วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเด็นปัญหาครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว การเป็นคนชายขอบและความไม่เป็นธรรมของสังคมไทย นางสาวมยุรฉัตร ทองดอนสนธิ์ 53242322


การเขียนบทความวิชาการ
ประเด็นปัญหาครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว การเป็นคนชายขอบและความไม่เป็นธรรมของสังคมไทย
รายวิชา 830329 ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา
นางสาว มยุรฉัตร  ทองดอนสนธิ์  รหัสนิสิต 53242322 ชั้นปีที่ 3
คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยนเรศวร
……………………………………………………………………………………………………………..

 ครอบครัวไทยในอดีตส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายซึ่งจะประกอบไปด้วย ปู่ย่า  ตายาย  พ่อแม่ และลูก  ลักษณะของครอบครัวขยายนั้นจะมีความสำคัญคือ ทุกคนในบ้านจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่เสมอ  จึงทำให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน  และมีความผูกพันกันมากขึ้น ทั้งในการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน รวมไปถึงในเรื่องของการศึกษา  การอบรมเลี้ยงดู  การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม  กล่าวได้ว่า ครอบครัวสามารถเป็นแหล่งบ่มเพาะ  หล่อหลอม ถ่ายทอดความรู้ และขัดเกลาสมาชิกในครอบครัวให้มีพฤติกรรมที่ดีได้อย่างเหมาะสม  จึงทำให้ครอบครัวมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างขนาดครอบครัว และรูปแบบของครอบครัว และยังส่งผลต่อสภาพสภาวะการดำเนินชีวิตครอบครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ของครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกล่าวคือ  มีจำนวนครอบครัวเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น และจำนวนครอบครัวขยายก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น จำนวนครอบครัวที่เลี้ยงเดี่ยวที่มีพ่อแม่และลูกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ส่วนจำนวนครอบครัวขยายก็มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง  ในขณะที่ครอบครัวที่อยู่คนเดียวก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน   จึงทำให้ครอบครัวของสังคมไทยมีความหลากหลายของรูปแบบครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆที่ไม่ต้องการผูกมัด  ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยก่อนแต่งงาน การอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงาน  ไม่จดทะเบียนสมรส ซึ่งจะพบรูปแบบการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวรูปแบบใหม่ๆเพิ่มสูงขึ้น
ด้วยเหตุผลข้างต้น ครอบครัวไทยในปัจจุบันจึงไม่ได้ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก และเครือญาติ ดังเช่นแต่ก่อน  แต่มีหลายรูปแบบ ทั้งครอบครัวขยาย ครอบครัวที่อยู่คนเดียว  ครัวครอบพ่อหรือแม่เลี้ยงลูกตามลำพัง ครอบครัวที่รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมครัวครัวลักษณะอื่นๆ เป็นต้น ขณะที่กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับสถานะและบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ  และการเมืองของผู้หญิงได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยผู้หญิงมีบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม  และการเมืองมากขึ้น  รวมถึงการที่ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นของการเขียนบทความเชิงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของหัวหน้าครอบครัวที่เป็นหญิงไม่มีคู่ คือมีสถานะสมรส โสด หม้าย หย่า หรือแยกกันอยู่กับคู่สมรส  ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดความเปราะบางของสถานะทางเศรษฐกิจการมีเครือข่ายทางสังคม  และการกลืนกลายเข้ากับสังคมของครัวเรือนอย่างหนึ่ง
จากเหตุผลข้างต้นทำให้ครอบครัวที่เป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครัวที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ได้รับผลกระทบ 2 ประการ ประการแรกคือ  ผลกระทบที่เกิดกับพ่อหรือแม่ ได้แก่ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อครอบครัวมีผู้หาเลี้ยงครอบครัวหลักเพียงคนเดียว ปัญหาที่ตามมาคือความยากจนของครอบครัว มีผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของบุตรและปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้นตามจำนวนบุตรที่มี ปัญหาด้านวัฒนธรรม ผู้หญิงต้องเผชิญกับกับอคติของคนในสังคมที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงหม้าย หรืออย่าร้าง เป็นผู้ที่มีรอยมลทิน ประการที่สองคือ  ผลกระทบที่เกิดกับลูก ได้แก่ ปัญหาด้านพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ สภาพความประพฤติที่ไม่เหมาะสม หรือการกระทำผิดของเด็กที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาครอบครัวแตกแยกยกตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาภูมิหลังของเยาวชนที่กระทำผิดในจังหวัดสมุทรปราการ พบว่าเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) มีพ่อแม่แยกกันอยู่หรือหย่าร้าง และการศึกษาที่พบว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่อย่างพร้อมหน้าจะมีความภาคภูมิใจต่ำกว่าเด็กในครอบครัวที่มีพ่อแม่  เนื่องจากขาดพ่อหรือแม่ทำให้เค้าคิดว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ รู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่า  การที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันนั้น ส่งผลให้ลูกมีทัศนคติต่อครอบครัวในด้านลบสูงกว่าเด็กที่มีพ่อแม่อยู่ด้วยกัน ตลอดจนมองโลกและอนาคตต่ำกว่าเด็กในครอบครัวปกติ การที่เด็กขาดผู้เลี้ยงดูฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจทำให้ขาดความรักความอบอุ่นที่พึงได้รับเช่นเดียวกับเด็กในครอบครัวที่มีพร้อมหน้าทั้งพ่อและแม่  รวมทั้งขาดตัวแบบที่จะเรียนรู้บทบาทของการเป็นพ่อหรือแม่ที่เหมาะสมหากเข้าต้องเป็นพ่อหรือแม่ในอนาคต   ปัจจุบันครอบครัวเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ครอบครัวเหล่านี้กำลังถูกสังคมและนโยบายภาครัฐผลักดันเข้าสู้กระบวนการทำให้เป็นชายขอบ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีการดำเนินชีวิตของสมาชิกในครอบครัวและนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงจนเกิดเป็นช่องว่างทางสังคม ชนชั้น และสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย
ทั้งนี้คำว่า ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว (single mother) ในบทความนี้หมายถึง ครอบครัวที่ประกอบไปด้วยสมาชิกหลัก คือ มารดา และบุตรที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี โดยมารดาอาจอาศัยอยู่ต่างหาก หรืออยู่ร่วมกันกับผู้อื่นเป็นลักษณะครอบครัวขยายได้ ขณะที่คำว่า ครอบครัวปกติ หมายถึง ครอบครัวที่ประกอบไปด้วย พ่อแม่ และลูกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน  หรือพ่อแม่ลูกอาศัยอยู่กับเครือญาติ และ การทำให้เป็นชายขอบ หมายถึง การที่บุคลนั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้วถูก (สังคม) กำหนดว่าเป็นส่วนเกิน หรือมองว่ามีความเป็นอื่น ฯลฯ เนื่องจากเป็นคนที่อยู่นอกการรับรู้ของคนกระแสหลัก ไร้ซึ่งสิทธิเสียงต่างๆจากระบบ จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ (ถูกคนในสังคมส่วนใหญ่มองข้ามไป)
สถานการณ์ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในประเทศไทย  ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลครอบครัวพ่อแม่เดี่ยวโดยตรง แต่ข้อมูลที่บ่งบอกถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวคือ การเปลี่ยนแปลงครอบครัวในสังคมไทยจากครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายเป็นครอบครัวลักษณะอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ ครอบครัวพ่อหรือแม่เดี่ยวมีแนวโน้มมากขึ้น เพราะสาเหตุจากการสิ้นสุดของชีวิตคู่ 4 รูปแบบ คือ การละทิ้ง การแยกทาง การหย่าร้าง และการเสียชีวิตของคู่สมรส เป็นผลให้ครอบครัว มีผู้ดูแลลูกตามลำพังเพียงคนเดียวคือ พ่อหรือแม่ จากการรายงานเด็กไทยในมิติวัฒนธรรม พบว่าครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศไทยมีประมาณ 1.3 ล้านครอบครัว   นอกจากนี้ การสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.. 2547–2550 พบว่าหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นเพศชายนั้นมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องคือ จากร้อยละ 72.1 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 69.0 ในปี 2550 ขณะที่เพศหญิงมีอัตราการเป็นหัวหน้าครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 27.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 31.0 ในปี 2550
ครอบครัวแบบแม่เดี่ยวไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ในสังคม ผู้หญิงที่มีลูกและไม่สามารถดำรงชีวิตคู่ไว้ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ล้วนมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยและทุกสังคม  สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบของการเป็นครอบครัวแม่เดี่ยวโดยครอบครัวแม่เดี่ยวที่มาจากสาเหตุที่ต่างกันย่อมได้รับการยอมรับจากสังคมแตกต่างกันไป เนื่องจากฐานคิดค่านิยมทางสังคม วัฒนธรรมของบริบทสังคมที่ต่างกัน ครอบครัวแม่เดี่ยวที่เกิดจากสาเหตุที่สังคมไม่ให้การยอมรับสังคมจะมองในแง่มุมของความไม่ปกติ หรือเบี่ยงเบน (deviant) ยังรวมถึงการซึมซับและยอมรับนับถือในภาพลักษณ์ที่ตนเองเป็นอยู่ (self image) อันส่งผลต่อสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการที่ครอบครัวแม่เดี่ยวเหล่านั้นจะสามารถปรับสภาพครอบครัวให้ดำเนินชีวิตไปตามปกติสุขในสังคมต่อไปได้หรือไม่ในระดับไหนอย่างไร  
 การที่ครอบครัวแม่เดี่ยวต้องประสบปัญหาใดปัญหาหนึ่งของครอบครัว อาจเกี่ยวพันและก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา โดยเฉพาะความยากจน การมีคุณภาพชีวิตตกต่ำ ฯลฯ ทำให้ครอบครัวต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ทั้งทางจิตใจความรู้สึกโดดเดี่ยวสูญเสียความมั่นใจ ตำหนิตนเอง ความเครียดในภาระที่ต้องรับผิดชอบ ความยากลำบากทางกาย การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความสมดุลของครอบครัวได้   นอกจากนี้ แนวคิดส่วนใหญ่ยังคงถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ครอบครัวแบบดั้งเดิมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมานานทำให้การเป็นครอบครัวแม่เดี่ยวเป็นภาวะที่ไม่พึงประสงค์                
จากสถานการณ์ปัจจุบันเราสามารถแบ่งครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เปราะบาง กลุ่มที่เข้มแข็ง และกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นนักสู้ ดังนี้
1. แม่เดี่ยวกลุ่มที่เปราะบาง หมายถึง กลุ่มแม่เดี่ยวที่เผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากต้องแบ่งเวลาเพื่อเลี้ยงดูลูกและทำงาน ทำให้โอกาสที่จะเข้าสู่การจ้างงานในระบบที่มีค่าจ้างสูงเป็นไปได้น้อย ประกอบกับครอบครัวเดิมก่อนเป็นแม่เดี่ยวก็มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ก่อน  รวมทั้งแม่เลี้ยงเดี่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่กินกันโดยไม่ผ่านการแต่งงาน ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องให้ฝ่ายชายส่งค่าเลี้ยงดูได้ ต้องประสบกับความยากจน  ไม่มีเงินทุน   นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาความยากลำบากทางสังคมด้วย เนื่องจากไม่มีระบบเครือข่ายทางสังคมให้การช่วยเหลือ เพราะเป็นผู้ย้ายถิ่น อยู่ห่างไกลกัน จึงไม่มีเครือญาติที่จะมาสนับสนุน ขณะที่การมีส่วนร่วมกับกลุ่มเพื่อนหรือคนในชุมชนน้อยมาก เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับดิ้นรนทางด้านเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสต่างๆ มีค่อนข้างน้อย เพราะครอบครัวไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เป็นผลซ้ำเติมครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีปัญหาให้ได้รับความยากลำบาก และมีความเสี่ยงกับการเป็นครอบครัวชายขอบยิ่งขึ้น
2.แม่เดี่ยวกลุ่มที่เข้มแข็ง หมายถึง กลุ่มแม่เดี่ยวที่มีความสามารถในตัวเอง มีความเข้มแข็ง ไม่ผูกติดกับความเชื่อที่ว่าผู้ชายเป็นผู้หาเลี้ยงหลักของครอบครัว ข้อค้นพบสำคัญของแม่เดี่ยวกลุ่มนี้ ได้แก่ สภาวะแวดล้อมที่กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวอยู่โดยเฉพาะเครือข่ายการสนับสนุนทางสังคม กล่าวคือ เรื่องการทำมาหากิน และการดูแลลูก ล้วนเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนในเรื่องของเวลา ทำให้แม่เดี่ยวกลุ่มนี้ใช้ต้นทุนเรื่องเวลาไปจัดการกับมิติเศรษฐกิจขณะที่เวลาในการดูแลลูกได้รับการจัดสรรผ่านต้นทุนของเครือข่ายความช่วยเหลือจากภายนอก ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ได้แก่ ความเกื้อหนุนของเครือญาติ และเครือข่ายเพื่อน มีทางเลือกในการแก้ปัญหาต่างๆทำให้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องรองเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอิสระภาพที่ได้รับหลังแยกทางกันกับสามี
3.แม่เดี่ยวนักสู้ หมายถึง แม่เดี่ยวที่รวมกลุ่มของครอบครัวพ่อ-แม่เดี่ยวที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน ตั้งกองทุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวพ่อ-แม่เดี่ยวการเข้าค่ายฝึกอบรมพฤติกรรมและจิตใจ การตั้งกระบวนการรวมกลุ่ม สร้างภาคเครือข่ายและจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาและต่อยอดในด้านการเรียนรู้และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มครอบครัวแม่เดี่ยวสามารถแก้ปัญหาได้สะท้อนให้เห็นว่า  การรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของครอบครัวพ่อแม่เดี่ยวได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในสิ่งที่สวัสดิการจากภาครัฐยังมีช่องว่าง กล่าวคือ ที่ผ่านมาการดำเนินงานของภาครัฐเน้นการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและไม่เพียงพอ ในขณะที่การแก้ปัญหาที่เน้นมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมทำให้การเกิดแก้ปัญหาแบบยั่งยืน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
                แนวคิดพื้นฐานเรื่องครอบครัว   ในปัจจุบันมีลักษณะหลากหลายมากแต่ที่สำคัญก็ยังจัดว่ามีอยู่เพียง 2 ลักษณะที่ชัดเจนคือ ครอบครัวเดี่ยว ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูก และครอบครัวขยาย ซึ่งนอกจากมีพ่อแม่ลูกแล้ว อาจมีปู่ย่าตายายและญาติอาศัยร่วมอยู่ด้วย มีผู้ให้ความหมายของครอบครัวไว้มากมาย 
                นอกจากนี้ ยังมีการให้ความหมายของครอบครัวอาจให้โดยแบ่งตามการนิยามในแง่มุมต่างๆ คือ ในแง่วัฒนธรรมและกฎหมาย   การสมรสถือเป็นเงื่อนไขของครอบครัว ซึ่งหมายถึงว่า  ครอบครัวที่ไม่มีการสมรสจะถูกถือว่าเป็นครอบครัวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีสถานภาพทางสังคม แง่สังคมวิทยา ครอบครัว คือกลุ่มที่รวมอยู่ในบ้านเดียวกัน อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวพันทางสายโลหิตหรือทางกฎหมาย แต่มีปฏิกิริยาสัมพันธ์กันให้ความรักและความเอาใจใส่ต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน ความสัมพันธ์นั้นอาจจะแน่นแฟ้นมั่นคง   หรือไม่กระชับสั่นคลอน  หรือร้าวราน  แต่ไม่ถึงกับแตกแยก ก็ยังนับว่าเป็นครอบครัว
                แง่ชีววิทยา  ครอบครัวหมายถึง  กลุ่มคนที่เกี่ยวพันกันทางสายโลหิต เช่น สามีภรรยา มีลูก ลูกเกิดจากอสุจิของบิดาผสมกับไข่สุกของมารดา  ฉะนั้น  บิดามารดากับลูกจึงเกี่ยวพันกันทางสายโลหิต แง่เศรษฐกิจ ครอบครัว คือคนที่ใช้จ่ายร่วมกัน จากเงินงบประมาณเดียวกันของบุคคลที่ทำการสมรสแล้ว แม้แยกบ้านไปอยู่ต่างหาก แต่ถือว่ายังมีพันธะทางศีลธรรมที่จะเลี้ยงดูส่งเสียเครือญาติ เช่น น้อง คือต้องส่งเสียให้เงินน้องเล่าเรียน เช่นนี้นับว่าใช้จ่ายจากงบประมาณเดียวกันและเป็นครอบครัวเดียวกัน
                อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวคิดพื้นฐานดังกล่าว นับว่าเป็นแนวคิดและนิยามที่เป็นบรรทัดฐานเชิงเดี่ยว หรือเป็นบรรทัดฐานดั้งเดิมของ ความเป็นครอบครัวซึ่งไม่น่าจะเพียงพอต่อการทำความเข้าใจสถานภาพ บทบาท ประเภท และรูปแบบครอบครัวที่หลากหลายของครอบครัวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เพราะปัจจุบันมีครอบครัวจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านการแต่งงาน   หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมกระแสหลัก   แต่แนวคิดดังกล่าวก็ยังคงมีความสำคัญในแง่ของการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
                ทฤษฏีที่เกี่ยวกับแม่เลี้ยงเดี่ยวคือ ทฤษฏีสตรีนิยม จะนิยมมุ่งเน้นที่จะทำความเข้าใจกับธรรมชาติของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง  ระบบคิดและขบวนการทางสังคมที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม   ซึ่งตั้งอยู่บนการวิเคราะห์ว่าผู้ชายอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบและสตรีอยู่ในสภาพที่เป็นรอง  จุดร่วมหลัก ของทฤษฎีนี้คือ  การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งมีลักษณะของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศมาตั้งแต่สังคมในอดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร  ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศก็ยังดูเป็นปัญหาคู่โลก  ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเนื้อหาไปบ้าง  แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือการเอารัดเอาเปรียบระหว่างเพศนั่นเอง
                ประเด็นเรื่องเพศ  เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการถูกจำกัดพื้นที่ของผู้หญิง  ต่อการกำหนดตำแหน่งที่ผู้หญิงควรอยู่ในพื้นที่ทางสังคมแต่ละแห่งตามความต้องการของกลุ่มคนที่เป็นผู้มีอำนาจในสังคม  ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสิทธิและโอกาสระหว่างชายหญิงขึ้น  หรือเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นในสังคม   การวิเคราะห์ถึงความไม่เท่าเทียมในสิทธิและโอกาสของสตรีภายใต้องค์ประกอบ  กระบวนการ  และผลกระทบของนโยบายสังคมความไม่เท่าเทียมของรายได้ของโอกาสการทำงานและโอกาสทางการศึกษา   ถือเป็นตัวอย่างของผลกระทบที่สตรีได้รับจากนโยบายสังคมที่ไม่เป็นธรรม  กระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ผู้หญิงมีบทบาทน้อยกว่าผู้ชายเป็นตัวอย่างของกระบวนการกำหนดนโยบายสังคมที่แนวคิดสตรีนิยมไม่ยอมรับ  ส่วนการจัดสวัสดิการสังคมที่จำกัดให้สตรีกลายเป็นผู้รับภาระในครัวเรือน เป็นองค์ประกอบของนโยบายสังคมที่ต้องการแก้ไข  ซึ่งในการเขียนบทความประเด็นแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ให้ความสำคัญในสองประเด็นหลัก คือ
                (1) การผลิต-การให้กำเนิด (production-reproduction) สตรีถือเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่สร้างสมาชิกใหม่และให้การเลี้ยงดู ซึ่งถือว่ามีคุณค่าเพียงแค่ให้การกำเนิด (reproductive work) ขณะที่การผลิตในเชิงเศรษฐกิจที่ถือว่ามีคุณค่าในเชิงผลิตภาพ (productive work) เป็นเรื่องของบุรุษ ภายใต้กรอบความคิดนี้นโยบายสังคมกลายเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยมในการควบคุมให้สตรีต้องอยู่ในโลกส่วนตัว หรือครอบครัวเท่านั้น สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการ ทำให้สตรีต้องทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็ก คนชรา คนป่วยตลอดไป
(2) การพึ่งพา-การพึ่งพาระหว่างกัน (dependency-interdependency) เน้นการพึ่งพาของบทบาท
ที่ทำให้สตรีกลายเป็นบุคคลที่พึ่งตนเองไม่ได้ บทบาทการเลี้ยงดูของสตรีทำให้สามีสามารถทำงานในเชิงเศรษฐกิจนอกบ้านได้และมีส่วนสร้างชาติ หน้าที่ของสวัสดิการสังคมในรูปแบบนี้ทำให้สตรีต้องเป็นฝ่ายพึ่งพาต่อไปแทนที่จะเป็นการสร้างการพึ่งพาระหว่างกัน
                การที่หัวหน้าครอบครัวเป็นหญิง  โดยเฉพาะครอบครัวแม่เดี่ยวที่มีสถานภาพสมรสเป็นหม้าย หย่า แยกกับคู่สมรสด้อยกว่าครอบครัวที่มีหัวหน้าเป็นชายนั้น  ก็เพราะครอบครัวขาดผู้หารายได้หลักที่สำคัญไปคือสามี   ทำให้มีสัดส่วนผู้พึ่งพิงในครอบครัวสูงเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีคู่สมรส  นอกจากนี้ยังมีภาระรับผิดชอบมากทั้งในบ้านและนอกบ้าน ส่งผลให้โอกาสที่จะเข้าสู่การจ้างงานในระบบที่มีค่าจ้างสูงเป็นไปได้น้อยครอบครัวแม่เดี่ยวจำนวนมากต้องเข้าสู่การจ้างงานนอกระบบที่มีอัตราค่าจ้างต่ำ  ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความยากจนของครอบครัว
                นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเป็นแรงงานที่รับงานมาทำที่บ้าน และเป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าชายถึงสามเท่าแม้ว่าจะมีหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายระหว่างสมาชิกแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยกัน  แต่ทว่าการดำเนินงานในสภาพสังคมที่ยังคงเต็มไปด้วยมายาคติ ที่บอกว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนแอทางด้านสรีระ  ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล  ไม่ฉลาดหลักแหลมเท่าผู้ชายต้องพึ่งพาอาศัยผู้ชาย มีความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย ส่งผลให้สังคมมองว่าผู้หญิงมีความสามารถน้อยกว่าผู้ชาย นำมาสู่การเลือกปฏิบัติที่ปิดกั้นโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้าของผู้หญิง ทำให้กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากต้องประสบกับความยากจน ขาดทรัพยากร เช่น ที่ดินทำกิน และเงินทุนของตัวเอง ไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีอาหารเพียงพอ และไม่มีปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพ
                กระบวนการที่ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นคนชายขอบในสังคมไทย  คือ ทุกแห่งจะมีคนชายขอบ ซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากศูนย์กลางและมิติในด้านต่างๆ ได้แก่  เศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม วัฒนธรรม และความคิดกระแสหลัก  โดยคนกลุ่มนี้ขาดอำนาจต่อรอง ขาดการศึกษา ขาดเครื่องมือที่เข้าถึงอำนาจ  และถูกกีดกันออกจากระบบการต่อรองอำนาจการจัดสรรทรัพยากรความมั่งคั่งในสังคม บริบททางเศรษฐกิจและสังคมของกระบวนการกลายเป็นชายขอบที่สำคัญคือ การใช้ประโยชน์และสร้างผลกำไรสูงสุดทางเศรษฐกิจ  โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบและความไม่เป็นธรรมในสังคม  ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตผู้คนที่นอกจากจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาในด้านต่างๆ แล้ว กลุ่มคนชายขอบดังกล่าวยังขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและการแบ่งปันผลประโยชน์จากกระบวนการพัฒนา  อีกทั้งมีโอกาสสูงที่จะตกเป็นเหยื่อ หรือผู้รับเคราะห์ของการพัฒนา แบกรับความเสี่ยง หรือผลด้านลบของการพัฒนา  หรือขัดขวางการพัฒนาทั้งในระดับย่อยและในระดับโลก การเรียนรู้การปรับตัวและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะเอาตัวรอดหรือมีชีวิตอยู่ จึงเป็นสาระสำคัญของวิถีชีวิตของประชากรชายขอบ   ความเป็นชายขอบทางสังคมนั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อน ผลักให้คนส่วนหนึ่งไร้อำนาจจนตกไปอยู่ชายขอบของสังคม แม้ว่าจะมีชีวิตอยู่ตรงศูนย์กลางของพื้นที่ในเชิงภูมิศาสตร์ ขณะเดียวกันยังหมายถึง กระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ด้วยความพยายามทำให้คนกลายเป็นสิ่งของหรือเป็นสินค้า(commoditisation)และการติดป้ายให้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในแง่ลบ (stigmatisation) รวมถึงการตีตรา (labelling) ที่เชื่อว่าการกระทำใดจะเป็นการเบี่ยงเบนหรือไม่เพียงไร ขึ้นอยู่กับสังคมที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกอยู่ เช่น สังคมระบุว่าการกระทำนั้นๆ เบี่ยงเบนหรือไม่เบี่ยงเบน ผิดหรือถูก เป็นเรื่องความรู้สึกของสังคมต่อพฤติกรรมบางอย่างซึ่งจะทำให้กลุ่มบุคคลหนึ่งมีอำนาจเหนือ   หรือได้เปรียบกลุ่มบุคคลอื่น จนเป็นการกีดกัน ลงโทษ และตีตราบุคคลนั้นๆ ว่าการกระทำนั้นๆ เป็นความผิด
การที่สังคมตีตราและนิยามให้กลุ่มดังกล่าวเป็นชายขอบของการรับรู้ ความคิด และทัศนคติของคนในสังคมตามแนวคิดกระแสหลัก  หรือการมองว่าเป็นข้อพบพร่อง เกิดจากความผิดพลาดจากการใช้ชีวิตคู่ และเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาต่างๆ ในสังคม  อันเนื่องมาจากความไม่มั่นคงของครอบครัว เช่นครอบครัวหย่าร้าง แตกแยกและส่งผลให้เด็กมีปัญหา ซึ่งล้วนแต่เป็นทัศนคติและการตีตราของสังคม และผลักดันให้กลุ่มดังกล่าวก้าวเข้าสู่กระบวนการกลายเป็นชายขอบ เป็นผลให้สังคมกำหนดบทบาทและลักษณะของครอบครัวพ่อ-แม่เดี่ยวว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส  จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่นๆ อีกทั้งไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม  ส่งผลให้การดำเนินชีวิตในสังคมของครอบครัวพ่อ-แม่เดี่ยวเป็นไปอย่างยากลำบากและไม่เป็นธรรม  แนวคิดดังกล่าวทำให้แม่เดี่ยวบางกลุ่มต้องกลายเป็นชายขอบ  อันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ส่งผลให้ประสบกับความยากจน ถูกตีตรา หรือถูกกีดกันออกจากสังคม  ในขณะที่กลุ่มแม่เดี่ยวอีกหลายกลุ่มไม่เป็นชายขอบ  เนื่องจากมีเครือข่ายทางสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  มาสนับสนุนช่วยเหลือทำให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้
ความเป็นธรรมในสังคมของแม่เลี้ยงเดี่ยว คือ  การนำแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนมาประยุกต์ใช้กับเรื่องความเป็นธรรมในสังคมของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว  เนื่องจากเป็นแนวคิดที่มุ่งเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี  กรณีครอบครัวแม่เดี่ยวจะเน้นอธิบายถึงสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.. 2550 มีหลายมาตราที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นความเสมอภาคและสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ ได้แก่ มาตรา 30 มาตรา 51 มาตรา 55 และโดยเฉพาะมาตรา 80 ซึ่งเน้นว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม  การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม เพื่อคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนสนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัยส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัวและชุมชน รวมทั้งต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้
ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับ ที่ 11 (.. 2555-2559) ได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อประเด็นความไม่เท่าเทียม  เพื่อต้องการลดช่องว่างและความแตกต่างในด้านของโอกาสและการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของภาครัฐ ดังเห็นได้จากบทที่ 3 ยุทธศาสตร์ความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งแผนดังกล่าวได้มุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ดังนี้  กลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้รับโอกาสและการพัฒนาศักยภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เข้าถึงทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆการพัฒนาเศรษฐกิจมีฐานกว้าง ครอบคลุมทั่วถึง และสร้างโอกาสำหรับกลุ่มด้อยโอกาสมากขึ้นบนหลักการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และลดช่องว่างในสังคม
ความเป็นธรรมทางสังคมในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เราทุกคนจะต้องคำนึงถึงและใส่ใจมี 2 ด้าน คือ  
 (1) ด้านเศรษฐกิจ ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร ช่วยธุรกิจครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนและการทำงานรวมกลุ่มในขณะที่ผู้ชายทำงานเป็นนายจ้าง ลูกจ้างรัฐบาล  เอกชน และทำงานส่วนตัวมากกว่าผู้หญิง การทำงานนอกภาคเกษตรเป็นงานที่ต้องการความสามารถเฉพาะตัว โดยผู้ทำงานได้รับค่าตอบแทนเป็นรายบุคคลแม้ค่าจ้างแรงงานจะเท่ากันตามกฎหมาย ซึ่งหญิง-ชายที่ทำงานลักษณะเดียวกัน ควรได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน แต่จากการสำรวจ ภาวะของการทำงานของประชากร พ.. 2548-2550 พบว่าผู้หญิงได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานนอกภาคเกษตรน้อยกว่าผู้ชายอย่างต่อเนื่องในทุกภาค ภาพโดยรวมก็คือ แม้ผู้หญิงจะมีความสามารถในการทำงาน ทัดเทียมกับผู้ชายทั้งในภาครัฐและเอกชน แต่ผู้หญิงมีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงน้อยกว่าผู้ชาย
ความไม่เท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจของผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นประเด็นที่ได้รับการวิจัยมายาวนาน เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวที่เป็นหญิงมักถูกมองว่ามีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจกว่าครอบครัวที่มีหัวหน้าเป็นชาย และความเปราะบางนี้ทำให้โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกครอบครัวมีข้อจำกัดนำไปสู่ความยากจน ดังมีงานวิจัยจำนวนมาก ที่ศึกษาหัวหน้าครอบครัวที่เป็นหญิงกับความยากจน สามารถสรุปผลสำคัญๆได้ดังนี้คือ  ครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นหญิง ไม่ว่าจะมีสถานภาพสมรสอย่างไรก็ตาม ในทางเศรษฐกิจแล้ว ด้อยกว่าครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นชาย และครอบครัวแม่เดี่ยวที่มีหญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวด้อยกว่าครอบครัวพ่อเดี่ยวที่มีชายเป็นหัวหน้าครอบครัว  สอดคล้องกับงานศึกษาเรื่องสถานภาพสมรสของหัวหน้าครัวเรือนกับความยากจน ที่พบว่า ครอบครัวที่หัวหน้าเป็นหญิงไม่มีคู่แทบจะไม่แตกต่างจากครอบครัวที่หัวหน้าเป็นชายไม่มีคู่ แต่ด้อยกว่าครอบครัวที่หัวหน้าเป็นหญิงมีคู่ และจะค่อนข้างดีกว่าครอบครัวที่หัวหน้าเป็นชายมีคู่  แม้ว่าข้อค้นพบดังกล่าวจะไม่ยืนยันชัดเจนว่าครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นหญิงโดยทั่วไปมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นชาย แต่ชี้ให้เห็นว่าครอบครัวที่หัวหน้าไม่มีคู่โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวที่เป็นหญิง มีความเปราะบางต่อความยากจนมากกว่าครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวเป็นหญิงมีคู่ ซึ่งนโยบายเพื่อลดความยากจน และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของครอบครัว ยังคงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวไม่มีคู่ โดยเฉพาะครอบครัวแม่เดี่ยวที่หัวหน้าครอบครัวเป็นหญิง
(2) ด้านสังคม  วาทกรรมเรื่องผู้หญิงกับความยากจน ผู้หญิงกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ เริ่มเป็นที่สนใจในวงวิชาการมากขึ้น  ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับสถานะและบทบาททางสังคมของผู้หญิงได้รับความสนใจไปทั่วโลก  โดยผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางสังคมมากขึ้น ที่ผ่านมามีการผลักดันประเด็นความเสมอภาคทางสังคมให้กับผู้หญิง  ส่งผลให้ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น เช่น ผู้หญิงมีโอกาสด้านการศึกษาทุกระดับและทุกสาขามีโอกาสเลือกประกอบอาชีพได้ตามความสามารถได้รับการยอมรับให้กับอาชีพที่ถูกปิดกั้น เช่น ผู้พิพากษาแพทย์ ตำรวจ  วิศวกร เป็นต้น  แต่กระนั้นผู้หญิงหลายกลุ่ม และจำนวนมากในประเทศไทย  ยังเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมและความเสมอภาคทางสังคม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้หญิง  โดยบรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519)  จนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงระบุให้การพัฒนาผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ โดยวิธีการพัฒนาผู้หญิงในประเทศไทยไม่ได้แตกต่างจากแนวทางการพัฒนาผู้หญิงในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คือ พยายามรวมผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่มุ่งก้าวไปสู่สังคมที่มั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ จึงมักเน้นให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานสะสมทุน สร้างสินค้า ฯลฯ
 ในอดีตผู้หญิงมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศน้อย อีกทั้งเป็นกลุ่มด้อยโอกาสที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการพัฒนาประเทศ  จึงวางแผนให้ผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนา โดยการส่งเสริมให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาสร้างงาน  และผลักดันเข้าสู้ตลาดแรงงาน อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับบทบาทตามประเพณีของผู้หญิง ผลที่เกิดตามมาคือผู้หญิงถูกจัดวางไว้เป็นกลุ่มแม่บ้านในโครงการพัฒนาหมู่บ้าน เน้นให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในกิจกรรมวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด  ตอกย้ำให้ผู้หญิงทำบทบาทแม่อย่างเข้มแข็ง ซึ่งตัวแบบการพัฒนาแบบ นี้ถูกครอบงำจากอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในสังคม ที่มุ่งเน้นให้ผู้หญิงปรับปรุงตัวเองให้สอดคล้องกับการพัฒนากระแสหลัก ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ขัดต่อหลักเสมอภาคระหว่างเพศหญิงและชาย ขณะที่เงื่อนไขทางประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นหญิงชายยังเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการสร้างความก้าวหน้า และความเสมอภาคให้กับ
ผู้หญิงยังไม่ได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้ แนวคิดที่ว่าชายเป็นใหญ่ในครอบครัวและแนวคิดครอบครัวปกติหัวหน้าครอบครัวจะต้องมีคู่สมรสอยู่ด้วยกัน ทำให้ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งมีหญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวเพียงลำพังไม่ปกติหรือแปลกแยก จากส่วนใหญ่ แนวคิดเช่นนี้นำไปสู่ข้อสรุปว่า  ครอบครัวที่มีหัวหน้าเป็นหญิง มักจะด้อยกว่าครอบครัวประเภทอื่นในแง่ของการมีเครือข่ายทางสังคม และการบูรณาการเข้ากับสังคม ซึ่งส่งผลถึงความอยู่ดีมีสุขของสมาชิกครอบครัวได้ จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกรอบจำกัดบทบาทของผู้หญิงให้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่สังคมได้สร้างขึ้นส่งผลให้ครอบครัวแม่เดี่ยวได้รับผลจากข้อจำกัดดังกล่าว
เมื่อกล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขในเรื่องของปัญหาครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว มีข้อเสนอแนะในแนวทางคือ 1.หน่วยงานของส่วนกลางควรจัดให้มีการสำรวจในระดับชาติเรื่องครอบครัวพ่อเดี่ยว-แม่เดี่ยว เพื่อให้ทราบถึงจำนวน และรูปแบบของการเป็นครอบครัว เช่น พ่อเดี่ยว แม่เดี่ยว และความต้องการช่วยเหลือสนับสนุนของทางภาครัฐ   2.ควรจัดให้มีหัวหน้ารับผิดชอบของโครงการในการดูแลรับผิดชอบเรื่องครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวโดยตรง เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ตรงประเด็นทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น 3.หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ควรตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมของชาย-หญิงในตลาดแรงงาน พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวให้สามารถทำหน้าที่แม่และทำงานนอกบ้านได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพสูงสุด 4. หน่วยงานของภาครัฐควรจะเน้นในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มของแม่เลี้ยงเดียวอย่างยังยืนโดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสังคม วัฒนธรรมควบคู่กับเศรษฐกิจของประเทศ 5. สำนักกิจการสตรีและครอบครัวควรสร้างความตระหนักรู้ในการลดทัศนคติของคนในสังคมที่มองว่ากลุ่มครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวโดยเฉพาะกลุ่มแม่เดี่ยว ซึ่งสังคมมองว่าแตกต่างไปจากสังคม และมีความผิดพลาดในการใช้ชีวิตคู่  ดังนั้นสังคมจึงต้องสร้างการรับรู้ใหม่ที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคมและ 6. สำนักจัดกิจการสตรีและครอบครัว ควรสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย เพื่อหาช่องทางในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวได้
จากบทความที่กล่าวมาข้างต้นนี้สรุปว่า  เราทุกคนควรจะให้ความสำคัญในเรื่องของครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวภายในประเทศไทย  เพราะการเป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในสภาพสังคมปัจจุบัน  เนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้รูปแบบของครอบครัวเปลี่ยนแปลงและมีหลากหลายมากขึ้น ทัศนะคติของคนในสังคมไทยที่มีต่อผู้หญิงที่เป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นแตกต่างกัน ทั้งในแง่มุมเชิงบวกที่เห็นอกเห็นใจและเชิดชูความเข้มแข็งของการเลี้ยงดูลูกโดยไม่พึ่งผู้ชาย และมุมมองเชิงลบที่มองว่าไม่สามารถดำรงความสัมพันธ์แบบครอบครัวปกติได้ในขณะที่การเป็นครอบครัวแม่เดี่ยวมีหลายสาเหตุ เช่น สามีเสียชีวิต แยกทาง หรือหย่าร้างกับคู่สมรส และการตกเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ทำให้สถานการณ์และมุมมองที่มีต่อครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวในแต่ละกลุ่มแตกต่างกันด้วยกระบวนการเป็นชายขอบของครอบครัว  แม่เลี้ยงเดี่ยวเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ทั้งด้านค่าแรง  บทบาท สถานภาพ การถูกตีตรา และการกีดกันความก้าวหน้า ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและกระบวนการพัฒนาของภาครัฐ  ส่งผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจของแม่เลี้ยงเดี่ยวนำไปสู่ความยากจน ขาดปัจจัยต่างๆที่จะทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม นับว่าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการดูแลป้องกันในระยะยาว  เพื่อป้องกันไม่่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น จนเป็นการเพิ่มปัญหาในรูปแบบอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีแม่เลี้ยงเดี่ยวบางกลุ่มจำนวนมากที่สังคมมีมุมมองในแง่บวก  เนื่องจากสามารถดำเนินชีวิตครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้ชาย และไม่ถูกมองว่าเป็นชายขอบ  การดำนินงานด้านนโยบายของภาครัฐ ด้านครอบครัวยังไปแทรกอยู่กับภารกิจของหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นต้น  ซึ่งหลายหน่วยงานต้องทำภารกิจของตัวเองก่อน ทำให้ไม่มีเจ้าภาพหลักในการดูแลรับผิดชอบเรื่องครอบครัวโดยตรง  อีกประการที่พบจากการศึกษาคือ เมื่อความต้องการของประชาชนไม่สามารถตอบสนองได้ด้วยนโยบายภาครัฐ  จึงเกิดความพยายามในการสร้างพื้นที่ของตนเอง เพื่อแสดงถึงพลังและการปรับตัว เพื่อชีวิตอยู่ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเกิดเป็นกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่พยายามส่งเสริม ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ในประเด็นครอบครัวพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยวขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะช่วยเปิดช่องทางให้สังคมไทยได้เรียนรู้จากทุกๆ ส่วนของสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างแท้จริง และมีส่วนร่วมในสังคมได้มากขึ้นทำให้สามารถเข้าใจความจริงในสิ่งที่เป็นอยู่ของกลุ่มคนดังกล่าว และจุดมุ่งหมายสำคัญอีกประการของผู้ที่ทำงานในด้านนี้คือ การลดทัศนคติของสังคมที่มองว่ากลุ่มครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่าง แปลกแยกเป็นข้อผิดพลาดจากการใช้ชีวิตครอบครัว จนเกิดเป็นการตีตรา หรือมีมุมมองทางความคิดว่ากลุ่มคนดังกล่าว เป็นจุดมืดของสังคม ซึ่งความคิดดังกล่าวควรได้รับการขจัดให้หมดไปอย่างโดยเร็ว เพื่อให้กลุ่มครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวกลุ่มนี้สามารถอาศัยอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง
1.       คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ.(2537).ครอบครัว.กรุงเทพฯ:สำนักนายกรัฐมนตรี
2.      สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2550). การสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร .กรุงเทพ ฯ: สำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
3.    สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2554). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ..2555.กรุงเทพฯ:สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแนวคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม.เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
5.     อานันท์  กาญจนพันธุ์. (2549). การต่อสู้เพื่อความเป็นคนของคนชายขอบในสังคมไทย.
6.     สุริชัย  หวันแก้ว. (2550). คนชายขอบจากความคิดสู่ความจริง.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7.     สุพัตรา สุภาพ.(2546).ปัญหาสังคม.กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิชจำกัด
8.    บุษกร กาศมณี. (2552). วาทกรรมแม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมไทย.กรุงเทพฯ:สำนักงานภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
9.    มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว.(2551).สุขแบบ……single parent.กรุงเทพฯ:บริษัท รักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น