วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น น.ส. ขวัญชนก ปั้นเพชร รหัสนิสิต 53241707


บทความวิชาการ
เรื่อง ปัญหาการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น
รายวิชา  ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา
โดย   น.. ขวัญชนก  ปั้นเพชร   รหัสนิสิต  53241707


            จากสังคมไทยในยุคปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน หลายแบบ และหลายวัฒนธรรม มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และไม่ดี ต่างคนต่างมุมมอง เมื่อมุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกันนั้น ก็เกิดเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทกันในกลุ่มวัยรุ่น วัยรุ่นเป็นวัยของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเปลี่ยนแปลงระหว่างวัยถือเป็นช่วงสำคัญที่สุด  เนื่องจากอนาคตของวัยรุ่นจะเป็นอย่างไร จะเริ่มจากสิ่งที่เขาได้รับในวัยนี้ สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวมีอิทธิพลมากกับวัยรุ่น  เพราะจะทำให้พวกเขาได้รับการซึมซับในสิ่งที่สังคมนั้นๆ กระทำ หากสังคมที่เขาอยู่เป็นสังคมที่ดี ก็ถือเป็นโชคดีของพวกเขา แต่ถ้าอยู่ในสังคมที่ไม่ดีเขาก็จะได้รับและซึมซับพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นไปด้วย
            เมื่อกล่าวถึงวัยรุ่นหลายคนก็มักมองกันไปได้อีกหลากหลายรูปแบบหลากหลายความคิด หลากหลายมุมมอง  บางคนอาจมองว่าเป็นวัยที่สดใส วัยริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เป็นวัยที่มีพลัง มีความคิดเป็นของตัวเองสูง และก็เป็นวัยที่รุนแรงก้าวร้าว คำนี้ มักมีอยู่ในช่วง วัยรุ่นเสมอ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ผู้คนมักเรียกกันว่า  “วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ”  เพราะวัยนี้พยายามที่จะค้นหาความเข้าใจในตนเอง  ยิ่งในโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  การติดต่อสื่อสารทำได้อย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้โลกทัศน์ของวัยรุ่นกว้างขึ้น  บางคนก็ค้นพบตนเองในทางที่ถูกต้อง  แต่บางคนกลับหันเหไปในทางที่ผิด ทำให้เป็นบ่อเกิดของปัญหาที่เราเห็นในปัจจุบันถ้าจะวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นในขณะนี้  คิดว่าคงจะมีสาเหตุมาจากหลายๆด้าน  ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ของวัยรุ่น  สภาครอบครัว  สภาพสังคมต่างๆที่เป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมของวัยรุ่นผ่านสื่อต่างๆทั้งภาพยนตร์  วีดีโอ  เกม  ที่ล้วนมีผลต่อความรุนแรงเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึก โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว มันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่มันก็เป็นปัญหาทางสังคม ด้วยความที่ข้าพเจ้าก็เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งเหมือนกัน จึงมองปัญหานี้ว่า วัยของเราเป็นวัยที่กล้าคิด กล้าลอง กล้าทำ และมีความรุนแรง ขาดความหยั่งคิด แต่ไม่ใช่ว่าจะเลวร้ายเสมอไป ซะหมด ในความรุนแรงและการทะเลาะวิวาทนั้น ก็มักเกิดจากปัญหาการเข้าใจผิด พฤติกรรมเลียนแบบ การต้องการเอาชนะกัน และยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทในกลุ่มของวัยรุ่น แต่ก็เชื่อว่า ทุกอย่างเกิดจากการปลูกฝัง การเอาใจใส่ของบุคคลภายในครอบครัวที่คอยสั่งคอยสอน ให้รู้จักคิด รู้จักผิดถูก รู้จักแยกแยะให้ออก ว่าอะไรควร และอะไรไม่ควร แต่ไม่ใช่ว่า ได้รับการสั่งสอนแล้วจะไม่มีการทะเลาะกัน  มันก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของวัยรุ่น และสถานการณ์ต่างๆ จึงทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า พฤติกรรมความรุนแรงและการทะเลาะวิวาทนี้  เกิดได้กับวัยรุ่นทุกคน ขึ้นอยู่ที่ว่า ผู้ใหญ่และวัยรุ่นจะมีความคิดความเข้าใจตรงกันมากน้อยเพียงใด
ปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่นในสังคมไทยเริ่มรุนแรงขึ้นทุกวัน ซึ่งบ้างก็มีทั้งที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และที่ไม่เป็นข่าวก็มี  ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย ทำให้สร้างความเดือดร้อนกับตัวผู้ก่อเหตุเองและผู้ปกครองของกลุ่มเด็กวัยรุ่น และสังคม ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีการหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่นนี้มาโดยตลอด เพื่อลดและป้องกันทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น ปัญหานี้ได้สร้างความเสียหายทั้งกับตัวนักศึกษาเองและชื่อเสียงของสถาบันอีกด้วย  ปัจจุบันนี้ นักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษา มีการประกาศสงครามกันผ่านหลากหลายเส้นทาง ทั้งทางอินเตอร์เน็ตในเว็บไซต์ต่างๆ โดยมีการเขียนคำท้าทาย หรือประกาศว่าจะยึดสัญลักษณ์ เช่น หัวเข็มขัด ของสถาบันฝ่ายตรงข้ามให้ได้ รวมถึงใช้ถ้อยคำที่ยั่วยุรุนแรงว่าจะ เด็ดหัวนักศึกษาสถาบันคู่อริ  ซึ่งในช่วงที่ใกล้วันสถาปนาของแต่ละสถาบัน การทำสงครามทางอินเตอร์เน็ตยิ่งรุนแรงขึ้น และน่าเป็นห่วง ซึ่งในปัจจุบันไม่เพียงแค่กลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น ยังเข้าไปถึงการทะเลาะวิวาทกันข้ามสถาบันอีกด้วย การทะเลาะวิวาท ปะทะ ต่อสู้ เพื่อ "ศักดิ์ศรีสถาบัน’’ ของตนเอง "นักศึกษาอาชีวะ" ได้กลายเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติ" ที่ยากจะแก้ไข แต่ก็จำเป็นต้องแก้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวนอกจากจะสร้างความอกสั่นขวัญผวาให้แก่สังคม และประชาชนในสังคม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว ยังสร้างความเสื่อมเสียและทำลายความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็น "เสาหลัก" ของการผลิตทรัพยากรมนุษย์อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
เมื่อถามถึงต้นแบบของความรุนแรง ที่กลุ่มวัยรุ่นมักนิยมทำตามนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพอชี้ให้เห็นได้ว่ามาจากที่ใด เรื่องราวที่กล่าวมาในบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ วัยรุ่นมักนำมาเป็นข้ออ้างในการแสดงพฤติกรรมในทางลบ เพื่อให้ตนได้ทำในสิ่งที่เห็นมาจากต้นแบบ ซึ่งล้วนเป็นต้นแบบชั้นเลว ที่สามารถพบเห็นได้อย่างแพร่หลาย เช่น การทำลายข้าวของตามภาพยนตร์ที่ตนเคยดูมา การใช้ยาเสพติดตามอย่างพระเอกในโทรทัศน์ บ้างก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่แยกทางกัน หรือการทำร้ายตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนจะเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่มาจากสื่อ เพราะสื่อในปัจจุบันมีความแพร่หลายเป็นอย่างมากทำให้การรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ทำได้ไม่ยากนัก การที่วัยรุ่นไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงกับจินตนาการได้นั้น  อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อตัววัยรุ่นเองและอาจลุกลามเป็นปัญหาของสังคมได้  เพราะหากวัยรุ่นนำจินตนาการเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตก็คงจะไม่ต้องพูดก็ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตภายหน้า  การตั้งกลุ่มก่อกวนสังคมเพื่อให้ทุกคนรู้จักเหมือนในละครโทรทัศน์   เสพยาเสพติดเพื่อให้ครอบครัวที่แตกแยกกลับมาคืนดีเหมือนเดิม  ดูจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงจนเกินไปกับการเดินตามจินตนาการเหล่านั้น  เพราะฉากจบในชีวิตจริงอาจไม่สดใส สวยงามเหมือนอย่างละคร  ปัญหาเรื่องความเครียดในวัยรุ่นจะหมดไปได้หรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับตัวของเขาเหล่านั้นเอง หาใช่จะรอให้คนอื่นเข้ามาช่วยแก้ไขหรือมัวแต่ทำร้ายตัวเองเพื่อให้คนรอบข้างสนใจ ผู้เขียนจึงอยากให้วัยรุ่นทั้งหลายนั้น  ลองมองที่ตนเองดูก่อน  ว่าความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นแท้จริงเป็นเพราะใคร  และสาเหตุมาจากอะไร ใช่ตนเองหรือเปล่าที่เป็นคนสร้างปัญหาต่างๆขึ้นมารุมเร้าตัวเอง อย่ามัวแต่คิดที่จะเฝ้าโทษแต่คนอื่นหรือสิ่งที่อยู่รอบตัว โดยที่ตนไม่คิดจะแก้ไขด้วยตนเองคงจะน่าเศร้าใจไม่น้อย
            การที่จะเข้าใจถึงธรรมชาติของวัยรุ่น ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของวัยรุ่นทั้งทางด้านร่างกาย   อารมณ์ สังคม และสติปัญญา  
                     พัฒนาการทางร่างกายของวัยรุ่น  
                    วัยรุ่นจะมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างรวดเร็ว  ความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เห็นได้ชัดเจนคือ รูปร่างหน้าตา ส่วนสูง  และมีลักษณะทางเพศขั้นที่สอง   วัยรุ่นชายมีการหลั่งอสุจิ และวัยรุ่นหญิงมีประจำเดือน และความเปลี่ยนแปลงภายใน ได้แก่   ต่อมใต้สมอง ผลิตฮอร์โมนเกี่ยวกับการเพิ่มของส่วนสูงและผลิตฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้ต่อมเพศทำงานคือรังไข่ทำหน้าที่ผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิงส่วนอัณฑะทำหน้าที่ผลิตอสุจิ และฮอร์โมนเพศชาย เป็นสาเหตุให้วัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นสิว และมีกลิ่นตัว พัฒนาการด้านร่างกายนี้มักจะทำให้วัยรุ่นมีความวิตกกังวล   บางครั้งหงุดหงิด  และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย   การช่วยเหลือวัยรุ่นจึงควรให้คำปรึกษาเพื่อให้วัยรุ่นเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทางร่างกายของตนเอง  ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของวัยรุ่น  ทำให้วัยรุ่นคลายความวิตกกังวล   และควรให้วัยรุ่นทราบแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ  ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม   
                  พัฒนาการด้านอารมณ์ของวัยรุ่น
                  การแสดงออกทางอารมณ์ของวัยรุ่น  ทำให้บางครั้งมีผู้เรียกวัยรุ่น ว่า วัยพายุบุแคม  ที่เป็นเช่นนี้เพราะวัยรุ่นมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่า  หวือหวา   ซึ่งสาเหตุที่สำคัญเป็นผลมาจากพัฒนาการด้านร่างกาย   อีกทั้งวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องปรับตัวทั้งทางด้านส่วนตัว ครอบครัว  เพื่อน  และการเรียนทำให้วัยรุ่นที่ปรับตัวไม่ได้  เกิดความเครียดทำให้อารมณ์ไม่มั่นคง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย  จนบางครั้งทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้ใหญ่   บางครั้งส่งผลต่อสุขภาพกาย   ดังนั้นถ้าวัยรุ่นบอกพ่อแม่ว่า  “ปวดหัว โดยทั่วไป   พ่อแม่เมื่อได้ยินเช่นนี้มักจะหายาแก้ปวดมาให้รับประทาน  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  และอาจจะแก้ปัญหาผิดทาง   เพราะการที่วัยรุ่นบอกว่า “ปวดหัวไม่ได้หมายความว่า  เขาจะเจ็บป่วยทางกายเสมอไป  บางครั้งการทะเลาะกับเพื่อน  การถูกครูดุ  การสอบตกหรืออื่นๆ ก็สามารถเป็นเหตุให้ปวดหัวได้เช่นกัน  สิ่งที่วัยรุ่นบอกเป็นเพียงพฤติกรรมภายนอก    ถ้าพ่อแม่ตอบสนองทันทีด้วยการหายามาให้รับประทาน  พ่อแม่ก็จะไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของวัยรุ่น   พ่อแม่จึงควรให้คำปรึกษาวัยรุ่นโดยให้วัยรุ่นได้เล่าเหตุการณ์   เพื่อระบายความรู้สึก  หรือความต้องการ ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายในของวัยรุ่นจะทำให้พ่อแม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของวัยรุ่น   และพ่อแม่ควรรับฟังด้วยความเข้าใจ  และกระตุ้นให้วัยรุ่นหาแนวทางแก้ปัญหา ที่เหมาะสม 
                   พัฒนาการทางสังคมของวัยรุ่น 
                  วัยรุ่นต้องการเป็นอิสระจากผู้ใหญ่  ต้องการการยอมรับจากเพื่อน จึงชอบทำตามกลุ่มเพื่อน  ลักษณะทางเพศขั้นที่สองจะทำให้วัยรุ่นชายและหญิงเริ่มสนใจซึ่งกันและกัน   และมีความพอใจที่จะพบปะสังสรรค์  ร่วมเล่น  เรียน  ทำงาน  พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งจะพัฒนาไปสู่คู่รักต่อไป  พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้มักจะส่งผลให้วัยรุ่นกับผู้ใหญ่ขัดแย้งกัน ตัวอย่างเช่น บันทึกของวัยรุ่นคนหนึ่งได้เขียนไว้ว่า  “ครอบครัวฉันมีสมาชิก 6 คน ฉันเป็นลูกคนที่ 2 เวลาเพื่อนมาชวนไปเที่ยว พ่อแม่ก็ไม่ยอมให้ไป กลัวว่าฉันจะเป็นอะไร  ทำให้ฉันรู้สึกอึดอัดมาก  ฉันอยากมีอิสระมากกว่านี้  อยากให้พ่อแม่เข้าใจว่า ฉันดูแลตนเองได้
การให้คำปรึกษาวัยรุ่นจึงควรให้วัยรุ่นสามารถปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับพ่อแม่   เพื่อน  และครูได้   รู้จักจัดการความขัดแย้ง   และสามารถเลือกคบเพื่อนที่ดี เพราะเพื่อนที่ดีจะช่วยทำให้วัยรุ่นได้แนวคิดและวิธีการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม 
                พัฒนาการด้านสติปัญญาของวัยรุ่น
                วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางสติปัญญาในขั้นการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงนามธรรม  ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญาขั้นสูงสุดตามทฤษฎีของ Piaget ทำให้วัยรุ่นมีความสามารถทางสมองในการคิดและแก้ปัญหาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่   เพียงแต่วัยรุ่นยังขาดประสบการณ์ ทำให้คิดและมีมุมมองเพียงด้านเดียว วัยรุ่นจึงมักจะตัดสินสิ่งต่างๆ ในลักษณะตรงกันข้าม เช่นไม่  “ถูก”   ก็ ผิดเหตุผลของการตัดสินมาจากประสบการณ์เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งตัดสิน
บนพื้นฐานของอารมณ์   เช่น  เมื่อขออนุญาตไปกับเพื่อน แล้วพ่อแม่ไม่อนุญาตก็รู้สึกน้อยใจ
คิดว่า พ่อแม่ไม่รัก  เป็นต้น  การให้คำปรึกษาวัยรุ่นในเรื่องนี้จึงควรให้วัยรุ่นได้ระบายความรู้สึก แสดงความเข้าใจ   และสะท้อนให้วัยรุ่นได้เข้าใจพฤติกรรมของพ่อแม่ในอีกมุมมองหนึ่งคือ ไม่อนุญาตเพราะรักและเป็นห่วง  และถ้าจะทำให้พ่อแม่ไม่เป็นห่วงต้องทำอย่างไร   ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการคิดของวัยรุ่นให้คิดอย่างรอบคอบ  และคิดในหลายมุมมองมากขึ้น   หรือแม้แต่การที่วัยรุ่นชื่นชอบและเลียนแบบผู้มีชื่อเสียง  ทั้งนักฟุตบอล   ดารา  นักร้อง  ฯลฯ วัยรุ่นก็
จะติดตามและพยายามทำตนให้เหมือนผู้ที่ตนชื่นชอบ  บางครั้งทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากทั้งๆ ที่วัยรุ่นยังไม่สามารถหารายได้ด้วยตนเอง   การให้คำปรึกษาวัยรุ่นจึงควรให้วัยรุ่นได้คิดและเลียนแบบบุคคลเหล่านั้นในอีกมุมมองหนึ่ง  เช่น  การที่เขาประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงเช่นนั้น    แสดงว่า เขาต้องมีความพยายามและมุ่งมั่นที่จะไปสู่ความสำเร็จ  เขาต้องอดทนฝึกซ้อม  และเสียสละความสะดวกสบายที่ได้รับ  เขาจึงมีวันนี้   ถ้าวัยรุ่นชื่นชอบเขาก็ควรจะเลียนแบบในมุมมองนี้มากกว่าเพราะเป็นสิ่งที่ดีกับตัววัยรุ่นเอง
            จากปัญหาการทะเลาะวิวาทเหล่านี้จึงไม่ใช่ แค่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่ก็อาจเป็นเพราะการขาดความรัก ความเอาใจใส่จากคนภายในครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะอบรม สั่งสอนลูกๆ เพราะบางครอบครัวนั้นต้องทำงานเพื่อแข่งกับเวลา และเพื่อหาเงินมาให้เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละเดือนของครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอน วัยรุ่นจึงหันไปพึ่งยาเสพติด เพราะหลงเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดี  ที่ทำให้ลืมความทุกข์ซึ่งตนและครอบครัวประสบอยู่และส่งผลทำให้ไม่สามารถควบคุมสติจนบางครั้งเกิดเป็นสาเหตุการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น
                        สาเหตุการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกันคือ
            1.  ความขัดแย้งที่เกิดจากการบอกเล่าจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
ความขัดแย้งนี้อาจจะเกิดจากการบอกเล่าจากรุ่นพี่หรือคนในสถาบัน/โรงเรียน ว่า เราไม่ถูกกับโรงเรียนนี้ สถาบันนี้ ( โดยไม่ระบุสาเหตุ เหตุผล ว่าเรื่องอะไร ) เวลาพบนักเรียนโรงเรียนหรือสถาบัน  ที่ไม่ถูกกันมาอยู่ในถิ่นของเรา เราก็ต้องทำร้ายเขา เพื่อประกาศตัวว่าเป็นศัตรูกัน กับการสั่งสอนในโรงเรียนที่ให้รุ่นน้องต้องเชื่อรุ่นพี่ตามระบบอาวุโส ทำให้รุ่นน้องทำตามกันมาตลอดโดยไม่ต้องการทราบคำอธิบายว่าเหตุใดจึงต้องทำเช่นนี้  จึงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสถาบันขึ้น
2.  รักสถาบันการศึกษาเกินเหตุ
เมื่อมีความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นระหว่างสถาบัน กลุ่มเยาวชน หรือ กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้จะมีการโอ้อวดผลงานของตนเองด้วยการโพสรูปภาพที่ดูเหยียดหยามสถาบันของอีกฝ่ายลงในสื่อทางอินเตอร์เน็ตของเขา  ทำให้เกิดความไม่พอใจจากอีกฝ่าย เพราะเป็นการดูหมิ่นสถาบันของตนเอง  ด้วยความรักศักดิ์ศรี  รักสถาบันของแต่ละฝ่ายจะเกิดการตอบโต้  จนกลายเป็นความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นไปอีก แต่แท้จริงแล้วการรักสถาบันด้วยวิธีการดูหมิ่นเหยียดหยามกันเป็นความคิดที่ผิดเพราะการทำร้ายกันแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำลายสถาบันมากกว่าการรักสถาบัน ควรเป็นการทำสิ่งที่สร้างสรรค์ให้กับโรงเรียน สถาบันมากกว่าการที่จะใช้วิธีดูหมิ่น ข่มกัน หรือทะเลาะวิวาทกัน
3.  ต้องการได้รับการยอมรับ
การที่นักเรียน นักศึกษา ตีกันนั้นสาเหตุอีกประการหนึ่งก็มาจากความคิดที่ว่าต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่  หากในการตีกันในแต่ละครั้งนั้น ใครที่สามารถนำสิ่งของที่แสดงให้ทราบว่าเป็นของโรงเรียนอีกฝ่ายมาได้ เช่น หัวเข็มขัด เข็มติดหน้าอก และเสื้อฝึกงาน หรือที่เรียกว่า เสื้อชอปมาได้นั้น  ก็จะกลายเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและรุ่นพี่ในโรงเรียน รวมทั้งอาจได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้ากลุ่มหากมีสิ่งของต่างๆ เป็นจำนวนมากด้วย
4.  ความคึกคะนองในวัยรุ่น
การตีกันในสายตาเยาวชนกลุ่มนี้ถูกมองว่า เป็นเรื่องที่สนุก ท้าทาย ไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา ไม่รู้ว่าสิ่งไหนที่ควรทำ สิ่งไหนที่ไม่ควรทำ  แต่ที่ทำลงไปเพราะความคึกคะนอง เมื่อมีการรวมกลุ่มกันจึงเกิดเป็นความทะนงตนว่าตนเองนั้นเก่ง ทั้งที่เป็นความคิดที่ผิด เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเยาวชนวัยรุ่นมักมีอารมณ์แปรปรวน  แต่ความคะนองนี้เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น  ทั้งสังคม และครอบครัว เป็นการเดินทางที่ผิด
5.  การดูแล  เอาใจใส่ไม่ทั่วถึง
การดูแล  เอาใจใส่ของผู้ปกครอง ครอบครัว และคณาจารย์นั้น  มีผลต่อจำนวนการยกพวกตีกันของเด็กนักเรียน นักศึกษา เหล่านี้ด้วย การที่ไม่มีฝ่ายใดเข้ามาดูแลอย่างจริงจังหรือไม่มีการห้ามปราม การสั่งสอนเด็ก การลงโทษที่ไม่เด็ดขาด  ทำให้เด็กเกิดความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี สิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี กลับคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เสียหายอะไรมากนัก จึงอยากทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจของตน  โดยไม่คำนึงผลที่จะตามมาทีหลัง
                        แนวทางการป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น
ปัญหาการทะเลาะวิวาทของเยาวชน หรือกลุ่มวัยรุ่นนั้น จริงๆ แล้ว เราควรมองจากสาเหตุเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของปัญหา คือเริ่มจากพ่อแม่ คนในครอบครัว ครู อาจารย์ ที่ต้องดูแลลูก/นักเรียน ของตนอย่างทั่วถึง การให้การอบรมสั่งสอนเยาวชน  กลุ่มวัยรุ่น ว่าการตีกันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา  จึงควรมีการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อเป็นการระบายพลังงานที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือของวัยรุ่น เพื่อจะได้ไม่หาทางระบายออกในทางที่ผิด เช่น การจัดการแข่งขันกีฬา เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างของเยาวชนให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งกีฬายังทำให้เด็กรู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักการให้อภัย เป็นการสร้างความสนุกสนานน่าตื่นเต้น  ดีกว่าการไปยกพวกตีกัน หรือการทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกัน การรับประทานอาหารร่วมกันภายในครอบคัว  ซึ่งจะทำให้มีการพูดคุยกันในระหว่างครอบครัว เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี
ในขณะเดียวกัน นักเรียน นักศึกษาในโรงเรียนเหล่านี้ต้องกล้าที่จะปฏิเสธการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ด้วย ต้องกล้าที่จะมีความคิดของตนเอง  ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร ทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากต้องถูกบังคับให้กระทำควรปฏิเสธ หรือแจ้งอาจารย์ให้ทราบเพื่อที่จะได้หาทางระงับเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
            1.  แนวทางการป้องกันและการแก้ไขปัญหาในระดับครอบครัว
            พ่อ แม่ ควรได้รับการอบรมแนวทางที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูลูก และวิธีการสอนเชิงสร้างสรรค์ความคิด ควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก หากโรงเรียนใดเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนขึ้น ทางโรงเรียนควรเชิญพ่อแม่ ผู้ปกครอง มารับรู้พฤติกรรมของลูกของตนด้วยและควรจัดอบรมวิธีการเลี้ยงดูเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว
            2.  การใช้หลักศาสนามาช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา
            ควรมีหลักสูตรศาสนากำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการและมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาเป็นอัตราบรรจุในแต่ละโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่สอนศาสนาให้กับนักเรียนนักศึกษา ควรมีหนังสือธรรมะที่ง่ายต่อการอ่านและความเข้าใจ ความสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น นิทานธรรมะสำหรับเด็ก หนังสือมงคลชีวิต เป็นต้น
            3.  แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียน
                        1)   ด้านหลักสูตร
          ควรมีการบูรณาการเรื่องศีลธรรมลงไปในทุกวิชา เพื่อจะได้เป็นการสอดแทรกธรรมะเข้าไปในจิตใจของนักเรียนตลอดเวลา และก่อนเรียนหนังสือทุกวิชาต้องให้นักเรียนนั่งสมาธิก่อน 5 นาที เพื่อปรับใจของนักเรียนให้พร้อมที่จะรับรู้สิ่งที่จะได้เรียนต่อไป เน้นสอนเด็กให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
                        2)   ด้านมาตรการป้องกันภายในโรงเรียน
          ตรวจค้นอาวุธนักเรียนนักศึกษาทุกวัน โดยมอบหมายให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย ครูต้องเข้มงวดมากขึ้น ในการสอน อบรม ทำโทษเด็ก หลังการถูกจับ ครูต้องทำโทษ เช่น ทำทัณฑ์บน โรงเรียนต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น หรือลงโทษด้วยการให้บำเพ็ญประโยชน์ภายในเวลาที่กำหนด แทนการลงโทษทางอาญา โดยทำเหมือนกันทุกโรงเรียน
                        3) โรงเรียนควรมีการประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ดังนี้
          ให้สถาบันการศึกษาส่งรายละเอียดกิจกรรมสำคัญของสถาบันที่จะดำเนินการ ให้กับตำรวจล่วงหน้า 2 อาทิตย์ เพื่อให้ตำรวจได้สืบสวนหาข่าวและวางแผนการป้องกันการก่อเหตุทะเลาะวิวาท    ประสานงานกับโรงเรียนอื่น ๆ โดยจัดทำทะเบียนประวัตินักเรียนนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และแจกจ่ายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ นำกลุ่มเสี่ยงของแต่ละโรงเรียนมาพบปะและสัมมนากัน
                        4) ด้านตัวของนักศึกษา
           ให้มีกลุ่มเครือข่ายคนดี หรือกลุ่มเครือข่ายวัยรุ่นคุณธรรม หรือกลุ่มนักเรียนต้นแบบในโรงเรียนคอยสอดส่องและส่งข่าวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ภายในโรงเรียน สร้างสังคมให้ยอมรับ ส่งเสริม สนับสนุนคนทำความดี
                        5) ด้านการจัดกิจกรรมและบำเพ็ญประโยชน์
          จัดให้มีกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา เป็นกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาจิตใจด้านศีลธรรม ผ่อนคลาย ระบายความเครียดจากการเรียน ได้ปลดปล่อยเรี่ยวแรงกำลังออกมาอย่างสร้างสรรค์ เช่น การสอบตอบปัญหาธรรมะชิงทุนการศึกษา การพัฒนาวัดที่อยู่ใกล้เคียง หรือโรงเรียนของตน การแข่งกีฬาสี เป็นต้น
            4.  แนวทางในการฝึกอบรมระเบียบวินัย
            จัดโครงการอบรมเยาวชนกลุ่มที่มีปัญหาเป็นพิเศษ โดยเข้าฝึกวิชาทหาร 1 ปี หรือ บวช 1 ปี โดยอนุญาตให้พักการศึกษาได้ จัดกิจกรรมการฝึกวินัยช่วงเปิดเทอมในภาคเรียนที่ 1 ให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย หรือ ปวช. ทุกวัน ๆ ละ 1 ชั่วโมง โดยให้ทหารมาเป็นครูฝึก นักเรียนตั้งแต่ระดับ ม. 4 หรือ ปวช. 1 ทุกคนต้องผ่านการศึกษาวิชาทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น
            5.  มาตรการที่สังคมควรช่วยป้องกันและแก้ไข
            ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่รากหญ้า คือ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ที่จะต้องมีการจัดระบบการดูแลเด็กให้สอดรับกัน สังคมต้องยอมรับส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ สถาบันการศึกษาที่ผลิตเด็กนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในระเบียบวินัย ให้เข้าทำงานตามที่ต่าง ๆ ต้องแก้ปัญหาเรื่องเพศให้ลดลง เพราะเรื่องนี้มักเป็นต้นเหตุของเรื่องร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย
            การลงข่าวของสื่อมวลชนควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ไม่ควรลงข่าวจนทำให้เด็กนักเรียนเกิดความคิดคึกคะนอง อยากดัง จากการเป็นข่าวใหญ่ในสังคม เช่น การลงข่าวการทะเลาะวิวาทกันในข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ไม่ควรลงข่าวโดยระบุชื่อสถาบันการศึกษาอย่างชัดเจนเพราะจะเป็นการยั่วยุให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ควบคุมคุณภาพการผลิตสื่อมวลชนทุกชนิดทุกประเภท มีสายตรงแจ้งเบาะแสเมื่อมีการเริ่มก่อตัวก่อเหตุทะเลาะวิวาทของเยาวชน
            6.  มาตรการการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทเชิงนโยบาย
            สรุปมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทและการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษาเชิงนโยบายต่อรัฐ ดังนี้
            1.  มาตรการด้านกฎหมาย จากการศึกษาพบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันมิให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทและการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา ควรพิจารณาเสนอกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลดังนี้
                        1)   กฎหมายด้านการจำหน่ายและการพกพาอาวุธ ควรมีกฎหมายควบคุมประเภทของอาวุธที่จำหน่ายได้และการตรวจตราใบอนุญาตอย่างจริงจัง ควรเพิ่มโทษของการพกพาอาวุธให้หนักยิ่งขึ้น เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาเกรงกลัวต่อความผิด
                        2)   กฎหมายด้านการห้ามนักเรียนนักศึกษาดื่มหรือจัดหาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น เมื่อเด็กนักเรียนนักศึกษาเสพย์เข้าไปแล้วทำให้เกิดความกล้า ขาดสติยั้งคิดและสามารถก่อเหตุร้ายได้ตลอดเวลา
                        3)   กฎหมายลงโทษผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย มิได้กำกับดูแลพฤติกรรมของเด็กนักเรียนนักศึกษา ทำให้เกิดปัญหาขาดความอบอุ่นในครอบครัว แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่น การเสพย์ยาเสพติด การมีความก้าวร้าวรุนแรง เป็นต้น
            2.  มาตรการด้านองค์กรตำรวจ ควรให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนนักศึกษา อย่างรวดเร็ว เป็นที่พึ่งให้กับเด็กนักเรียนนักศึกษาได้ ควรมีศูนย์กลางการรับเรื่องราว ซึ่งอาจเป็นกองสารวัตรนักเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานย่อยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง อาทิ กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน
            3. มาตรการด้านงานสารวัตรนักเรียน และเครือข่ายสารวัตรนักเรียน ต้องมีบทบาทที่เข้มข้นในการให้ความคุ้มครองป้องกัน และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่นักเรียนนักศึกษา รวมทั้งการจัดให้มีศูนย์ฝึกปฏิบัติเพื่อการอบรมและให้การศึกษาด้านคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งการอบรมให้นักเรียนนักศึกษาเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมประชาธิปไตยและการมีจิตสาธารณะ
            4.  รัฐควรเร่งรัดออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กโดยด่วน เพื่อเป็นหลักประกันการปกป้องคุ้มครองเด็กต่อไป
                        ผลกระทบของการทะเลาะวิวาทในกลุ่มวัยรุ่นต่อสังคม
การทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่สะท้อนสภาพการณ์ให้เห็นว่าสภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ความคิด ความเชื่อและค่านิยมของเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพสังคม แบบไทยๆที่มีต้นแบบของผู้ใหญ่ ซึ่งมีลักษณะของการเอื้ออาทร มีความเมตตากรุณาต่อกันแต่มาถึงปัจจุบัน ต้นแบบของสังคมที่ดี โดยผู้ใหญ่บางคนประพฤติ ปฎิบัติตนไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการแสดงออกซึ่งความรุนแรงหรือตัวอย่างที่เยาวชนได้รับจากสื่อต่างๆ เช่นโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เกม ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เยาวชนบางกลุ่ม เอาอย่างจนส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงในสังคมและการทะเลาะวิวาทมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเมื่อผู้ใหญ่มองว่า วัยรุ่นไทยกำลังหาทางออกต่อปัญหาโดยใช้ความรุนแรงแล้ว ลองมองย้อนกลับไปหาบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายว่า แท้จริงแล้วตัวเองนั้นเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่เลือกใช้ความรุนแรงมากกว่าใช้สันติวิธีหรือไม่ การแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นนั้นคงเป็น
เรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุนั้นเป็นเรื่องยากที่ปัญหาจะจบสิ้น ทุกคนต้องมีความนึกคิดที่จะไม่ใช้ความรุนแรงทั้งการกระทำและคำพูดการแก้ไขปัญหาทุกอย่างควรเริ่มจากการสนทนา พูดคุยกัน เพราะหากมัวนิ่งเฉยคงไม่มีทางแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงที่รุมเร้าประเทศไทยในปัจจุบันได้ ,สังคมจึงต้องอบรมวัฒนธรรมหรือแนะนำสมาชิกใหม่ให้รู้จักกฎเกณฑ์กำหนดพฤติกรรมทางสังคม เพื่อให้สมาชิกได้รู้บทบาทและหน้าที่ของตนในสังคมและอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข แต่ในปัจจุบันที่เราเห็นมีแบบอย่างที่ไม่ดีให้วัยรุ่นเห็นโดยเฉพาะเรื่องการใช้ความรุนแรง นำไปสู่การยกพวกทะเลาะวิวาทของวัยรุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมคือ
1. เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสีย ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาให้กับตัวเองแล้ว ยังทำให้สถาบันการศึกษาเสื่อมเสียชื่อเสียง และที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นปัญหาให้กับสังคมและคนรอบข้าง เพราะนอกจากนักเรียนโรงเรียนคู่อริจะได้รับบาดเจ็บแล้ว คนส่วนหนึ่งที่ต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วยคือ คนที่โดนลูกหลงนั่นเอง ซึ่งเราก็มักจะเห็นในข่าวอยู่เสมอว่า คนที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยมักจะได้รับบาดเจ็บ บางรายถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลนอนให้น้ำเกลือเป็นเดือนๆบางรายถึงกับต้องเสียชีวิตไปเปล่าๆจากการทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้แล
2. นักเรียนหรือนักศึกษาที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นกลุ่มที่มีมโนภาพแห่งตนต่ำกว่านักเรียนอาชีวะทั่วไป คือ มองภาพพจน์ตัวเองต่ำ รู้สึกมีปมด้อย ขาดการยอมรับจากสังคม และมีความวิตกกังวล และกลุ่มเพื่อนที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาพฤติกรรมก้าวร้าว และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าว กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
3. ก่อให้เกิดอาชญากรรมของเด็กวัยรุ่นที่กระทำต่อแท็กซี่และคนทั่วไปที่ไม่ได้รู้เรื่อง เช่น เด็กจี้แท็กซี่เพราะต้องการเอาเงินไปเที่ยวกลางคืน การตี ฆ่า ข่มขืน เด็กแว้น (เด็กกวนเมือง) ที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของสังคมไทย หรือ เด็กผู้หญิงตบตีกันแล้วถ่านคลิปเอาไว้ โชว์พาวข่มขู่เด็กอื่นๆ
4. เป็นเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนและใหญ่โตระดับโครงสร้างทางสังคม ซึ่งไม่สามารถแก้ไขแต่เพียงตัวปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่มองเห็นเท่านั้น เหตุปัจจัยที่ว่านี้ได้แก่ ปัญหาด้านชีววิทยา / จิตวิทยาวัยรุ่น ปัญหาการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ระบบการศึกษา อิทธิพลจากสื่อและโฆษณา ปัญหาบริโภคนิยม
5.  เมื่อเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท สถาบันเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการที่เป็นกลไกทางสังคมสั่งสมจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา นอกจากนั้นการให้ความหมายหรือตีความโดยเฉพาะการให้ความหมายและการตีความต่อโลกและสังคมของการก่อเหตุทะเลาะวิวาท จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นเมื่อดำเนินวิถีชีวิตอยู่ในสังคมวัยรุ่น
            ผู้เขียนเชื่อว่าความรุนแรงและการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่นในสังคมนี้ จะค่อยๆลดลงไปได้ เมื่อวัยรุ่นเหล่านั้นได้คิด ได้เรียนรู้ เวลาจะทำให้ได้รับประสบการณ์และบทเรียนที่ดี และเลวร้าย ได้นำกับไปคิดว่าสิ่งที่เคยทำมานั้นดีหรือไม่ดี ความรุนแรงและ การทะเลาะวิวาทนี้ มันเกิดได้กับทุกคนในช่วงวัยรุ่น การช่วยเหลือวัยรุ่นบางครั้งวัยรุ่นไม่ต้องการอะไรมาก  นอกจากต้องการมีคนรับฟังเขาเท่านั้น  ดังนั้นเพียงแต่ผู้ใกล้ชิดวัยรุ่นรับฟังสิ่งที่วัยรุ่นได้ระบายอารมณ์  ก็สามารถช่วยเหลือวัยรุ่นได้เช่นกัน    ผู้เขียนจึงเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่  ครู หรือเพื่อนของวัยรุ่นพอจะได้แนวทางในการให้คำปรึกษา และการให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นเบื้องต้นได้  
            วัยรุ่นเป็นวัยของการแสวงหาเอกลักษณ์   การให้คำปรึกษาจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้วัยรุ่นสามารถมองตนและเห็นตนเองตามความเป็นจริง   หรือใช้ปัญญา   ไม่ใช้อารมณ์เพียงอย่างเดียว เพราะจะเห็นตนเองเฉพาะที่ตนอยากเป็น  วัยรุ่นก็จะค้นพบเอกลักษณ์ของตน ทำให้วัยรุ่นมีความเชื่อมั่นในตนเอง  และการรู้จักตนเองตามความเป็นจริงจะเป็นแนวทางสู่การพัฒนาตนเองต่อไป     การให้คำปรึกษาจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรนำมาใช้   เพื่อประคับประคอง และช่วยเหลือให้วัยรุ่นสามารถดำเนินชีวิตในวัยนี้ให้สมกับเป็นวัยที่สดใส   วัยแห่งการเรียนรู้ และวัยแห่งความหวังของสังคม   ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป  มิใช่เป็นวัยที่มีปัญหาอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจอีกต่อไป     เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายคนก็เคยผ่านชีวิตช่วงนี้มาเหมือนกัน จึงอยากให้เข้าใจ ถึงความรู้สึกของวัยรุ่นถึงแม้จะก้าวร้าว แต่ถ้าคนในครอบครัวเข้าใจและใส่ใจกับเขา เชื่อได้ว่า วันหนึ่ง วัยรุ่นที่ชอบทะเลาะวิวาทนี้จะต้องคิดได้เละกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างแน่นอน




แหล่งอ้างอิง
หนังสือ ความรุนแรงในวัยรุ่นไทย:รายงานการทบทวนองค์ความรู้ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย/ อุมาพร ตรังคสมบัติ
ปัญหาวัยรุ่นตีกัน. (ออนไลน์).
            แหล่งที่มา :  http://alwchichi.blogspot.com/2010/11/blog-post.html
            แหล่งที่มา :  http://www.oknation.net/blog/chirawat2t/2011/02/27/entry-1
เหตุแห่งความรุนแรงในวัยรุ่น. (ออนไลน์).
            แหล่งที่มา : http://news.sanook.com/education/education_211962.php         
8 เหตุผลที่เด็กไทยยังต้องยกพวกตีกันต่อไป. (ออนไลน์).



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น