วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย นายสันติภาพ แจ่มประแดง 53242650


การเขียนบทความประเด็นปัญหาทางสังคม
รายวิชา 830329 ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา
ชื่อ นาย สันติภาพ แจ่มประแดง รหัสนิสิต 53242650 นิสิตชั้นปีที่ 3
สาขาวิชาพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
…………………………………………………………………………………………………………
บทความเรื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาและไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ จากคำจำกัดความดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า สิ่งแวดล้อม คือสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเรา แต่ คำว่า "ตัวเรา" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวมนุษย์เราเท่านั้นโดยความเป็นจริงแล้ว ตัวเรานั้นเป็นอะไรก็ได้ที่ต้องการศึกษา/รู้ เช่น ตัวเราอาจจะเป็นดิน ถ้ากล่าวถึงสิ่งแวดล้อมดินหรืออาจจะเป็นน้ำ ถ้ากล่าวถึงสิ่งแวดล้อมน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีข้อสงสัยว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามีรัศมีจำกัดมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าสิ่งต่างที่อยู่รอบๆตัวเรา ไม่ได้มีขอบเขตจำกัดมันอาจอยู่ใกล้หรือไกลตัวเราก็ได้ จะมีบทบาทหรือมีส่วนได้ส่วนเสียต่อตัวเราอย่างไรนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและพฤติกรรมของสิ่งนั้นๆ
ในโลกปัจจุบันสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายที่มีอยู่ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมกลับเพิ่มมาแทนมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์และพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้อำนวยประโยชน์ต่อมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ผลจากการทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติส่งผลกระทบต่อมนุษย์หลายประการ เช่นปัญหาการแปรปรวนของภูมิอากาศโลก การร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพทรัพยากรเสื่อมลง ชาติภัยพิบัติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น มลพิษสิ่งแวดล้อมขยายขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆเหล่านี้ เราจึงควรตระหนักถึงปัญหาร่วมกันโดยศึกษาถึงลักษณะของปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดจนแสวงหาแนวทางในการป้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
                ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่สำคัญในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของมนุษย์อันเนื่องมาจากความต้องการพื้นฐาน และความต้องการความสะดวกสบายในด้านต่างๆ กระตุ้นให้มนุษย์พัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการ ในการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติใช้อย่างสะดวกสบายและง่ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม เพื่อผลิตสินค้าทั้งที่เป็นสินค้าประเภททุน (Capital Goods) และสินค้าบริโภค (Consumer Goods) ซึ่งกระบวนการผลิตนี้เองที่ก่อให้เกิดของเสียออกมาต่างๆมากมาย ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบมักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆของสภาพแวดล้อมนั้นๆ
                ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถเกิดขึ้นทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ ที่ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และในพื้นที่ดังกล่าวปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมก็จะมากด้วย  ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ความหนาแน่นของประชากรในเขตเมืองจะเป็นตัวเร่งทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมเร็วและรุนแรงขึ้น โดยที่คนในเมืองจะมีลักษณะของการใช้ทรัพยากรมากกว่าในชนบท อัตราส่วนการใช้ทรัพยากรของคนในเมืองจะสูงกว่าคนชนบท ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในเมืองจึงเกิดการใช้ทรัพยากรของบุคคลและการผลิตของเสียจากการใช้ทรัพยากร ส่วน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในเขตชนบท การเพิ่มความต้องการด้านที่อยู่อาศัย อาหาร มีผลทำให้มีการบุกรุก ทำลายป่าสงวน เพื่อนำไม้มาสร้างที่อยู่อาศัย และเพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูก การตัดไม้ทำลายป่าก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น ปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความสูญเสียด้านผลผลิตทางการเกษตร และรวมถึงสารเคมีที่ใช้เพื่อการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สารเคมีดังกล่าวบางชนิดเป็นสารที่มีพิษอันตราย ซึ่งเมื่อนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง ขาดการควบคุมขาดความรู้ในการเก็บรักษา การขนส่ง และการกำจัดกากของเสียแล้ว จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งโดยเฉียบพลันและเรื้อรังได้ เป็นต้น
ประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย  
สถานการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆทั่วโลกมีลักษณะคล้ายคลึงกันยิ่งเป็นประเทศในกลุ่มเดียวกันด้วยแล้ว จะพบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกันมาก ประเทศไทยก็เช่นกันจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมคล้ายๆกับประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาทั้งหลาย คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างฟุ่มเฟือย นำทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมออกมาใช้เกินความจำเป็นและนำมาใช้ในทางที่ไม่สมควรเท่าใดนัก ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของตนเองในการผลิตหรืออำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินชีวิต
ประเทศไทยโดยจากสภาวะปัจจุบันมีการปกครองแบบประชาธิปไตย  จึงเกิดรูปแบบการทำเศรษฐกิจในรูปเสรีนิยม ที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันผลิตให้ได้มากที่สุด ทำให้ต้องมีการแสวงหาทรัพยากรในการใช้ในการเป็นปัจจัยการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการบริโภคของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆโดยการที่จะเร่งการเกิดกำลังการผลิตต่างๆจึงต้องมีการนำเครื่องมือในรูปแบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาเป็นตัวเข้าถึงในการบรรลุเป้าหมายการผลิตดังกล่าว ซึ่งยิ่งเข้ามามากขึ้นย่อมส่งผลต่อการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่างๆให้สลายและหมดไปอย่างรวดเร็วจากระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่วิตกของประเทศไทยอย่างกว้างขวางที่ทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยกันหาทางฟื้นฟู
ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เป็นแรงผลักดันให้มีการขยายพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและสร้างที่อยู่อาศัย ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าจนเป็นเหตุให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว ใน พ.ศ. 2504 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศมี 171 ล้านไร่ หรือร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศ ลดลงเหลือ 94 ล้านไร่ หรือร้อยละ 29 ของพื้นที่ประเทศใน พ.ศ. 2528 และเมื่อพ.ศ. 2538 (อีก 10 ปีต่อมา) พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือเพียง 82 ล้านไร่หรือร้อยละ 25 ของพื้นที่ในประเทศ
ปัญหาการขาดแคลนแร่ธาตุและพลังงาน นับตั้งแต่การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และหลังจากที่ประเทศไทยสามารถนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2524 โครงการผลิตอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการส่งออกแร่ดิบไปต่างประเทศ มาเป็นผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศมาโดยตลอดและมีสัดส่วนการใช้ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแร่ธาตุอุตสาหกรรมและแร่ธาตุพลังงาน ใน พ.ศ. 2538 ประเทศไทยผลิตแร่ธาตุประมาณ 40 ชนิด โดยมีมูลค่าการผลิตแร่ธาตุรวมประมาณ 20,947.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทรัพยากรแร่ธาตุได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เช่น ทำให้สภาพพื้นที่เสื่อมโทรม ทำให้เกิดฝุ่นละออง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
                 ปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม การขาดแคลนน้ำเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภค เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท และเป็นปัญหาที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ในอนาคตปัญหาการขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะ แก้ไขได้ยาก แม้ปัจจุบันจะมีแหล่งน้ำจากธรรมชาติอยู่มากก็ตาม แต่ก็ยังเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ในช่วงฤดูแล้ง และ น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นวัฏจักร และไม่สามารถห้ามได้ ประเทศไทยเคยประสบกับภาวะน้ำท่วมใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมนั้น เราก็ได้มีการเตรียมรับมืออย่างดีที่สุดแต่สุดท้ายปัญหาน้ำท่วมก็ยังคงสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยในระดับที่มากอยู่ดี
                ปัญหาขยะมูลฝอย ขยะมูลฝอยเป็นสิ่งของที่เหลือทิ้งจากการอุปโภค บริโภค ของมนุษย์เรา ซึ่งในอดีตนั้นการทิ้งขยะมูลฝอยโดยไม่มีการจัดการใดๆไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมเท่าใดนัก  เนื่องจากจำนวนประชากรยังมีน้อย และการตั้งบ้านเรือนยังไม่หนาแน่นพื้นที่ดินยังมีมากพอให้นำขยะมูลฝอยไปทิ้งและปล่อยให้ย่อยสลายไปได้เองตามธรรมชาติ แต่เมื่อจำนวนประชากรมีมากขึ้นและมีการตั้งบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น ปริมาณขยะมูลฝอยก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ในขณะที่ที่ดินที่จะรับขยะมูลฝอยมีน้อยลง จึงจำเป็นต้องมีการจัดการกับขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นให้เป็นที่เรียบร้อย
          ในชุมชนที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มักจะมีปัญหาปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าขีดความสามารถของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการเก็บและกำจัดจะดำเนินการได้ทัน ทำให้ชุมชนขาดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกหลายประการ เช่น ปัญหาน้ำเสีย อากาศเสีย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นต้น ชุมชนที่มีปัญหาขยะมูลฝอยอย่างเด่นชัดในขณะนี้ ได้แก่ ชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น และเป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญหรือเป็นเมืองท่องเที่ยว เช่นกรุงเทพมหานคร เมืองเชียงใหม่ เมืองหาดใหญ่ เมืองภูเก็ต และเมืองพัทยา เป็นต้น
                ปัญหามลพิษทางอากาศ  ปัญหาอากาศเสียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดในเขตชุมชนเมือง โดยมีสาเหตุมาจากยานพาหนะต่างๆที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เช่น รถยนต์ รถบรรทุกรถจักรยานยนต์ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจะทำให้สารมลพิษหลายชนิดถูกปล่อยออกมาทางท่อไอเสีย โดยจะมีปริมาณสารมลพิษออกมามากที่สุดในขณะที่เครื่องยนต์เดินในเกียร์ว่าง ซึ่งมักเกิดในช่วงการจราจรติดขัด นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ทำให้เกิดอากาศเสียสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีปัญหาด้านการจราจรมาก รวมทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่โดยรอบ พบว่าในพื้นที่หลายแห่งมีค่าปริมาณสารพิษในอากาศสูงมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยในบริเวณนั้นๆได้
ตัวการทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
กล่าวได้ว่าหากสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อยู่รอบๆตัวมนุษย์เรานั้น หากมนุษย์เราไม่เข้าไปยุ่งหรือไม่เข้าไปปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้เกิดมีกระบวนการใหม่ๆขึ้นมานั้นเพื่อที่จะสนองความต้องการของตัวเองให้เกิดความสะดวกสบาย สิ่งแวดล้อมต่างๆเหล่านั้นคงไม่ย้อนกลับมาทำลายมนุษย์เราเองได้ สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม มีดังนี้
                การเพิ่มจำนวนของประชากร การเพิ่มความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ ความต้องการพื้นที่ทำกินทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีการบุกรุกทำลายป่าอันควรสงวนไว้เพื่อรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ความต้องการในการใช้ทรัพยากรอื่นๆ เป็นต้นว่า น้ำ อากาศ แร่ธาตุ แหล่งพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพียงเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ยังขาดการวางแผนการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณการเพิ่มของประชากรก็ยังอยู่ในอัตราทวีคูณ เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน
การรวมตัวของประชากรหรือการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเช่นเดียวกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง ซึ่งโดยปกติแล้วจะขาดการวางแผนและผังเมืองไว้ล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหาของเมืองขึ้น เป็นต้นว่าการใช้ที่ดินที่ไม่มีระเบียบแบบแผน ปัญหาการจราจร การขาดแคลนทางด้านสาธารณูปโภคและการบริการโดยทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านกายภาพ และทางด้านสุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชากรเช่นเดียวกัน
การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตในทางด้านการเกษตร การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของคุณภาพของดินปัญหาดินเป็นพิษ ซึ่งอาจจะแผ่กระจายตัวลงสู่แม่น้ำลำธาร จนเป็นสาเหตุของน้ำเสีย หรือทางด้านอุตสาหกรรมวิธีการในการผลิตที่ใช้สารตะกั่ว ปรอท สารหนู ฯลฯ สารเหล่านี้จะเป็นพิษร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชากร และยากแก่การแก้ไขหรือทำลายส่วนที่ตกค้างให้หมดสิ้นไป
การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
ผลกระทบที่ตามของปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ดังนั้นการกระทำของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ กล่าวคือสิ่งแวดล้อม คือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายปัจจัยอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ อย่างไรก็ตามนั้นเมื่อมนุษย์ไม่รู้จักใช้สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจำกัดหรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด ย่อมทำให้เกิดผลกระทบตามมาต่างๆมากมาย เหล่านี้
มลพิษทางอากาศ  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อากาศเป็นพิษ หมายถึงสภาพอากาศที่มีสารอื่นเจือปนมาก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตคน สัตว์ พืชและสภาวะแวดล้อมอื่นๆสารเหล่านี้ ได้แก่ เขม่า ควัน ฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสารเหล่านี้ถ้าสะสมมากๆจะทำให้เกิดเป็นโรคผิวหนัง มะเร็ง หรือเกิดอาการเวียนศีรษะแหล่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ได้แก่ การคมนาคม การเผาขยะ การก่อสร้าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดฝุ่นและควันเข้าสู่อากาศที่เราหายใจเข้าไป
มลพิษทางน้ำ  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าน้ำเสียสิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำนั้นเกิดจากการที่มีการทิ้งของเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ทั้งที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม สถานบริการ การประกอบอาชีพต่างๆ หรือจากอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีการทิ้งขยะมูลฝอยลงในแหล่งน้ำ หรือลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดน้ำเสียเป็นแหล่งเพาะและแพร่เชื้อโรคทำลายสุขภาพ น้ำมีกลิ่นเหม็น สัตว์น้ำเสียชีวิต และทำลายความสวยงามและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ขยะมูลฝอยล้นเมือง ขยะเศษวัสดุ ของเสีย มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกขณะเนื่องจากการขยายตัวของเมืองการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น หากใช้วิธีกำจัดที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมย่อมก่อให้เกิดปัญหาตามมาน้ำเสียจากกองขยะ มีความสกปรกสูง มีสภาพเป็นกรด มีเชื้อโรค หากน้ำจากขยะรั่วไหลปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เป็นผลให้เกิดอันตรายและเกิดมลพิษในบริเวณที่ปนเปื้อนดังในแหล่งทิ้งขยะของเทศบาลต่าง ๆ ที่เอาขยะไปเทกองไว้เป็นภูเขาขยะน้ำจากขยะจะไหลซึมออกทางบริเวณข้างกอง ส่วนหนึ่งก็ซึมลงสู่ใต้ดินในที่สุดก็ไปปนเปื้อนกับน้ำใต้ดินเกิดปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้านที่บริโภคน้ำถ้าน้ำจากกองขยะไหลซึมลงสู่แหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงก็จะทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นเน่าเสีย ถ้าปนเปื้อนมากถึงขนาดก็จะทำให้สัตว์น้ำต่าง ๆเช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด พืชน้ำ ตายได้ เพราะขาดออกซิเจนและขาดแสงแดดที่จะส่งผ่านน้ำ เนื่องจากน้ำมีสีดำหากน้ำขยะมีการปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของ ชุมชนก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมากขึ้นขยะมูลฝอยที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ กองขยะมูลฝอยขนาดมหึมาของเทศบาลจะเกิดการหมัก โดยจุลินทรีย์ในกองขยะจะเกิดก๊าซต่าง ๆ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหากไม่มีการกำจัดก๊าซเหล่านี้อย่างเหมาะสม ก๊าซที่เกิดขึ้นได้แก่ มีเทนคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ( ก๊าซไข่เน่า ) เป็นต้น และยังมีฝุ่นละอองจากกองขยะ ก่อให้เกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังแก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้การระเหยของน้ำทะเลในมหาสมุทร แม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบเพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้ฝนตกมากขึ้น และกระจุกตัวอยู่ในบางบริเวณทำให้เกิดอุทกภัย ส่วนบริเวณอื่นๆก็จะเกิดปัญหาแห้งแล้ง เนื่องจากฝนตกน้อยลง กล่าวคือพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกชุก และเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งขึ้นในขณะที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเผชิญกับภัยแล้งมากขึ้น การประเมินอย่างเป็นระบบในด้านผลกระทบป่าไม้และทรัพยากรน้ำในการศึกษาล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าทรัพยากรเหล่านี้ประสบกับอัตราเสี่ยงในระดับสูง ป่าไม้ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสที่จะประสบความแห้งแล้งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง แต่ฝนจะตกเพิ่มขึ้นในภาคใต้ ซึ่งมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของประเภทของป่าไม้ของประเทศและการคุกคามต่อระบบนิเวศ
แนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆตามมาอย่างมากมาย มีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ทั้งยังเกี่ยวโยงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลเสียโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียสิ่งมีชีวิต หรือนำไปสู่สภาวะที่พืชและสัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ไปได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแนวทางและวิธีดำเนินการในการป้องกัน ยับยั้ง ชะลอ และขัดขวางการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยแนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม มีหลายรูปแบบด้วยกัน คือ
การป้องกัน การป้องกันคุ้มครองทรัพยากรที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้เอง เพื่อให้มีอัตราในการนำทรัพยากรมาใช้อยู่ในระดับที่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทน ได้ทัน ซึ่งจะช่วยให้มีทรัพยากรนั้นไว้ใช้อย่างยั่งยืนทั้งยังรวมถึงการป้องกัน ทรัพยากรที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เกิดการลุกลามจนทำให้สภาวะสิ่งแวดล้อมเสียสมดุลไป
          การป้องกันนี้อาจทำได้โดยการใช้มาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่การใช้กฎหมาย การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และความเข้าใจแก่ประชาชนในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อมีทรัพยากรเกิดขึ้นหมุนเวียนสำหรับใช้งานได้อย่างยั่งยืนสืบไป
การแก้ไขและฟื้นฟู
                การแก้ไข คือการดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซมทรัพยากรที่ลดลงหรือเสื่อมสลายของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
การฟื้นฟู คือการดำเนินการกับทรัพยากรที่ลดลงหรือเสื่อมโทรมให้สามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาพ เดิมได้โดยการปิดกั้นไม่ให้มีการรบกวนระบบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ระบบสิ่งแวดล้อมมีเวลาในการฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมสามารถนำกลับมา ใช้ใหม่ได้อีก เช่น การฟื้นฟูไร่เลื่อนลอย การฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน เป็นต้น
           ดังนั้นหากกล่าวโดยรวมแล้ว การแก้ไขและฟื้นฟูจะเป็นขั้นตอนดำเนินการภายหลังจากที่เกิดการเสื่อมหรือ เสียสภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนการบำบัดฟื้นฟูสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นและเหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์ต่อไป
การอนุรักษ์ คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยความฉลาดและใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์มากที่สุด โดยหลีกเลี่ยงให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กระบวนการดำเนินการอนุรักษ์อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ต้องครอบคลุมทั้งปัญหาด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจนเกิด ความเสื่อมโทรมรวมถึงปัญหาการก่อมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบกลับมา สู่ตัวมนุษย์เองด้วย โดยแนวทางในการอนุรักษ์ประกอบด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
การใช้อย่างยั่งยืน คือการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีของเสียที่เกิดจากการใช้งานน้อยที่สุดหรือไม่มีของเสียเกิดขึ้นเลย การใช้อย่างยั่งยืนนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมน้อยที่ สุด ทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสามารถฟื้นตัวหรือเกิดขึ้นมาใหม่ได้ทันกับความ ต้องการใช้งานมนุษย์
การเก็บกักทรัพยากร คือการรวบรวมและการเก็บกักทรัพยากรที่มีแนวโน้มจะเกิดการขาดแคลนในบางช่วงเวลา ไว้ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เชน การเก็บกักทรัพยากรน้ำที่มีมากในฤดูน้ำหลากไว้ เพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้งที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งการเก็บกักน้ำมาใช้ในฤดูแล้งจะทำให้สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการใช้น้ำในฤดูน้ำหลากหรือในช่วงที่มีน้ำมาก หรือการเก็บผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ไว้เป็นเสบียงอาหารในช่วงเวลาอื่นๆที่ไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว เป็นต้น
การรักษา คือการดำเนินการกับทรัพยากรที่ลดลงหรือเสื่อมโทรมให้สามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาพ เดิมได้โดยอาศัยวิธีการทางเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นเข้ามาช่วยดำเนินการ ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย จนทำให้สิ่งแวดล้อมสามารถกับสู่สภาพเดิมได้อีก เช่น การใช้เทคโนโนยีในการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานให้กลับเป็นน้ำสะอาด เป็นต้น
                การพัฒนา คือการพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เป็นการเร่งหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้ผลผลิตทีดีขึ้น การพัฒนาทรัพยากรจะต้องมีการนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ควบคู่กับกระบวนการ พัฒนาทุกขั้นตอน ทั้งยังรวมถึงการพัฒนาเทคนิควิธีที่ทำให้ใช้ทรัพยากรในปริมาณน้อยแต่ได้ผล ผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย
                การสงวน คือการเก็บสงวนทรัพยากรไว้ไม่ให้มีการนำมาใช้งาน เนื่องจากทรัพยากรนั้นกำลังจะหมดหรือสูญสิ้นไป ทรัพยากรบางชนิดเมื่อสงวนไปในระยะเวลาหนึ่งแล้วอาจจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้น จนสามารถนำมากใช้ใหม่ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาดังกล่าวอาจมีการอนุญาตให้นำทรัพยากรมาใช้ได้ โดยมีกฎเกณฑ์หรือมาตรการต่าง ๆ ควบคุม เช่น การสงวนพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น
                การแบ่งเขต คือการจัดแบ่งกลุ่มหรือประเภทของทรัพยากรเพื่อให้สามารถดำเนินการอนุรักษ์ได้ ผลดีขึ้น การดำเนินการนี้อาจมีการแบ่งพื้นที่ควบคุมเพื่อให้มีสภาวะที่เหมาะสมสำหรับ การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร เช่น การจัดพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์หรืออุทยานซึ่งจะทำให้สภาพดิน พืช สัตว์ และป่าไม้มีสภาพที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ ดำรงพันธุ์ และเจริญเติบโต นอกจากนี้การแบ่งเขตยังช่วยให้สามารถกำหนดมาตรการดำเนินการต่าง ๆ ได้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ด้วย พื้นที่ที่มีการจัดการแบ่งเขตควบคุม ได้แก่ พื้นที่เขตต้นน้ำ เขตวนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน เขตห้ามล่าและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น
การมองปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายแนวทาง ซึ่งแต่ละแนวทางพยายามมุ่งเน้นอธิบายปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหา ทั้งนี้แนวทางที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะสามารถอธิบายสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ดีที่สุด คือการจัดการระบบนิเวศแบบองค์รวมเนื่องจากมีหลักการของการมองสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบเป็นองค์รวม สิ่งแวดล้อมไม่ได้แยกออกมาจากเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีตัวแปรและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประชากร วิกฤตการณ์ของสังคมเมือง ความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการควบคุมมลภาวะลัทธิบริโภค ลัทธิบูชาเทคโนโลยี การละเลยความคิดแบบนิเวศ วิกฤตการณ์ของการจัดการทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของปัจเจกชนที่เน้นผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่กลุ่มการจัดการระบบนิเวศแบบองค์รวม คือการมองอย่างเป็นองค์รวมไม่ได้แยกส่วนว่าเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อมดังที่นักวิชาการทั้งหลายแนวได้เสนอไว้มาก่อน เพราะการมองอย่างรอบด้านจะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ สาเหตุของปรากฏการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีการเสนอแนะแนวทางในการจัดการได้อย่างถูกต้องและครอบคลุมและให้ความสำคัญทั้งต่อปัจเจกชนชุมชน และองค์กรท้องถิ่นตลอดจนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมีความสำคัญต่อมนุษย์และสรรพสิ่งบนโลกนี้เป็นอย่างมาก หากมนุษย์เรายังยึดติดกับความสะดวกสบาย โดยการนำเอาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองอย่างฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น สักวันมนุษย์เราอาจเหลือเพียงสิ่งแวดล้อมดีๆอยู่ในความทรงจำเท่านั้น










อ้างอิง


:เย็นจิตร ถิ่นขาม.(2555).ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิธีแก้ไขปัญหาแนวHolistic ecology(ออนไลน์).สืบค้นจาก: http://www.gotoknow.org/blogs/posts/358067.(สืบค้นข้อมูลวันที่5 ธันวาคม 2555)


:ดร.ฤทธิ์ วัฒนชัยยิ่งเจริญ.(2552).ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมสิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต(ออนไลน์).สืบค้นจาก: http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=3022.(สืบค้นข้อมูลวันที่6 ธันวาคม 2555)


:วรลักษณ์.(2550).ปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบ(ออนไลน์).สืบค้นจาก :http://wallraluk-1.blogspot.com/2007/09/blog-post_04.html.(สืบค้นข้อมูลวันที่6 ธันวาคม2555)


:JITTIWAT.(2554).สถานการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน(ออนไลน์).สืบค้นจาก: http://www.ppr.go.th/forumtalk/index.php?topic=188.0;prev_next=prev#new.(สืบค้นข้อมูลวันที่6 ธันวาคม 2555)


:Dr.UBA.(2553).สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยและของโลกในปัจจุบัน(ออนไลน์).สืบค้นจาก:http://wastewatertreatments.wordpress.com/2010/10/06.(สืบค้นข้อมูลวันที่7 ธันวาคม 2555)


:นางสาวสุภาวดี พุ่มโพธิ์.(2554).ปัญหาสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ที่เกิดจากพฤติกรรมการละเมิด คุกคาม ในสิ่งแวดล้อมของสังคมไทย(ออนไลน์).สืบค้นจาก:http://www.learners.in.th/blogs/posts/452897.(สืบค้นข้อมูลวันที่7 ธันวาคม 2555)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น