วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาเมาแล้วขับ นางสาวชไมพร ทนมปี 53241813


รายงานวิชา 830329 ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา
บทความทางวิชาการ เรื่อง ปัญหาเมาแล้วขับ

นางสาวชไมพร ทนมปี 53241813
คณะสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม

ปัจจุบันอุบัติเหตุทางจราจรมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์โดยข้อมูลสถิติศูนย์ข้อมูลสถิติแห่งประเทศไทย พบว่า ช่วงเทศกาลจะมีจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิติต่อวันเพิ่มสูงขึ้นกว่าเวลานอกเทศกาลเป็น 2 เท่าโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อุบัติเหตุช่วงเวลาดังกล่าวสูงสูงขึ้น พบว่า สัดส่วนผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์มีอาการมึนเมาสูงกว่าช่วงเวลาปกติถึง 40% ซึ่งอันดับหนึ่ง คือ มอเตอร์ไซด์ และรถที่มีแนวโน้มในการเกิดอุบติเหตุในช่วงเทศกาลที่สูงขึ้น คือ รถกระบะ โดยอุบัติเหตุที่เกิดจากการเสียหลักหรือการพลิกคว่ำแบบไม่มีคู่กรณี และมากกว่าครึ่งของจำนวนนั้น เกิดจากการที่ผู้ขับขี่มึนเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในความหมายของคำว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ได้แก่ สุรา และเมรัย แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ที่กินเหล้าในปริมาณไม่มาก จะรู้สึกผ่อนคลาย เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเองอยู่ แต่เมื่อกินมากขึ้นก็จะกดสมองบริเวณอื่นๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด จนแม้กระทั่งหมดสติในที่สุด   นอกจากนี้มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้ให้ความหมายที่ละเอียดไว้ว่า เป็นสารธรรมชาติที่ได้มาจากกระบวนการหมักน้ำตาล(เช่น จากข้าว องุ่น ข้าวโพด) กับยีสต์เกิดเป็นสารที่เรียกว่า เอทานอล ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในเครื่องดื่มประเภทสุรา แต่การที่จะดื่มเอทานอลที่บริสุทธิ์เพียงอย่าเดียวนั้นไม่สามารถดื่มได้ เพราะรสชาติแรงบาดคอ จึงต้องมีส่วนผสมเพื่อให้รสชาติดีขึ้น  เราเรียกส่วนผสมนั้นว่า คอนจีเนอร์ ตามหลักสากลทั่วไป คำว่า 1 Drink นั้นหมายถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 12 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเบียร์ขนาด 12 ออนซ์ 1 กระป๋อง หรือวิสกี้ 80 ดีกรี 1 ออนซ์  คำว่า ดีกรี หมายถึง ความเข้มข้น เช่น เหล้า 100 ดีกรี หมายถึง เหล้าที่มีแอลกอฮอล์ 100 ส่วน ผสมน้ำ 100 ส่วน เหล้า 80 ดีกรี หมายถึงผสมน้ำ 100 ส่วนแอลกอฮอล์ที่คนที่บริโภคเข้าไปนั้นประมารร้อยละ 90  จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วโดยลำไส้เล็กส่วนต้น และภายในเวลา 30 – 90 นาที ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะสูงขึ้น แอลกอฮอล์จะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นจะเกิดภาวะมึนเมา ซึ่งเป็นผลจากการที่แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมีผลต่อการทำงานของสมอง อาการของผู้ดื่มจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณของแอลกอฮอล์ที่บริโภคเข้าไป ภาวะร่างกายของแต่ละคนที่ตอบสนองต่อแอลกอฮอล์แตกต่างกัน บางคนต้องใช้แอลกอฮอล์ปริมาณมากจึงจะเกิดอาการขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่เป็นตัวกำหนดการตอบสนองของสมองที่มีระดับแอลกอฮอล์ รวมถึงภาวะของอารมณ์และสิ่งแวดล้อในขณะดื่มด้วย
จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจรจรทางบก ในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ช่วง 7 วันอันตรายนับตั้งแต่ปี พ.. 2549 –2555 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธรณภัย พบว่า มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงปีใหม่จะมากกว่าสงกรานต์ ซึ่งอาจเป็นเพราะวันขึ้นปีใหม่เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวด้วย จึงทำให้คนนิยมเดินทางท่องเที่ยวกันมากที่สุด

นอกจากนี้ทางสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ได้ให้ข้อเท็จจริงจากการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศสงกรานต์ที่ผ่านมาพบว่า การเมาสุรา ยังคงครองแชมป์เป็นมัจจุราชที่คร่าชีวิตผู้คนบนท้องถนนมาเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 39.21) รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด (ร้อยละ 21.57) ตัดหน้ากระชั้นชิด (ร้อยละ 15.12) มอเตอร์ไซด์ไม่ปลอดภัย (ร้อยละ 14.96) ทัศนะวิสัยไม่ดี (ร้อยละ 8.28) และหลับใน (ร้อยละ 2.65) 

ในประเทศไทยได้กำหนดโทษเกี่ยวกับผู้ที่ก่อปัญหาลงในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ.2522ที่วางมาตราการเอาผิดแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมาไว้ดังนี้ 

                    1.  มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ (1) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ (2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น(3) ในลักษณะกีดขวางการจราจร(4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน (5) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดาหรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลังด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย (6) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถหรือกลับรถ (7) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ (8) โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
                   2. มาตรา 43 ตรี บัญญัติว่า ในกรณีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นหยุดรถและสั่งให้มีการทดสอบตามมาตรา 142 ด้วย
           3. มาตรา 43 จัตวา ในกรณีที่ผู้ตรวจการพบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) หรือมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ให้ผู้ตรวจการส่งตัวผู้นั้นพร้อมพยานหลักฐานในเบื้องต้นแก่พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจโดยเร็ว แต่ไม่ต้องเกินหกชั่วโมงนับแต่เวลาที่พบการกระทำความผิดดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีต่อไป                   
        4. มาตรา 142 เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ (1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 (2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืน มาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจรพนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมให้ทดสอบแล้ว หากผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืน มาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดในกฎกระทรวง ("มาตรา 142" แก้ไขโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก ( ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2535 และหลังสุดมาตรา 142 วรรคสาม" แก้ไขโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก ( ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2542 มาตรา 6
                   สำหรับหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้นกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๖ ( พ.ศ. ๒๕๓๗ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
                   ข้อ ๑  การทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ ให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่โดยใช้วิธีการตามลำดับ ดังต่อไปนี้
                     (๑) ตรวจวัดลมหายใจด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจหรือทดสอบให้ใช้เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวิธีเป่าลมหายใจ (BREATH ANALYZER TEST) และอ่านค่าของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
  วิธีการตรวจหรือทดสอบ ให้ปฏิบัติตามวิธีการตรวจสอบของเครื่องตรวจแต่ละชนิด
                    (๒) ตรวจวัดจากปัสสาวะ
                    (๓) ตรวจวัดจากเลือด
                    การตรวจวัดตาม (๒) หรือ (๓) ให้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบตาม (๑)ได้เท่านั้น
                    ข้อ ๒  กรณีที่ต้องทดสอบโดยวิธีตรวจวัดจากเลือดตามข้อ ๑  (๓)   ให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยัง
โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และทำการเจาะเลือดภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม
                    ข้อ ๓  ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเมาสุรา
                    (๑) กรณีตรวจวัดจากเลือด เกิน ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
                    (๒) กรณีตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะ ให้เทียบปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐานดังนี้
                           (ก) กรณีตรวจวัดจากลมหายใจให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ ๒,๐๐๐
                           (ข) กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ ๑
ส่วน ๑.๓
5. มาตรา มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าสองปีหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
          นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเมาแล้วขับของต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กล่าวว่า  กฎหมายเมาแล้วขับ ตามมาตรา 65 ของ พ... การจราจร ของญี่ปุ่น ถูกยกร่างขึ้นใหม่ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน คศ.2007 เป็นต้นมา สรุปสาระสำคัญ คือ    วรรคหนึ่ง    ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย      วรรคสอง   ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง     วรรคสาม    ห้ามให้สุรา หรือสนับสนุนการดื่มสุรา แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง              วรรคสี่    ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเอง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำผิดตามวรรคหนึ่งด้วย     บทลงโทษกล่าวว่า ผู้ขับขี่เมาแล้วขับ พิจารณาตามสภาพ ว่าไม่อยู่ในอาการที่จะควบคุมการขับขี่ได้ตามปกติ เช่น เดินเซ ตาปรือ หน้าแดงก่ำ ฯลฯ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (3.6 แสนบาท) หักคะแนน 35 แต้ม และเพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี  หากก่ออุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีความผิดในโทษฐานขับขี่อันตรายอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าการขับขี่โดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 7 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่า การเมาแล้วขับและทำให้มีผู้เสียชีวิต มีโทษรุนแรง รองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว มีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่า 0.15 mg ต่อลมหายใจ 1 ลิตร โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 บาท) หักคะแนน 13-25 แต้ม และยึดใบขับขี่ตั้งแต่ 90 วัน ไปจนถึงเพิกถอนใบขับขี่ 2 ปี ผู้ให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ มีโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากับผู้ขับขี่  ผู้จำหน่ายสุรา ผู้สนับสนุนให้ดื่ม หรือผู้ร่วมโดยสารมาด้วย กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 เยน) กรณีผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (108,000 เยน)
ในประเทศจีนก็มีกฎหมายลงโทษคนเมาแล้วขับ โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า เมาแล้วขับ ไม่ว่าหนักหรือเบา จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม ล้วนถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายโทษฐานขับรถยนต์อย่างอันตราย จะลงโทษด้วยการกักตัวและปรับเงิน นอกจากนี้ จะเพิ่มการลงโทษด้วยการยึดใบขับขี่ชั่วคราวเป็นการยึดใบขับขี่ และยังกำหนดด้วยว่า ห้ามสอบใบขับขี่ใหม่ภายใน 5 ปี สำหรับผู้ที่เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง นอกจากจะลงโทษตามกฎหมายแล้ว ยังจะถูกห้ามขับรถตลอดชีพด้วย 
นอกจากมีกฎหมายเกี่ยวกับเมาแล้วขับที่ตราลงใน พ..บ ซึ่งที่ทราบกันทั่วไปแล้ว ก็ยังมีผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งเราสามารถรับทราบจากสื่อต่างๆเช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต  ฯลฯ จะรายงานข่าวให้เราทราบ เช่น จับ "กิ๊ฟซ่า เกิร์ลลี่ เบอร์รี่" เมาแล้วขับ  จากหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันอังคารที่ 11 กันยายน 2555 รายงานว่า  เมื่อเวลา 01.45 น.วันนี้(11 ก.ย.) ขณะที่ ร.ต.อ.สัมฤทธิ์ นิธิธนาภักดี รอง สว.จร.งานสายตรวจ 2 กก.1 บก.จร. พร้อมกำลัง 8 นาย ตั้งด่านตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอลล์อยู่บริเวณปากซอยพัฒนาการ 37 แขวงและเขตสวนหลวง ก็พบรถเก๋งยี่ห้อฮอนด้า ฟรีส สีดำ หมายเลขทะเบียน ฆก-2733 กทม.ขับผ่านเข้ามาที่ด่าน โดยมีหญิงเป็นคนขับ และมีชายนั่งอยู่เบาะข้างคนขับ เจ้าหน้าที่จึงเรียกให้หยุดเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอลล์ ก็พบว่าผู้ขับขี่รถคันดังกล่าวคือ น.ส.ปิยา พงศ์กุลภา อายุ 28 ปี หรือ "กิ๊ฟซ่า  เกิร์ลลี่ เบอร์รี่" นักร้องสาวชื่อดัง วงเกิร์ลลี่ เบอร์รี่ อยู่บ้านเลขที่ 111/50 ถนนนครสวรรค์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  
หลังจากนักร้องสาวคนดังพยายามบ่ายเบี่ยงไปมา และเข้าไปคุยกับกลุ่มเพื่อนอยู่หลายรอบ จนกระทั่งเวลา 03.35 น. กิ๊ฟซ่า ก็เป่าเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์แต่โดยดี ซึ่งผลปรากฏว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 82 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาขับขี่รถขณะมึนเมาสรุา ก่อนควบคุมตัวส่ง พ.ต.ท.สง่า ปัญญา พนักงานสอบสวน (สบ 2) สน.คลองตัน ดำเนินคดี โดยกลุ่มเพื่อนของกิ๊ฟซ่า ได้นำหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 20,000 บาท ยื่นประกันตัวออกไปในเวลา 05.15 น. โดย พ.ต.ท.สง่า ได้นัดให้กิ๊ฟซ่า มาพบพนักงานสอบสวนที่ สน.คลองตัน อีกครั้งในเวลา 08.30 น.วันพุธที่ 12 ก.ย. เพื่อส่งฟ้องศาลจังหวัดพระโขนง พร้อมกับผู้ต้องหาคดีเมาแล้วขับที่ถูกจับในด่านเดียวกันอีก 2 รายต่อไป  ด้าน ร.ต.อ.สัมฤทธิ์ กล่าวว่า เมื่อผู้ต้องหาขับรถมาถึงด่านในตอนแรกนั้นก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ก่อนที่เพื่อนชายที่นั่งมาด้วยจะนั่งรถแท็กซี่ออกจากด่านไป แล้วโดยสารรถกระบะนิสสันเอ็นวีย้อนกลับมาที่ด่าน พร้อมทั้งพยายามจะดึงตัวผู้ต้องหาขึ้นรถกระบะนิสสันเอ็นวีไป แต่เจ้าหน้าที่ในด่านก็เข้าไปขวางไว้ ส่วนเรื่องที่มีคนอ้างว่าเป็นนายตำรวจระดับสูงโทรศัพท์มาขอนั้น ก็มักจะเจออยู่ตลอดเวลาที่ผู้ต้องหาเมาแล้วขับจะพยายามจะอ้างว่ารู้จักคนโน้นคนนี้ แต่ตนก็ไม่ได้สนใจอะไร ต้องให้เป่าไปตามกฎหมาย
“อุ๋ย นนทรีย์ เมาแล้วขับ ซิ่งเบนซ์ชนแท็กซี่พังยับ” จากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552  รายงานว่า  เมื่อเวลา 03.00 น.ที่ผ่านมา ( 11 เม.ย.) พ.ต.ท.ปรีชา เอี่ยมพ่อค้า พงส.(สบ. 3) สน.บางเขน รับแจ้งมีอุบัติเหตุรถชนกันที่จุดกลับรถหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ จึงรุดไปตรวจสอบ พบรถเก๋งเบนซ์รุ่น ซี แอล เค สปอร์ต สีดำทะเบีย วข 7188 กทม. สภาพกันชนหน้าด้านซ้ายพัง มีนายนนทรีย์ นิมิบุตร หรือ อุ๋ย อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 75/5 ม. 8 ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ นักเขียนบทภาพยนตร์ และผู้พากษ์หนังชื่อดัง อยู่ในสภาพเมามาย ส่วนคู่กรณีเป็นรถแท็กซี่ ยี่ห้อ โตโยต้า สีเขียว-เหลือง ทะเบียน มจ 5169 กรุงเทพฯ สภาพกันชนหลังด้านขวาพัง มีนายบุญเรือง คำภาพัน  อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 462/2 ซอยรามคำแหง 170 แยก 8 ถนนรามคำแหง แขวงและเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เป็นคนขับ
จากการสอบสวนนายบุญเรือง คำภาพัน ทราบว่า ขับรถไปส่งเพื่อนที่ย่านสะพานใหม่ กำลังจะขับกลับที่พักย่านมีนบุรี ใช้เส้นทางพหลโยธินขาเข้าผ่านอนุสาวรีย์บางเขน ช่วงที่ผ่านหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มีรถเก๋งเบ็นซ์ของผู้กำกับชื่อดัง ยูเทิร์น ตนจึงหักเบี่ยงออกซ้าย แล้วถูกชนด้านท้ายเสียหลักรถหมุน เมื่อลงมาพบว่าผู้กำกับหนังมีอาการมึนเมา จึงแจ้งตำรวจ ด้านผู้กำกับเงินล้านเผยสั้นๆ ว่า กลับจากงานเลี้ยงฉลองปิดกล้องและฉลองยอดฉายหนังเรื่องก้านกล้วย 2 กำลังจะกลับที่พัก และไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียดอื่นๆ จากนั้นตำรวจให้เป่าหาแอลกอฮอล์ ได้ 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงแจ้งข้อหาขับรถประมาท


“ทายาท'กระทิงแดง'ซิ่งเก๋งสปอร์ตหรูชนตร.ดับ” จากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2555 รายงานว่า วันที่ 3 ก.ย.55  เวลา 05.40 น.  พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี พงส.(สบ3) สน.ทองหล่อ รับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกรถชนเสียชีวิตระหว่างซอยสุขุมวิท47และ49 ถนนสุขุมวิทขาออก แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

          ที่เกิดเหตุเป็นถนน3 เลน ที่เลนขวาสุดพบศพ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 800/1ซอยสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา สภาพนอนหงายที่พื้นมีกองเลือดเป็นจำนวนมาก สวมเครื่องแบบตำรวจ ที่น่องข้างซ้ายฉีกขาดจนถึงกระดูก และปืนประจำกายลูกโม่ขนาด.357 ของ ด.ต.วิเชียรหายไป ใกล้ศพยังพบป้ายทะเบียนรถจยย.ตราโล่ 51511 ตกอยู่ และที่หน้าปากซอยสุขุมวิท49ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุไปประมาณ 200 เมตร ยังพบรถจยย.ยี่ห้อไทเกอร์ สีเลือดหมู ของ ด.ต.วิเชียรล้มคว่ำอยู่ด้วย
          สอบสวนผู้เห็นเหตุการณ์ ให้การว่า เห็นรถเก๋งคล้ายรถสปอร์ต สีดำ จำหมายเลขทะเบียนไม่ได้ ขับชนรถของ ด.ต.วิเชียรตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 47 รถล้มลงไปเกี่ยวอยู่ที่ใต้ท้องรถ แล้วรถเก๋งก็ขับลากทั้งคนทั้งรถไปกับพื้น จากนั้นรถคันดังกล่าวก็พยายามขับสะบัดไปมาจนทั้งรถและ ด.ต.วิเชียรกระเด็นหลุดไปคนละทิศละทาง แล้วรถคันดังกล่าวก็ขับหนีเข้าไปในซอยสุขุมวิท53 เจ้าหน้าที่จึงไปตรวจสอบก็พบว่าที่พื้นถนนมีคราบน้ำมันเครื่องไหลเป็นทางยาวตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท53 จนเข้าไปในหน้าบ้านเลขที่ 9 โดยบ้านดังกล่าวเป็นตึกสูงประมาณ 6 ชั้น เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิดประตูเหล็กแน่นหนา รอบบ้านเป็นกำแพงสูงเกือบ 3 เมตร ภายในตัวบ้านด้านซ้ายมีลานจอดรถและมีรถหรูจอดอยู่ประมาณ 5 คัน ส่วนด้านขวามือยังมีทางลงไปลานจอดรถด้านล่างอีก และมีคราบน้ำมันเครื่องไหลเป็นทางตามทางลงลานจอดรถชั้นใต้ดินด้วย เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังมาปิดล้อมบ้านดังกล่าวเอาไว้ แต่ รปภ.ของบ้านหลังดังกล่าวไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบด้านใน โดยให้รออยู่แค่รอบนอกเท่านั้น จากนั้นไม่นานก็มีรถโตโยต้า คัมรี่ สีบรอนซ์เงิน ทะเบีย ภฐ 1116กรุงเทพมหานคร ภายในมีคนขับเป็นชายและคนนั่งหลังเป็นชายอีก 1 คน ขับออกมาจากบ้านดังกล่าว
          
          ต่อมาเวลา 07.10 น. พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบก.น.5 พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผกก.สน.ทองหล่อเดินทางเข้าไปตรวจสอบภายในบ้านหลังดังกล่าวประมาณ 10นาที จากนั้นออกมาให้สัมภาษณ์ว่า บ้านดังกล่าวเป็นบ้านของนายเฉลิม อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง แต่ยังไม่เจอตัวเจ้าของบ้าน รวมทั้งคนขับและรถคันก่อเหตุด้วย ซึ่งในบ้านมีที่จอดรถชั้นใต้ดินด้วยแต่เจ้าของยังไม่อนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบ จึงให้คนดูแลบ้านประสานกับเจ้าของบ้านว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอตรวจสอบเหตุรถชนตำรวจเสียชีวิต โดยตอนเกิดเหตุ ด.ต.วิเชียรกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วย หากเจอรถแล้วก็จะนำไปตรวจพิสูจน์ ส่วนคนขับจะตรวจแอลกอฮอล์ในร่างกายด้วย และเบื้องต้นจะแจ้งข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและหลบหนี ส่วนเรื่องสวัสดิการจะดูแลทุกอย่างเต็มที่อย่างแน่นอน
สาเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับได้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองถึงสาเหตุที่ดังนี้ เช่น  จากงานวิจัยเรื่อง "ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรม เมาแล้วขับของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร" ของรองศาสตราจารย์ ดร.อุษา บิ้กกิ้นส์ และคณะ (เมษายน พ.ศ.2555) กล่าวว่า  ผลการศึกษา ปัจจัยที่มีผลต่อการขับขี่รถจักรยานยนต์ในขณะมึนเมา พบว่าปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors) ที่มีผลต่อการเมาแล้วขับของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ได้แก่
1. ปัจจัยนำ   
ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ จากผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเมาแล้วขับมักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นชายอายุ 15-25 ปีที่พักอาศัยอยู่หอพักกับเพื่อนเพราะจะมีเวลาสังสรรค์ค่อนข้างมากและไม่ได้อยู่ในความดูแลของครอบครัว                                               
ปัจจัยด้านจิตวิทยา จากผลการวิจัย พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมักชอบความท้าทาย ความเสี่ยงซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เมาแล้วขับ  การดื่มเหล้าจะทำให้เกิดความคึกคะนอง แล้วมีโอกาสที่จะขับรถเร็วได้ โดยเฉพาะขณะมึนเมา คนเมาจะคิดว่ายังขับรถกลับได้ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเกิดความประมาท ดังนั้นความประมาท จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเมาแล้วขับ  ความกลัวรถหายและรักรถ ทำให้กลุ่มวัยรุ่นขับขี่รถกลับขณะมึนเมา  กลุ่มวัยรุ่นที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ เข้าใจและกลัวกระทำผิดกฎหมาย แต่ยังคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ไม่เข้มงวดเท่าที่ควรยังมีวิธีการหลบเลี่ยงกฎหมายจึงยังเมาแล้วขับอยู่                                                                                                                    
- ปัจจัยด้านพฤติกรรม จากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมการดื่มจนติดมักจะไม่กลัวเมาแต่เวลาขับขี่รถจักรยานยนต์นั้น ความสามารถในการขับขี่จะน้อยลง ดังนั้นก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่เมาแล้วขับไม่ได้มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม แต่ก็ไม่รู้สึกผิดที่เมาแล้วขับ ประสบการณ์อุบัติเหตุไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเมาแล้วขับ เพราะ คนที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือเห็นคนใกล้ชิดประสบอุบัติเหตุจะกลัวไม่อยากให้เกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเมาแล้วก็ลืม อย่างไรก็ตามการที่วัยรุ่นบางคนคิดว่าตนเองเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในการขับขี่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นประมาทเมาแล้วขับได้


2. ปัจจัยเอื้อ          
- ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม จากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มวัยรุ่นกลัวความรุนแรงของบทลงโทษ แต่บางคนก็ไม่กลัวทำความผิด(เมาแล้วขับ) เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายทำให้สามารถหลบเลี่ยงได้  สภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเมาแล้วขับ โดยเฉพาะเพื่อนมีอิทธิพลในการชวนดื่มและชวนเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้นถ้าในละแวกบ้านมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะยิ่งสะดวกในการดื่ม   ปัจจุบันการหาซื้อได้ง่าย มีทุกที่ โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ ไม่มีการจำกัดอายุผู้ซื้อเพื่อนๆช่วยกันซื้อแล้วมาดื่มด้วยกัน ในร้านอาหารก็มีพนักงาน "เชียร์เบียร์" คอยให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้ก็เป็นแรงจูงใจที่สำคัญให้เกิดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างแพร่หลาย และมีผลสืบเนื่องให้เมาแล้วขับได้  ธรรมเนียมการดื่มของชุมชนก็ถือว่ามีอิทธิพลต่อการเมาแล้วขับของกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในชุมชน หรือครอบครัวที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็จะดื่มเฉพาะในช่วงเทศกาล ส่วนผู้ที่อยู่ในชุมชนที่มีนักดื่มก็จะมีการจัดกลุ่มสังสรรค์กันทุกวันช่วงเย็น หรือหลังเลิกงาน ส่วนสถานที่จะขึ้นอยู่กับเงินที่มี ถ้ามีเงินจะดื่มในร้านอาหาร ถ้าไม่มีเงินก็จะซื้อเครื่องดื่มมาดื่มที่หอ หรือ ซื้อเหล้าขาวที่ขายตามร้านค้า เด็กวัยรุ่นที่พักอยู่กับพ่อแม่ และ อยู่ในหมู่บ้าน จะดื่มน้อยกว่ากลุ่มเด็กวัยรุ่นที่พักอยู่ตามลำพัง   
3. ปัจจัยเสริม                                                                                                
- พฤติกรรมเมาแล้วขับของเพื่อนสนิท (ถูกชักชวนจากเพื่อนและขาดแรงต้าน) เวลาไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อนไม่กล้าปฏิเสธเพื่อนเวลาชวนดื่ม และมักจะคิดว่าขับขี่รถกลับเองได้ ไม่พึ่งใครให้พากลับ ขับมาเองก็ขับกลับเอง เพราะเพื่อนก็เมาแล้วขับกันทั้งนั้น จึงถือว่าพฤติกรรมเมาแล้วขับของเพื่อนสนิทก็ช่วยเสริมให้วัยรุ่นทำตามและเมาแล้วขับเช่นกัน    อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุทั้งหมดของการเมาแล้วขับนั้น อาจเกิดจากปัจจัยภายในของวัยรุ่นเองที่มีความเชื่อว่าตัวเองแข็งแกร่ง และไม่สามารถมีภัยอันตรายได้ หรือ ที่เรียกว่า Teenage Invincibility เป็นความคิดแบบเข้าข้างตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (egocentric thinking) คิดว่าพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับพวกเขาได้ จึงทำให้วัยรุ่นมีปัญหาเมาแล้วขับ และเสี่ยงชีวิตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ในขณะเดียวกันปัจจัยภายนอกจากเพื่อน เป็นแรงผลักดันจากเพื่อน (peer pressure) วัยรุ่นมักจะคิดว่าตัวเองเก่ง และเป็นที่สนใจของคนรอบข้าง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่สนใจกฎระเบียบ หากได้รับแรงยั่วยุจากเพื่อนหรือคิดว่าการเมาแล้วขับเป็นเรื่องธรรมดา และรู้สึกตลกขบขันกับการขับขี่รถขณะมึนเมากลับบ้าน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้    ผลการศึกษา พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ขณะมึนเมา พบว่าสื่อที่กลุ่มวัยรุ่นเปิดรับมากที่สุดคือสื่อโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต วัยรุ่นรับรู้สื่อสติ๊กเกอร์ ป้ายประชาสัมพันธ์ โปสเตอร์และสื่อทางโทรทัศน์ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควร และไม่น่าสนใจสำหรับวัยรุ่น สติ๊กเกอร์มีข้อดีที่ทำให้พบเห็นบ่อย ทำให้รู้สึกชินตา เมื่อเปิดรับสื่อแล้ววัยรุ่นจะให้ความสนใจกับสื่อที่มีลักษณะขบขันและน่ากลัวมากกว่าสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารทั่วไป นอกจากนี้กลุ่มวัยรุ่นได้ให้ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสื่อรณรงค์ว่า สื่อรณรงค์ที่ดีนั้นควรเป็นสื่อวิดีทัศ ภาพเคลื่อนไหว เน้นให้เห็นอุบัติเหตุที่น่ากลัว ติดขวดเหล้า ติดตามโต๊ะที่จะดื่ม ติดตามร้านเหล้า และ ควรเน้นภาพที่น่ากลัวแล้วติดข้างขวดเหมือนบุหรี่     
 สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ มองถึงสาเหตุของการเมาแล้วขับ ว่า เมื่อแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์จะมีผลต่อร่างกายในขณะขับขี่  โดยทำให้ ความสามารถในการตัดสินใจช้าลง  ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง การมองเห็นในเวลากลางคืนลดลง เกิดทันเนลวิชชั่น (Tunnel Vision) คือ การที่ช่วงกว้างในการมองเห็นถูกจำกัด ความสามารถในการบังคับการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์และร่างกายลดลง   ความสนใจต่อเหตุการณ์เบื้องหน้าน้อยลง จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า ผู้ขับขี่รถสนใจป้ายบอกทางหรืออันตรายในการขับขี่น้อยลง ตา มือ เท้า ตอบสนองช้าลง มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ทำให้ผู้ขับขี่รถถ้าท้ายมากขึ้นและสนใจคนขับขี่รอบข้างน้อยลง
นอกจากนี้ทางหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้มีการเล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุเมาแล้วขับ จึงจัดได้มีการจัดการปัญหาเมาแล้วขับในรูปแบบต่างๆ  เช่น                                                           
     -        โครงการสงกรานต์นี้ ปลอดเหล้า-ปลอดภัย ในสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มองว่า การรณรงค์จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะลดในเรื่องของอุบัติเหตุ  
  -       มูลนิธิเมาไม่ขับ ส่งเสริมแนวทางการทำงาน ของชมรมไว้ในประเด็นหลัก คือ
1.รณรงค์ให้คนไทยรับรู้ถึงอันตรายจาก การเมาสุราแล้วออกไปขับรถเพื่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม2.สนับสนุนให้ตำรวจมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง (กรมตำรวจเริ่มนโยบายจับผู้เมาแล้วขับอย่างจริงจังในเดือนธันวาคม พ.ศ.2539)                                                                                                                   3.สนับสนุนให้เกิดภาคีเครือข่ายในการรณรงค์เมาไม่ขับในทุกสังคม                                                             4.สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายที่มีผลทั้งทางตรงทางอ้อมกับการเกิดอุบัติเหตุจราจรที่มีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับ
-   โครงการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2553 ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระแจง อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้จัดทำโครงการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2553 ระหว่างวันที่ 12 -18 เมษายน 2553
จากข้อมูลข้างต้นปัญหาเมาแล้วขับเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จึงควรจะมีการป้องกันและแก้ไขปัญหา คือ ประการแรก ควรเร่งสร้างจิตสำนึกเพื่อความปลอดภัย ประการที่สอง ข้างทางควรมีจุดตรวจหรือจุดบริการประชาชน ประการที่สาม ควรมีบทลงโทษด้านกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เช่น ยึดรถหรือกักรถชั่วคราว ประการที่สี่ คือ ควรจะมีการสื่อสารเนื้อหาข่าวต่างๆไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่านช่องทางการสื่อสาร ประกอบไปด้วย สื่อ สิ่งพิมพ์ สื่อกระจายภาพและเสียง สื่ออินเตอร์เน็ต สื่อกลางแจ้ง เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ ได้คิด และมีการประพฤติปฏิบัติตนในแนวทางที่พึ่งประสงค์  ซึ่งการที่ผู้สื่อสารจะประสบความสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการเลือกเครื่องมือในการสื่อสารที่เหมาะสม และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การเมาแล้วขับจะเกิดผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้อีกด้วย

บรรณานุกรม
สำนักงานกองทุนเสริมสร้างสุขภาพ. ดื่มแล้วขับถุกจับแน่. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ :หจก.บีบี
                   การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, 2552
มูลนิธิเมาไม่ขับ.สาเหตุแห่งปัญหาอุบัติเหตุเมาแล้วขับ. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                                                                                            
                  http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2552/mdad0452sk_ch2.pdf   
                 (วันที่ค้นข้อมูล : 5 พฤศจิกายน 2555) 

สิริกร เค้าภูไทย. "เมาแล้วขับ" สาเหตุดับอันดับ 1 ช่วงเทศกาลสงรานต์ 2555. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                          
                  http://www.hiso.or.th/hiso/tonkit/tonkits_48.php   (วันที่ค้นข้อมูล : 5 พฤศจิกายน 2555) 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ .เทศกาลไทยกับอุบัติเหตุ. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                          
                  http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/citizen/news/news_songkran.jsp                                       
                  (วันที่ค้นข้อมูล : 5   พฤศจิกายน 2555) 

สุมิตรชัย คำเขาแดง.ดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับยานพาหนะ. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                          
                   http://www.gotoknow.org/blogs/posts/476076  (วันที่ค้นข้อมูล : 5 พฤศจิกายน 2555) 

Webmaster.กฎหมายเมาแล้วขับ:แค่นั่งไปด้วยก็ติดคุก 3 ปี. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                          
                  http://www.j-campus.com/article/view.php?id=1012 (วันที่ค้นข้อมูล : 10 พฤศจิกายน 2555) 

เดลินิวส์.จับ "กิ๊ฟซ่า เกิร์ลลี่ เบอร์รี่" เมาแล้วขับ  . [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                          
                 http://www.dailynews.co.th/crime/154442 (วันที่ค้นข้อมูล : 10 พฤศจิกายน 2555) 

ไทยรัฐ.อุ๋ย นนทรีย์ เมาแล้วขับ ซิ่งเบนซ์ชนแท็กซี่พังยับ”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                          
                  http://hilight.kapook.com/view/35772 (วันที่ค้นข้อมูล : 10 พฤศจิกายน 2555) 

คม ชัด ลึก. ทายาท'กระทิงแดง'ซิ่งเก๋งสปอร์ตหรูชนตร.ดับ. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                          

                 http://www.komchadluek.net/detail (วันที่ค้นข้อมูล : 10 พฤศจิกายน 2555) 
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น