองสูง แต่ในทางกับกันหากความผูกพันตรงนั้นถูกทำลายลงก็กลายเป็นแรงผลักดันให้คนอีสานต้องอพยพย้ายถิ่น 1)ความรู้สึกผูกพันทางเชื้อสายและกลุ่มชน ดังเช่นคนจากเมืองมุกดาหารพากันอพยพมาอยู่อุบลฯตามบรรพบุรุษเดิมซึ่งเป็นคนเมืองชุมภร (ฝั่งลาว) หรือสายชาวย้อ อพยพมาอยู่ท่าขอนยาง 2)ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและค่านิยม อันได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี เนื่องจากวิถีชีวิตผู้คนในสมัยนั้นผูกกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นอย่างแน่นแฟ้น เช่นหลังแต่งงานฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง สมัยนั้นเรียกว่า เขยสู่ ประเพณีดังกล่าวเปรียบเสมือนแรงผลักให้ฝ่ายชายแต่งแล้วต้องอพยพไปอยู่กับฝ่ายหญิง และ ความเชื่อในเรื่องศาสนาก็เป็นแรงดึงดูดประการหนึ่งที่ทำให้คนอพยพ ดังเหตุการณ์หนึ่งในปี พ.ศ.2409 คนจากเมืองนางรอง เมืองประโคนชัยจำนวน 400 คนเศษพากันอพยพตามสมีปรัก ที่อ้างตนว่าเป็นพระศรีอาริย์มาเกิดไปอยู่บ้านตะไลแขวงเมืองจงกันในดินแดนเขมร นอกจากพุทธแล้วเหตุการณ์หนึ่ง คนชาวพวน ชาวข่า ชาวผู้เทิง ได้อพยพจากฝั่งซ้ายมาอยู่เมืองมุกดาหารต่อมา ในปี 2429 ได้อพยพตามบาทหลวงไปอยู่เมืองนครพนม และสกลนคร และ 2.3 ค่านิยม คือ ค่านิยม คนแต่ก่อนนิยมบวชเรียนนิยมไปบวชเรียนที่ๆมีชื่อเสียง ซึ่งวัดก็นับได้เป็นปัจจัยดูดได้เช่นกัน
                3. ปัญหาโจรผู้ร้าย
                                เมื่อเกิดปัญหาโจรผู้ร้าย ความสงบในอีสานก็ถูกทำลายลง อีสานสมัยนั้นโจรเยอะมาก บางครั้งโจรก็เป็นคนของเจ้าเมือง กรมการเมือง หรือไม่ก็เป็นคนของข้าราชการจากกรุงเทพฯ ที่พากันซ่องสุมคนเพื่อหาประโยชน์ เจ้าเมืองกรมการเมืองก็ไม่ค่อยสนใจปราบปราม ทำให้คนต้องย้ายถิ่น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2429 คนจากเมืองโคราชและแขวงเมืองขึ้น 506 ครอบครัวย้ายหนีโจรมาอยู่หัวเมืองอื่น และบางส่วนยังเข้ายังเขตแดนเขมร ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของ Robert L. Pendleton (1943) ได้กล่าวไว้ในรายงานส่วนหนึ่งถึงปัญหาโจรผู้ร้ายว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องเอาวัวควายเข้ามาเลี้ยงใต้ถุนบ้าน หรือใต้ฉางข้าวเ และเดช ภูสองชั้น (2546) ก็ได้กล่าวในลักษณะเดียวกันคือในอดีตภาคอีสานนั้นมีโจรขโมยวัว ควาย เยอะจึงทำให้คนอีสานต้องระวังตัวให้มากและนำวัวควายเข้ามาในหมู่บ้านในเวลาเย็น
                4. การเกิดโรคระบาด
                                ดังเหตุการณ์หนึ่งในปี 2426 คนในแขวงเมืองโคราชจำนวนมากย้ายหนีโรคอหิวาตกโรคไปยังเมืองอื่นของอีสาน และเขมร ซึ่งตรงกันกับรายงานของ Seri Phongphit and Kevin Kewison (1990) ที่แสดงให้ถึงสาเหตุที่คนอีสานนั้นอพยพโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมสาเหตุหนึ่งนั้นเกิดจากโรคระบาดที่คร่าชีวิตของคนในชุมชนเดิมนั้น และไกล้เคียงกับรายงานของ ภัทรพงษ์ เกริกสกุล (2548) ที่ได้กล่าวถึงประวัติการตั้งบ้านเหล่าโพนทองว่าประชากรส่วนหนึ่งของหมู่บ้านเป็นประชากรที่อพยพหนีโรคระบาดมาอยู่หมู่บ้านนี้
               
ลักษณะการย้ายเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่ของคนอีสาน
                การย้ายเพื่อไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ของคนอีสานนั้นเกษตรกรจะย้ายไปทั้งครอบครัว และหมู่เครือญาติ โดยเอาสัมภาระที่จำเป็นบรรทุกลงเกวียนและใช้วัวลาก นอกจากนี้คนอีสานจำเป็นต้องเอาสัตว์เลี้ยงไปด้วย ได้แก่ ควาย จำเป็นต่อการการทำนา และไก่พื้นเมือง เพื่อนำขยายพันธุ์และใช้เป็นอาหารบริโภคต่อไป (คำพูน บุญทวี. 2523 และจุฬาพร โชติช่วงนิรันดร์ และคณะ. 2529) พร้อมกันนั้นเมื่อพิจารณาถึงเส้นทางการเคลื่อนย้าย ของคนอีสานแล้ว พบว่าคนอีสานนั้นจะเคลื่อนย้ายขึ้นมาตามลุ่มน้ำดังที่ปรากฏในรายงานของ ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย (2546) ถึงสาเหตุการอพยพขึ้นมาจากจังหวัดยโสธรสู่อำเภอเสลภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดเส้นทางของลุ่มน้ำเพราะว่าเป็นการประกันว่าจะมีอาหาร และมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในการทำการเกษตร

รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของคนภาคอีสาน
                ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ (2524) ได้รายงานถึงลักษณะของการตั้งถิ่นฐานของคนในภาคอีสานนั้น ที่สำคัญและเด่นชัดที่สุดคือ การตั้งถิ่นฐาน แบบกระจุกหนาแน่น (Cluster Pattern) คือบ้านเรือนจะชิด และแออัดกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ 1) ลักษณะของหมู่บ้าน ที่เป็นที่สูง (โนน หรือดอน) ทำให้มีพื้นที่จำกัดต้องสร้างใกล้ชิดกัน รอบๆ หมู่บ้านอาจเป็นลุ่มลำห้วย หรือนา 2) ลักษณะทางวัฒนธรรม มรดกที่สืบทอดกันมาในวงศ์เครือญาติ ความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน จึงต้องสร้างบ้านเรือนใกล้ชิดกัน ตลอดทั้งวัฒนธรรมความเอื้อเฟื้อ 3) ความปลอดภัยในตนเอง และทรัพย์สิน การลักขโมยสัตว์เลี้ยง และปล้นจี้ และ4) ลักษณะทางวัฒนธรรมของที่ตั้งชุมชน เช่นบริเวณทางเกวียน สี่แยก ทางร่วมทางแยก ซึ่งสะดวกในการคมนาคมทำให้ชุมชนรวมกันเป็นกระจุก
                มนู วัลยะเพ็ชร์ (2520) ได้กล่าวถึงสภาพของพื้นที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ราบเหมือนลอนลูกฟูก ส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ราบลูกคลื่น และด้วยสภาพดังกล่าวส่งผลให้การตั้งถิ่นฐานของคนในภูมิภาคนี้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหย่อม โดยกลุ่มบ้านเรือนเหล่านี้จะอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเป็นสำคัญ
                 ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ และสมศักดิ์ ศรีสันติสุข (2529) ได้รายงานถึงสภาพที่ตั้งบ้านเรือนของหมู่บ้านนาป่าหนาด ที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยว่า ประชากรในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสาย ไทยดำ ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน และได้เลือกทำเลการตั้งหมู่บ้านอยู่บนที่สูงที่เรียวกว่า โคก ชาวบ้านหมู่บ้านใกล้เคียงก็จะเรียกบ้านนาป่าหนาดว่า บ้านโคก และลักษณะการตั้งบ้านเรือนนั้นจะกระจุกตัวกันเป็นคุ้ม
                รูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนหมู่บ้านของคนอีสานในอดีต มักอยู่รวมกันเป็นกระจุก (Clustered Settlement) ที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวตามลำน้ำมีน้อยมาก หมู่บ้านอีสานจะตั้งเป็นกลุ่มบนที่ดอน ถ้าเป็นหมู่บ้านที่มีอายุยืนยาวนาน (ที่นี้หมายถึงสภาพบ้านเก่าของคนอีสาน) จะมีบ้านหนาแน่นจนไม่มีพื้นที่ปลูกสวนครัว คนอีสานไม่ปลูกบ้านขวางตะวัน (มันขลำ) หากพิจารณาผังของหมู่บ้านประกอบกับความสัมพันธ์ทางเครือญาติพบว่ากลุ่มบ้าน 5-10 หลังคาเรือนที่อยู่ติดกันมักเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดกัน และในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีผู้อาวุโสของตระกูลที่เป็นที่เชื่อฟังของหัวหน้าครอบครัวอื่นๆ ที่เป็นที่ใกล้ชิดกันที่เรียกว่า เจ้าโคตร การวางผังของหมู่บ้านอีสานจะไม่ค่อยมีระเบียบแบบแผน แต่ก็มีทางเดินติดต่อกันทุกครัวเรือน กล่าวคือการสร้างบ้านของชาวอีสานนั้นจะขึ้นอยู่กับการเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทำเส้นทางติดต่อกับครัวเรือนอื่นๆ ส่วนลูกหลานที่เจริญเติบโตมีครอบครัวก็จะสร้างบ้านใหม่ในที่ดินที่ใกล้ชิดกับบ้านเดิมของพ่อแม่(จารุบุตร เรืองสุวรรณ. 2519 และ ธวัช ปุณโณทก. 2532)
                ธวัช ปุณโณทก(2532) ได้กล่าวถึงทำเลการตั้งหมู่บ้าน ก่อนที่รัฐจะเข้ามาควบคุมพื้นที่โดยการออกหนังสือสิทธิ ส.ค.1 และ น.ส.3 ชาวอีสานสามารถโยกย้ายถิ่นชุมชนไปตั้งอยู่พื้นที่ซึ่งเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่า ที่เรียกว่า สร้างบ้าน แปงเมือง ชาวบ้านมีสิทธิ์ที่จะหาทำเลสร้างหมู่บ้านใหม่ได้ เพราะยังเป็นที่ว่างเปล่า แหล่งน้ำ หรือที่ลุ่มเพาะปลูกข้าวเป็นต้น แต่การโยกย้ายหมู่บ้านไปทำกินในที่อุดมสมบูรณ์นั้นทำได้ระยะหนึ่ง แต่ภายหลังต่อมาพื้นที่จำกัด การขยายหมู่บ้าน หรือโยกย้ายที่ทำกิน จึงเปลี่ยนไปเป็นออกไปรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ ระยะสั้นๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติมจากการทำนาเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาที่ว่างจากการทำนา
                ฉะนั้นการศึกษาทำเลการตั้งหมู่บ้านชนบทอีสานจึงพบว่ามักจะมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันมากนักซึ่งสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านนั้น จะมีปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการผลิต การเพาะปลูกข้าว และเอื้อต่อการดำรงชีพพื้นฐานของชีวิตเป็นสำคัญ เช่นหนองน้ำ ป่าละเมาะ (หาพืช ผัก สัตว์ป่า) ที่ลุ่มทำนา
                1.1 ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงในฤดูฝน สถานที่ที่ตั้งหมู่บ้านจะเป็นที่ดอนสูง การตั้งหมู่บ้านจะรวมกันเป็นกลุ่มบนที่ดินตามขนาดของพื้นที่ดอน นั่นคือถ้ามีพื้นที่ดอนมากหมู่บ้านมักจะใหญ่กว่า 100-200 หลังคาเรือน ถ้าพื้นที่ดอนขนาดเล็กหมู่บ้านจะเล็ก เพราะเหตุว่าไม่มีพื้นที่จะปลูกบ้าน ครอบครัวใหม่ๆ จะแยกไปตั้งบ้านอยู่ที่ปลายนา หรือย้ายไปตั้งชุมชนใหม่ เป็นการขยายหมู่บ้านออกไป แต่ยังอาศัยสถาบันสำคัญของหมู่บ้านเป็นหลักอยู่
                1.2 ที่ราบลุ่ม คือพื้นที่สำคัญในการทำนาข้าว ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวทีหมู่บ้านอีสานต้องการในอดีต (ก่อนการปลูกปอ ปลูกมัน) ถ้าพื้นที่ลุ่มจำนวนมากหมายถึงผลผลิตของหมู่บ้านมีปริมาณมาก หรืออาจจะหมายถึงการเป็นหมู่บ้านใหญ่เกินกว่า 100 หลังคาเรือน
                1.3 หนองน้ำขนาดใหญ่ หรือลำห้วย หมู่บ้านโดยทั่วไปมักจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่หรือลำห้วยเพื่อเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้บริโภคยามหน้าแล้ง และอีกประการหนึ่งเป็นแหล่งอาหาร เช่น ปลา กบ เทา และไข่ผำ รวมทั้งเป็นตัวเหนี่ยว ฮวก ฯลฯ
                1.4 ป่าละเมาะ บริเวณปลายนาจะมีป่าละเมาะขนาดใหญ่ เป็นพื้นทีสาธารณะสำหรับปล่อยวัวควายในฤดูทำนา และยังเป็นแหล่งหาฟืน ผักป่า หาสัตว์เล็กๆ ปัจจุบันถูกบุกรุกเมื่อมีการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ ปัจจุบันคงเหลือบางส่วนที่จำเป็นจริงๆ เช่นป่าช้า

บทสรุป
                การย้ายถิ่นฐาน และการตั้งถิ่นฐานนั้นเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กันตั้งแต่อดีต พร้อมทั้งมีการเกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยก็เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นด้วย สำหรับภาคอีสานปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐาน สภาพความเป็นอยู่แล้นแค้น อาหารไม่อุดมสมบูรณ์ ภัยธรรมชาติส่งผลให้ไม่สามารถผลิตอาหารได้ โรคระบาดที่เกิดขึ้น รวมถึงนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของภาครัฐเองที่เป็นแรงผลักดันให้ประชากรย้ายถิ่นฐาน การย้ายถิ่นฐานของคนอีสานนั้นจะย้ายไปทั้งครอบครัว และสามารถพิจารณาได้ถึงทิศทางในการเคลื่อนย้ายของประชากรคือจะเคลื่อนจากลุ่มน้ำสู่ต้นน้ำเพื่อตั้งชุมชน ลักษณะการตั้งชุมชนของคนอีสานมักสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกระจุก (Clustered Settlement) ไม่กระจายออกไปสู่ที่ทำกินนั้นเป็นเพราะปัจจัยทางธรรมชาติได้แก่สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย และทำกิน พร้อมทั้งสังคม ที่จำเป็นต้องมีการพึ่ง ความเชื่อในการอยู่ร่วมกัน เศรษฐกิจที่จะต้องเกื้อกูลกัน รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัยสินธุ์ด้วย ที่ส่งผลให้ชุมชนในภาคอีสานเป็นเช่นนั้น
                แต่อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์ภายในชุมชนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกระยะเวลาเนื่องจาก กระแสสังคม เทคโนโลยี ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และกระแสการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภายชุมชนเอง จากประสบการณ์ภาคสนามในปีพ.ศ. 2549 ผู้สัมมนามีข้อสังเกตว่ามีเกษตรกรได้ออกจากชุมชน (Move out Community) มาอาศัยอยู่ที่พื้นที่ทำการเกษตรซึ่งปรากฏการณ์นี้แตกต่างไปจากอดีตที่เคยเป็นมา แม้กระทั่งในอดีตรัฐเคยมีหลายโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกรสามารถออกมาอาศัยอยู่ที่สวนหรือนาก็ตาม แต่รูปแบบนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น ปัจจุบันนี้ ทำไมเกษตรกรจึงแยกตัวออกไปอาศัยภายนอกหมู่บ้าน แบบกึ่ง-ถาวร และถาวรแบบเดี่ยว เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรและดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรแบบใด ด้วยคำถามดังกล่าวส่งผลให้เกิดการศึกษาต่อไป
เอกสารอ้างอิง

เดช ภูสองชั้น.2546(พิมพ์ครั้งที่2). ประวัติศาสตร์สามัญชนของ ฅนทุ่งกุลา. บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) สำนักพิมพ์มติชน.
เติม วิภาคย์พจนกิจ. 2530. ฉบับพิมพ์ครั้งที่2. ประวัติศาสตร์อีสาน. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์.
ไพฑูรย์ มีกุศล.2531. บทความทางวิชาการอีสานศึกษา.คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์. 2546.พิมพ์ครั้งที่3, อีสานเมื่อวันวาน ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์, มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน กรุงเทพฯ, ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรัชการพิมพ์.
คำพูน บุญทวี. 2523. ลูกอีสาน. บรรณกิจ, กรุงเทพฯ
จารุบุตร เรืองสุวรรณ. 2519. ทัศนบางอย่างทางภาคอีสาน,ของดีอีสาน. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธนธรรมแห่งชาติ, กระทรวงศึกษาธิการ. น.8-9
จุฬาพร โชติช่วงนิรันดร์, นลินี ตันธุวนิช, ปนัทดา เพชรสิงห์ และสมใจ พงษ์สังข์, 2529. รายงานการวิจัยเรื่องประวัติหมู่บ้านคำม่วง. โครงการวิจัยระบบการทำฟาร์ม, สายงานสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ชรัตน์ มงคลสวัสดิ์. 2549. บรรณาธิการ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศักยภาพเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนา,ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย. 2546. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการในลุ่มน้ำชี.  ชุดโครงการประวัติศาสตร์การขยายตัวชุมชนลุ่มน้ำชี, สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ และสมศักดิ์ ศรีสันติสุข. 2529. รายงานการวิจัยเรืองการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองสังคม และวัฒนธรรมในหมู่บ้านอีสาน . คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์       มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ธวัช ปุณโณทก. 2532. อีสาน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต,  การสัมมนาทางวิชาการเรือง วัฒนธรรมพื้นบ้าน : กรณีอีสาน. จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ณ วิทยาลัยครูจังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 30 มิถุนายน 2 กรกฎาคม 2532. พิมพ์ที่ บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ จำกัด, กรุงเทพ
ธวัชชัย จักสาน, 2534. บรรณาธิการ.อีสาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปีของสมาคมชาวอีสาน, สมาคมชาวอีสาน, ธนวัชช์การพิมพ์ ถนนจรัลสนิทวงศ์ 68 บางพลัด กรุงเทพฯ
นำพวัลย์ กิจรักษ์กุล. 2528. ภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน(Settlement Geography). พิมพ์ที่กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์ O.S. Printing House Co; Ltm. กรุงเทพมหานคร
บัวพันธ์ พรหมพักพิง.2545. รายงานการวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสานห้าทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กรณีศึกษาบ้านท่า. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), กรุงเทพฯ.
บุญยงค์ เกศเทศ. มปป.ดอนปู่ตา: ป่าวัฒนธรรมอีสาน. สถาบันวิจัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ประสิทธิ์ คุณรัตน์. 2524. 
ปัทมา วิตยากร, อนันต์ พลธานี และวไลวัจส์ กฏษณะภูติ. 2537. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อจำนวนต้นไม้ และเงื่อนไขของเกษตรกรในการผสมผสานต้นไม้ในระบบการทำฟาร์ม กรณีศึกษา อำเภอกระนวน ขอนแก่น (Factors influencing number of trees and farmers’ conditions for trees’ integration in the farming system. A case study of District of Kranuan, Khon Kaen, Northeast Thailand.). โครงการการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุน SUAN-FORD มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ภัทรพงษ์ เกริกสกุล. 2548. ระบบการเลี้ยงไก่ชน : กรณีศึกษาบ้านหว้า และบ้านเหล่าโพนทอง ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น. รายงานการศึกษาอิสระปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ภูมิศาสตร์ประเทศไทย. 2547. ภูมิศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ค้นหาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2549 ที่http://www1.mod.go.th/heritage/nation/geography/geo.htm.
มนู วัลยะเพ็ชร์, 2520. การตั้งถิ่นฐานในชนบทของประเทศไทย. ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์     มหาวิทยาลัยศิลปากร : นครปฐม.
มันทนา สามารถ, วีระ ภาคอุทัย, วิไลวัจน์ กฤษณะภูติ, สุเกสินี สุภธีระ, ประพิมพร สมนาแซง, ประสิทธิ์ คุนารัตน์, นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์, สุมาลี รัตนปัญญา และพรสิริ ทิวาวรรณวงศ์. 2526. การศึกษาการปรับตัวของเกษตรกรในเขตน้ำฝนเมื่อเกิดภาวะฝนแล้ง ปี 2525 (A Study of Rainfed Farm Household Adjustments to Drought Stress Conditions). รายงานการวิจัย, โครงการศึกษาภาวะเศรษฐกิจ และสังคมกสิกรในระบบเกษตรน้ำฝน, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
รัตนา รุจิรกุล. 2525. ภูมิศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์
สุเทพ สุนทรเภสัช. 2511. สังคมวิทยาของหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. โรงพิมพ์สังคมศาสตร์แห่งประเทศ  ไทย, กรุงเทพฯ.
สุวิทย์ ธีรศาศวัต และดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2541. ประวัติศาสตร์อีสาน หลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน. ภาควิชาประวัติศาสตร์ และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Carle C. Zimmerman. Foreword by Stephen L. W. Greene, 1999.  Siam Rural Economic Survey 1930-1931. Printed in Thailand, White Lotus Co., Ltd.
 Glenn T. Trewartha. 1969.A Geography of Population : World Pattern. New York : John Wiley & Sons Inc. p. 77-78
H. Fukui, Y. Kaida and M. Kuchiba. (1985) A Rice-Growing village revisited : An integrated study of  rural development in Northeast Thailand. Conducted under the direction of Yoneo Ishii. The center of       southeast Asian studies Kyoto university
 H. Robinson. 1972. Geography for Business Studies. London : Macdonald & Evan Ltd. p.439
J. Edward Taylor and Alejandro Lopez-Feldman (2007) Does Migration Make Rural Household More               Productive? Evidence from Mexico. ESA Working Paper No. 07-10 March 2007, Agricultural       Development Economics Division The Food and Agriculture Organization of the United Nations.
 John I. Clarke. 1972. Population Geography. Oxford : Pergamon Press. p.13
O. S Dewal, Aslam Mahmood and D. K Sharma. (nd.) Integrating migration education into social science        curriculum. National Council of Educational Research and Training Sri Aurobindo Marg, New Delhi-16
Robert L. Pendleton, 1943. Land use Northeastern Thailand. Geographies Reviews, V.33. pp. 15 - 41 
Seri Phongphit and Kevin Kewison ,1990. Thai Village Life Culture and Transition in the Northeast. Bangkok, Published by Mooban Press.




2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณนะครับที่ช่วยเอาบทความผมเผยแพร่...บทความนี้เขียนน่าจะราวๆปี 2549 - 2550 กระมังผมคิดว่าจะไม่มีคนอ่านซะแล้ว

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณนะครับที่ช่วยเอาบทความผมเผยแพร่...บทความนี้เขียนน่าจะราวๆปี 2549 - 2550 กระมังผมคิดว่าจะไม่มีคนอ่านซะแล้ว

    ตอบลบ