วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเด็น ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยผ่านประชากรชายขอบ นาย สุทธิเกียรติ เชาวนันตกุล รหัสนิสิต 53242711


บทความวิชาการ
ประเด็น  ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยผ่านประชากรชายขอบ
รายวิชา 830329 ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา
นาย สุทธิเกียรติ เชาวนันตกุล  รหัสนิสิต 53242711 ชั้นปีที่ 3
คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาพัฒนาสังคม  มหาวิทยาลัยนเรศวร
………………………………………………………………………………..
ประเทศไทยในอดีตนับว่ามีจำนวนประชากรที่เป็นประชากรชายขอบอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คนเหล่านี้กับไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากสังคมเลย  แต่คนในสังคมกับยอมรับความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคระหว่างคนแต่ละชนชั้นเป็นหลักสำคัญในแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม  ทำให้ความเป็นในสังคมไทยมีลักษณะดังนี้1.การมองหาความเป็นธรรมทางศีลธรรมภายใต้กฎแห่งกรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละบุคคล  2.เข้าใจความเป็นธรรมอย่างสัมพันธ์กับวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ 3.ยอมรับความยุติธรรมที่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคม และ4.ความพยายามสร้างความเป็นธรรมทางสังคมให้เกิดขึ้น  แต่ด้วยเหตุที่กลุ่มประชากรชายขอบในสังคมไทยยังถูกมองว่าแตกต่างไปจากเดิม  ดังนั้นความเป็นธรรมทางสังคมจึงเชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการตระหนักถึงความเท่าเทียมในการเป็นมนุษย์  และการกระจายผลตอบแทนหรือผลประโยชน์จากทางสังคมตามสถานภาพอย่างเหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่ห่างไกลความเป็นจริงในสังคมไทยอย่างยิ่ง
การศึกษากลุ่มคนชายขอบในสังคมไทยกลุ่มประชากรที่เรียกว่าคนชายขอบได้รับความสนใจศึกษาใสังคมศาสตร์หลากหลายสาขา  ทั้งสังคมวิทยามานุษยวิทยา ประชากรศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ในช่วงแรกของการศึกษาคนชายขอบอาจกล่าวได้ว่ามุ่งสนใจความเป็นชายขอบในทางพื้นที่ คือ คนที่อยู่ในชนบทห่างไกลจากศูนย์กลาง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างของคนเหล่านั้น เพื่อการผสมกลมกลืนเข้าเป็นคนในรัฐชาติไทย จากนั้นค่อยขยับมาศึกษาคนชายขอบในพื้นที่อื่นๆ เช่น การเมืองการปกครอง วัฒนธรรม  สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจ โดยใช้แนวคิดหลายสำนักที่วิพากษ์การพัฒนาไปสู่ความทันสมัยและลัทธิก้าวหน้านิยม (progressivism) ที่ส่งผลกระทบต่างๆนานาต่อคนในสังคมอย่างขนานใหญ่ การศึกษาคนชายขอบตามความคิดข้างต้นนี้จึงได้แก่  การศึกษาชาวเขาบนกลุ่มน้อยบนพื้นที่สูง คนยากคนจน ทั้งชาวนาชาวไร่ในชนบท และคนจนเมืองในสลัม โดยเฉพาะในมิติของภาวะด้อยโอกาสไร้ที่พึ่ง ความทุกข์ยากวังวนของปัญหา และการทอดทิ้งคนเหล่านี้ให้ตกอยู่ในภาวะชายขอบ
ต่อมาภายหลังจึงได้ขยับขยายประเด็นคนชายขอบไปสู่การศึกษาวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายจากคนกลุ่มใหญ่ของสังคมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นคนเก็บขยะ  คนขอทาน คนพิการ หาบเร่แผงลอย คนถีบสามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถบรรทุก เด็กขายพวงมาลัย  เด็กเร่ร่อน หญิง/เด็กชายขายบริการ ชาวนาไร้ที่ดิน แรงงานข้ามชาติ  แรงงานเหมาช่วง ผู้ป่วยเอดส์ คนไร้รัฐ คนพลัดถิ่น  ผู้หญิงคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ เป็นต้น และมุ่งสนใจศึกษาคนชายขอบเหล่านี้ด้วยแนวคิดและมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้นเช่นกัน  เช่นงานที่ศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของกลุ่มที่ถูกกดทับไว้ (Subaltern Studies) ซึ่งสนใจการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของคนชั้นล่างหรือคนชายขอบที่ถูกกดทับจากกระบวนการต่างๆ  ในสังคมและศึกษากลไกของการก่อรูปสถานะที่เป็นอื่นให้กับกลุ่ม subaltern ที่ไม่สามารถพูดเรื่องของตัวเองได้ เนื่องจากถูกคนอื่นกำหนดอัตลักษณ์ที่เป็นอื่นให้ รวมทั้งถูกพูดถึง เขียนถึง และบันทึกไว้โดยคนอื่น
งานส่วนใหญ่ในแนวการศึกษาดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นถึงประสบการณ์ของการถูกทำให้เป็นคนชายขอบ กระบวนการทอดทิ้งและเบียดขับให้คนบางกลุ่มเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะชายขอบ หรือเป็นคนอื่นของสังคม  การอยู่ในสภาวะที่ไร้อำนาจต่อรองในการใช้ชีวิต การเรียกร้องต่อสู้ด้านสิทธิและความเป็นธรรม  การสร้างและผลิตซ้ำภาพเหมารวมตายตัวของคนชายขอบกลุ่มต่างๆ การขาดโอกาสในการเข้าร่วมตัดสินใจเรื่องต่างๆ และเข้าไม่ถึงส่วนแบ่งทรัพยากรจากภาครัฐ  ทั้งหมดล้วนสะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมที่กลุ่มคนชายขอบกำลังเผชิญ ด้วยการเปิดเผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนชายขอบกับโครงสร้างเชิงอำนาจของสถาบันต่างๆในสังคม  และสะท้อนให้เห็นกระบวนการจัดการความเป็นธรรมในสังคมและประสบการณ์ที่ไม่เป็นธรรมของคนชายขอบนั่นเอง
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงคนชายขอบ  เช่น คนจน ซึ่งถือว่าเป็นชนชายขอบในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ฯลฯ นอกจากนี้ คนจนยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในความยากจนมากมายเช่น รายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิต มาตรฐานการครองชีพ  ภาวะโภชนาการ การศึกษา เส้นแบ่งความยากจนคุณภาพชีวิต ฯลฯ ตัวชี้วัดดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดความยากจน และส่งผลกระทบต่อการถูกเลือกปฏิบัติตามมาปัญหาความไม่เป็นธรรมของคนจนจึงได้แก่  การได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ คือไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ต้องแบกรับความเสี่ยงในการผลิตทั้งหมดเอง ถูกเพิกถอนสิทธิพื้นฐานให้เข้าไม่ถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ มีมาตรฐานการครองชีพที่ต่ำ ทั้งทางด้านสุขภาวะ การศึกษา และเศรษฐกิจ และคนจนเหล่านี้ไม่มีอำนาจต่อรองทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งไม่ได้รับและเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมในสังคมด้วย
ว่าด้วยการเป็นประชากรชายขอบในสังคมไทยคือ คนชายขอบเกิดขึ้นในสังคมหนึ่งๆ ได้ด้วยหลายวิธีคิด หนึ่งในนั้นคือ แนวคิดคู่ตรงข้ามที่แบ่งแยกเรา-เขา คนใน-คนนอก ทำให้เกิดการรวมเอาคนที่มีอัตลักษณ์ร่วมไว้เป็นพวกเดียวกัน  และกีดกันคนบางกลุ่มที่มีความแตกต่างให้กลายเป็นคนนอก เป็นคนอื่น สังคมไทยซึ่งผ่านกระบวนการสร้างชาติด้วยวิธีรวมเอาคนที่เคยมีอัตลักษณ์ทางภาษา วัฒนธรรม  ชาติพันธุ์ ฯลฯ หลากหลายแตกต่างกันให้มายึดถือเอกลักษณ์แห่งชาติร่วมกันเพื่อสร้างความเหมือนๆ  กันให้กับคนในชาติเดียวกัน จึงได้สร้างแนวคิดที่มองความแตกต่างหรือความไม่เหมือนกับเอกลักษณ์ของชาติเป็นคนอื่น ทั้งยังสร้างภาพเหมารวมเชิงอคติต่อคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม ชาติพันธุ์ และศาสนา และฝังใจว่าคนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นมีลักษณะบางอย่างที่แปลกแยกแตกต่างกับคนส่วนใหญ่เสมอมา
ที่สำคัญก็คือ คนส่วนใหญ่ในสังคมยังเห็นว่าการถูกเลือกปฏิบัติ  ถูกแสวงประโยชน์เชิงโครงสร้างจากรัฐในรูปแบบต่างๆ การถูกกีดกัน แย่งชิงทรัพยากร หรืออยู่ในอันดับท้ายๆ  ของการจัดสรรทรัพยากรโดยภาครัฐการไม่ได้รับสิทธิหรือเข้าไม่ถึงบริการต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งการดำรงชีวิตอยู่อย่างลำบาก  แร้นแค้น ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตของกลุ่มคนชายขอบเหล่านี้ เป็นเพียงความไม่เป็นธรรมที่เป็นปัญหาของคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง สังคมส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึก เดือดเนื้อร้อนใจหรือห่วงใยกังวลไม่ได้คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์พื้น ฐานของสังคมที่ทุกคนมีเสมอเหมือนกัน ไม่ยินดียินร้ายในชะตากรรม หรือเป็นทุกข์แทนคนเหล่านั้นแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน   การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ปากท้อง ราคาพืชผล ของชาวนาชาวไร่และคนยากจน  การชุมนุมประท้วงเพื่อยุติโครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งเขื่อน โรงไฟฟ้า  ท่าเรือ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ของชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ การเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ของแรงงาน หรือ กรณีการถูก เพิกถอนสัญชาติของคนที่อยู่อาศัยในอำเภอแม่อาย จังหวัด เชียงใหม่ การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
การมองให้เห็นคนชายขอบที่อยู่นอกสายตาของรัฐในสังคมไทย จึงไม่ได้เพียงมุ่งความสนใจไปยังผู้คนในพื้นที่ห่างไกลศูนย์กลางอย่างชายแดนทางภูมิศาสตร์เท่านั้น  หากแต่ยังต้องคำนึงถึงมิติที่ซับซ้อนของการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ด้วยการรับรู้ถึงผู้คนที่อยู่ชายขอบในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม รวมทั้งผู้คนที่อยู่นอกการรับรู้ของสังคมส่วนใหญ่อีกด้วย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการมองให้เห็นคนชายขอบเหล่านี้ก็คือ  การเปลี่ยนทัศนคติที่เคยมองว่าการเป็นคนชายขอบเป็นความไม่เท่าเทียมตามธรรมชาติที่ปกติธรรมดา เป็นความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกสังคม อาจจะเนื่องจากชาติกำเนิด โชค เคราะห์กรรม ฯลฯ ไปสู่การเข้าใจปรากฏการณ์ไม่เป็นธรรมที่คนชายขอบเผชิญอย่างสัมพันธ์กับโครงสร้างเชิงอำนาจรูปแบบต่างๆ ที่กำหนดให้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้ดำรงอยู่ได้
กระบวนการที่ทำให้เป็นชายขอบในสังคมไทย  คือกระบวนการที่ทำให้เป็นคนบางกลุ่มกลายเป็นคนชายขอบ รวมทั้งการสร้างภาวะชายขอบให้กับคนบางกลุ่มในสังคมไทยนั้น  สัมพันธ์กับหลากหลายมิติ ทั้งทางภูมิศาสตร์ การเมือง สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ฯลฯ ดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ กระบวนการทำให้เป็นชายขอบที่สัมพันธ์กับโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย  ซึ่งผู้มีอำนาจครอบนำการจัดประเภทกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม โดยรวมเอาผู้ที่มีอัตลักษณ์เหมือนๆ กันไว้และกีดกันคนที่มีอัตลักษณ์แปลกต่างจากคนส่วนใหญ่ให้ไปอยู่ชายขอบของสังคม กระบวนการที่ทั้งผลักคนออกและรวมคนไว้ให้อยู่ในภาวะชายขอบของสังคมไทยที่ว่านี้ ได้แก่
(1) กระบวนการสร้างรัฐชาติไทย และกระบวนการสร้างความเป็นไทย (Thai-isation) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยการก่อตัวของรัฐชาติและลัทธิชาตินิยมที่มีการสถาปนาความเป็นรัฐขึ้น มีการกำหนดดินแดนอาณาเขตและลากเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ สำรวจรวมผู้คนไว้ในรัฐชาติเดียว อยู่ภายใต้ระบบการปกครองเดียวกันทั้งประเทศ และสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติที่เป็นแบบแผนเดียวกันให้ทุกคนยึดถือร่วมกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะนำไปสู่เอกราชหรือความเป็นชาติเดียวกันได้ ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ต่างวัฒนธรรมที่เคยอาศัยอยู่ปะปนกันในดินแดนแถบนี้จำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นคนชายขอบและต้องตกอยู่ในภาวะชายขอบไปโดยปริยาย  เนื่องจากมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากมาตรฐานของศูนย์กลาง และมีชีวิตประจำวันที่ต่างออกไปจากวัฒนธรรมแห่งชาติ  ซึ่งมักจะอยู่ภายใต้วาทกรรมที่ว่า เพราะไม่เหมือนจึงไม่เป็นไทย และมักนำไปสู่ความเชื่อว่าความแตกต่างเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้โดยง่าย
(2) การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย (modernisation) แม้สังคมไทยจะได้ชื่อว่าไม่ได้ตกอยู่ในอาณานิคมของมหาอำนาจชาติใด แต่กระบวนการพัฒนาประเทศให้เป็นตะวันตก (westernisation)และการทำให้ไทยเป็นชาติทันสมัยด้วยเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยม  เป็นแนวทางพัฒนาหลักที่รัฐไทยใช้สร้างประเทศ เช่นเดียวกับการพัฒนาที่เป็นกระแสหลักของโลก  ภายใต้การดำเนินนโยบายพัฒนาด้วยระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม คือเลือกปฏิบัติ ให้ความสำคัญกับเขตเมืองส่วนกลางมากกว่าภาคชนบทส่งเสริมอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม  หรือเลือกที่จะส่งเสริมบางส่วนของภาคเกษตร ทำให้คนบางกลุ่มถูกทอดทิ้ง ถูกกันออกจากกระแสพัฒนา ไม่ถูกให้ความสำคัญ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการพัฒนาเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น กลายเป็นผู้ด้อยโอกาสจากการพัฒนาเศรษฐกิจ
(3) การขยายตัวของทุนนิยมและกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalisation) เมื่อสังคมไทยขับเคลื่อนไปด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี  ที่ยังมีข้อโต้แย้งในแง่ของความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรและความต้องการผ่านกลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรที่ดีที่สุด และนำไปสู่ การสร้างความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางกีดกันให้คนบางกลุ่มไร้อำนาจต่อรองกับตลาดกลายเป็นคนชายขอบ  ขณะเดียวกันภายใต้การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เศรษฐกิจทุนนิยมไร้พรมแดนแผ่ขยายครอบโลกอย่างเสรี ก็มีข้อสังเกตว่ายิ่งแสดงให้เห็นความขัดแย้งกับประชาธิปไตย และยิ่งขยายช่องว่างระหว่างชนชั้นและความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในสังคม   ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนและคนรวยที่ห่างกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาวะชายขอบที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์จึงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกผู้คนทุกหนทุกแห่ง และในรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แม้จะอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม การศึกษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ทางเศรษฐกิจ  ในแง่นี้ ความเป็นคนชายขอบจึงไม่ได้เป็นเพียงการถูกกันให้ไปอยู่ในตำแหน่งทางสังคมที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ หรืออำนาจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความรู้และความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาอธิบาย กลายเป็นสามัญสำนึกที่รับรู้และเข้าใจกันโดยไม่ต้องตั้งคำถาม คนชายขอบเองก็อาจจะรับหรืออ้างอิงไปเป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเองด้วย รวมทั้งมีการต่อต้าน โต้แย้ง ปฏิเสธในเวลาเดียวกัน การทำความเข้าใจหรือมองให้เห็นปรากฏการณ์ของคนชายขอบ  อันรวมถึงความเป็นคนชายขอบ และกระบวนการทำให้เป็นคนชายขอบนั้นจึงมักเน้นการศึกษาให้ครอบคลุมถึงวาทกรรมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่กำหนดความหมายทางสังคมและภาพฝังใจที่ตายตัวให้กับคนกลุ่มต่างๆ ร่วมด้วย
กล่าวโดยสรุปเห็นได้ว่าปัญหาของการจัดประเภทคนบางกลุ่ม  เป็นคนชายขอบนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการใช้อำนาจในโครงสร้างความสัมพันธ์ที่คนส่วนใหญ่มีเหนือกว่าในรูป แบบต่างๆ สร้างวาทกรรมที่กำหนดการรับรู้การจัดประเภทและแนวคิดจำแนกแยกพวก (exclusion) คนในสังคมขึ้น โดยปฏิบัติการเชิงอำนาจของวาทกรรมการจำแนกแยกพวกในมิติต่างๆ ยังทรงอิทธิพลอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมไทยมาตราบจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าจัดการปัญหาบางอย่างเช่น ปัญหาความมั่นคง ปัญหายาเสพติด และปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น  ทั้งยังมีกลุ่มคนที่ตกอยู่ในภาวะชายขอบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในสังคมสมัยใหม่ เช่น แม่วัยรุ่น พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุผู้ติดเชื้อเอดส์/เอชไอวี ผู้ติดยาเสพติด คนรักเพศเดียวกัน ที่ถือเป็นคนชายขอบในสวัสดิการสังคม เป็นต้น
จากคนชายขอบสู่วัฒนธรรมความยุติธรรมในสังคมไทยคือ  การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยผ่านการปฏิบัติกับประชากรชายขอบนั้นสมควรพิจารณาถึงวัฒนธรรมความยุติธรรมในสังคมไทยควบคู่ไปด้วย  เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของการให้ความหมายกับความยุติธรรม ความคิดเรื่องความเป็นธรรมที่มีนัยยะหมายถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงส่วนแบ่งทรัพยากรและคนด้อยโอกาสควรมีสิทธิได้รับบริการจากรัฐให้สามารถมีชีวิตและโอกาสที่เท่าเทียมกับคนอื่นนั้น  เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็มีความคิดความเชื่อหลายประการที่มองไม่เห็นว่าทุกคนในสังคมมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และควรมีสิทธิได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี ภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมอุปถัมภ์และระบบศีลธรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีคำสอนในเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม มีแต่เพียงคำสอนให้ปฏิบัติหน้าที่แบบต่างตอบแทนต่อกันของผู้ที่อยู่ในสถานภาพต่างๆกัน  สังคมไทยจึงไม่เคยมีความคิดเรื่องความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมเป็นแก่นสำคัญในแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามความยุติธรรมในสังคมไทยหมายถึงการยอมรับความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคระหว่างคนในแต่ละชั้นทางสังคม  โดยให้อำนาจผู้นำในแต่ละยุคสมัยเป็นผู้จัดสรรความยุติธรรมกล่าวคือ ความยุติธรรมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีที่มาจากพุทธศาสนา ความยุติธรรมคือความถูกต้องตามหลักธรรมะของพุทธศาสนา และเป็นฐานทางความคิดให้แก่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน  เนื่องจากพระมหากษัตริย์ซึ่งมีความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองนั้น เป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรม  ประชากรไทยไม่เคยเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน และเป็นปัจเจกชนไร้สังกัดที่มีความสัมพันธ์กันตามแนวนอนแต่อย่างใด   ลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรมในสังคมไทย อาจแยกออกได้เป็นส่วนๆ ดังนี้    ความเป็นธรรมภายใต้ระบบศีลธรรมและศาสนา คือการที่สังคมไทย ไม่รู้สึกอ่อนไหว ต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคมนั้น ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนาที่ไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อที่อธิบายโลกธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นระบบความเชื่อทางศีลธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลด้วยหลักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุคือ การกระทำ (กรรม) กับผลของการกระทำนั้นๆ (วิบาก) ที่ดำเนินไปตามกระบวนแห่งเหตุปัจจัย โลกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาและความทุกข์ จึงต้องข้ามไปด้วยการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นและเชื่อว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
ทัศนะเรื่องความยุติธรรมของสังคมไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธเถรวาท เนื่องจากศาสนาพุทธยอมรับความเป็นธรรมตามกฎแห่งกรรม ความยุติธรรมในทางพุทธศาสนาไม่ได้ตัดสินโดยยึดความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นเกณฑ์ ไม่ได้ถือว่าผู้ทำความผิดเดียวกันย่อมได้รับโทษเดียวกันเช่นในทางกฎหมาย แต่อยู่ที่กรรมที่ทำมาของแต่ละคน ใครทำกรรมมาอย่างไรก็ควรได้รับผลอย่างนั้น ทุกคนเสมอภาคกันในแง่ของโอกาสในการทำความดีและการได้รับผลกรรมตามที่ทำไว้ ซึ่งสามารถข้ามภพไปยังโลกหน้าได้ด้วย ในแง่นี้กรรมจึงเป็นพื้นฐานความคิดสำคัญในการพิจารณาเรื่องความเป็นธรรม ความยุติธรรมที่อิงอยู่กับกฎศีลธรรมมีลักษณะดังนี้คือ 1.ใช้กฎแห่งกรรมหรือหลักทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นหลักประกันความยุติธรรม นั่นคือการยอมรับว่ามีความดีและความชั่วที่เป็นภววิสัยอยู่จริงไม่ใช่เรื่องของสังคมวัฒนธรรม กรรมที่มนุษย์กระทำด้วยเจตนาไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมมีผลจริงเป็นความสุขหรือทุกข์ในที่สุด สิ่งนี้คือกฎสากลแห่งความยุติธรรมสูงสุดเป็นหลักประกันว่า ทุกคนจะได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน  โดยนัยนี้ คำสอนเรื่องกรรมเปิดโอกาสให้ความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ในทุกมิติกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องที่เหมาะสมและเป็นธรรม การแบ่งชนชั้นและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นเรื่องธรรมดา และชอบธรรมแล้วตามกฎแห่งกรรม และ 2. การผนวกแนวคิดเรื่องกรรมกับการเกิดใหม่เข้าด้วยกันเป็นความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดซึ่งแม้จะเป็นคำอธิบายเพิ่มเติมและยืนยันว่าการรับผลของกรรมนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแต่ก็กลายเป็นข้อโต้แย้งต่อความคิดเรื่องความยุติธรรมทางศีลธรรมของพุทธศาสนาในหลายประเด็นเช่น การรับผลกรรมในโลกหน้านั้นขัดต่อหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมที่ผู้ถูกลงโทษต้องรู้และเข้าใจความผิดของตัวเอง แต่การเกิดใหม่โดยมีผลกรรมบางอย่างติดตัวไปด้วยนั้นไม่ได้ส่งผลต่อความก้าวหน้าทางศีลธรรม ส่งผลไปสู่การมองว่า กรรมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเองตามยถากรรม มองทุกข์ที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละคน แยกตัวโดดเดี่ยวจากคนอื่น ทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นความรับผิดชอบตามกฎศีลธรรม หน้าที่ของแต่ละคนคือสร้างกรรมให้ดีที่สุด และไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องกับความสุขหรือความทุกข์ของคนอื่น เพราะเป็นผลกรรมของแต่ละคน หากมองแง่นี้ การแก้ไขปัญหาสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เพราะไปละเมิดกฎแห่งความเป็นธรรมแม้ตรรกะของคำสอนทางพุทธศาสนาลักษณะนี้จะชี้นำให้ยอมรับความแตกต่างที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตปัจจุบันมากกว่าความเข้าใจว่า ความไม่เท่าเทียมกันและการกดขี่ทางสังคมบางอย่างแสดงถึงความไม่เป็นธรรมแต่อาจสรุปได้ว่า ภายใต้ความเป็นธรรมทางสังคมในทัศนะของศาสนาพุทธนั้น การกระทำใดๆ ที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลในธรรมชาติ (ปฏิจจสมุปบาท) ก็ถือว่าถูกต้องและเป็นธรรม ความเป็นธรรมจึงหมายถึง การที่บุคคลได้รับผล (ประโยชน์) ตอบแทนตามความเหมาะสมแห่งเหตุปัจจัยสถานภาพและการกระทำของตน และมีความเป็นธรรมอยู่ 2 ระดับ คือ ความยุติธรรมทางศีลธรรมหรือความยุติธรรมตามธรรมชาติที่อิงอยู่กับคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม และความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งหมายถึง ความเที่ยงธรรม(fairness) ในด้านต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในสังคม การกระจายรายได้หรือสวัสดิภาพทางสังคมและการได้รับโอกาสในการพัฒนาชีวิตไปตามเป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของปัจเจกบุคคลด้วย
ความเป็นธรรมภายใต้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ คือความสัมพันธ์ทางสังคม และอาจรวมถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจทางการเมืองของไทยในช่วงที่เป็นรัฐก่อนสมัยใหม่นั้นอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับไพร่ ซึ่งกำลังคนในปกครองมีความสำคัญมากกว่าเชื้อชาติ  ความสัมพันธ์ทางสังคมของรัฐไทยโบราณนั้นเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจความภักดีค่อนข้างแคบและเปราะบาง ด้วยขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของชนชั้นปกครอง ดังนั้นในความสัมพันธ์แบบบรรณาการและกลไกการควบคุมกำลังคนที่ไม่ได้มีผลสัมฤทธิ์นัก วิถีทางวัฒนธรรมหรือความสัมพันธ์แบบนายบ่าวที่ถูกกำกับโดยคุณธรรมทางศาสนา จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการยึดโยงความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้ให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะการเลิกควบคุมกำลังคนเข้าไว้ในสังกัด ระบบขึ้นต่อศูนย์อำนาจหลวมๆ แบบเก่าถูกแทนที่ด้วยการใช้แนวคิดแบบอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนแบบใหม่  มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมที่กลายเป็นกลไกการใช้อำนาจตามบรรทัดฐานใหม่ในการปกครอง  นั่นคือประมวลกฎหมายฉบับต่างๆ ซึ่งกลายเป็นเส้นแบ่งสำคัญระหว่างหน้าที่สาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนตัว  แต่วัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ยังคงมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายทางสังคมที่ประกอบด้วยคนในชนชั้น สถานะ และฐานะสูงต่ำไม่เท่ากัน การยืนยันสิทธิและความเสมอภาคระหว่างบุคคลไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด   ความคิดเรื่องความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องของแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างคนในชั้นทางสังคมที่มีสถานภาพ (ตามชาติกำเนิด) อำนาจ และสิทธิไม่เท่าเทียมกัน โดยคนในแต่ละชั้น ทางสังคมรับรู้อัตลักษณ์สถานภาพ และหน้าที่ที่แตกต่างของตัวเอง ผ่านการสร้างระบบสัญลักษณ์ พิธีกรรม และวิธีปฏิบัติต่างๆของรัฐในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้ยอมรับว่า  ความยุติธรรมคือการได้และการเสียสิ่งต่างๆ ตามสถานภาพทางสังคมที่ตนมีอยู่ ความไม่เสมอภาคจึงเป็นสิ่งที่ยุติธรรม
โดยนัย พุทธศาสนาไม่ได้เป็นรากฐานของความยุติธรรมอีกต่อไป หากแต่เป็นพระปัญญาบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ผู้มีชาติกำเนิดเป็นเจ้า’ (royalty) ดังที่สมเด็จ ฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้แจงว่า เฉพาะคนที่เกิดมาเป็นเจ้าเท่านั้นที่มี ‘ideal’ ซึ่งแปลว่าศีลธรรมผู้นำหรือพระมหากษัตริย์จึงย่อมมีศีลธรรมสูงส่งเหนือผู้อื่น ส่วนประชาชนคือคนที่ยังโง่อยู่ ย่อมไม่รู้ว่าอะไรคือความยุติธรรม ต้องรอให้พระมหากษัตริย์ทรงอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดแก่ชีวิตของทุกคนในรัฐ    ดังนั้น พระบรมราชโองการคือแหล่งที่มาของความยุติธรรมชีวิตของประชาชนจึงขึ้นอยู่กับ ความยุติธรรมที่รัฐเป็นผู้อำนวยให้มากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การได้รางวัลและการลงโทษมาจากรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น
ความเป็นธรรมในยุคตามผู้นำอิทธิพลของวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่ส่งผ่านและยังคงหลงเหลืออยู่ในแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมของไทยนั้นทำให้การจัดสรรอำนาจ ทรัพยากร และผลประโยชน์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มีลักษณะเล่นพรรคเล่นพวกซึ่งทำให้การปกครองโดยหลักนิติธรรมพัฒนาได้ช้ามากในสังคมไทย  ดังที่ปรากฏว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.. 2475 แนวคิดสำคัญหนึ่งที่มีอิทธิพลในการสร้างรัฐชาติไทยก็คือ ลัทธิผู้นำ (Elitism) ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาชาติขึ้นอยู่กับผู้นำที่มีบุคลิกภาพพิเศษ  รวมทั้งมีสติปัญญาและคุณธรรมเหนือกว่าผู้อื่นผู้นำชาติจึงสำคัญต่อชะตากรรมของคนในชาติ  มีอำนาจสูงสุดที่จะปกครองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข หรืออยู่ดีกินดี นำไปสู่การยอมรับอำนาจและความสำคัญของผู้นำ  โดยเฉพาะในฐานะผู้อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนเสมอหน้ากันตามแต่สถานภาพ
ความยุติธรรมในที่นี้  จึงเป็นความไม่เสมอภาคโดยไม่ขัดต่อค่านิยมเชิงศีลธรรมที่ยึดถือกันอยู่ในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นการรู้จักที่ต่ำที่สูง ความกตัญญูกตเวที ความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความเสียสละ การถือว่าส่วนรวมสำคัญว่าส่วนย่อย ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐสามารถกระทำการใดๆ ในนามของผลประโยชน์ของชาติหรือสังคมส่วนรวมได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ดังที่หลวงวิจิตรวาทการระบุว่าสิทธิที่จะทำอะไรตามใจชอบโดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมนั้นควรรอนเสียได้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะถ้าปล่อยให้ประโยชน์ส่วนตัวบุคคลขัดกับประโยชน์ส่วนรวมอยู่ได้แล้ว ก็เป็นทางแห่งความล่มจมของชาติ ดังนั้น ภายในสังคมไทย  เรียกว่า สังคมอินทรียภาพแบบพุทธนั้นมีแนวคิดพื้นฐานที่เน้นว่า สังคมจะปกติสุขและเคลื่อนตัวพัฒนาไปได้ก็ต่อเมื่อหน่วยต่างๆ ของสังคมรู้จักหน้าที่ของตนและทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน (harmony) เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน   ความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ต้องประสานสอดคล้องกันจึงจะไม่เจ็บป่วย สังคมไทยจึงประกอบด้วยผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำนั้นในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเชื่อฟังผู้ นำและการรับ ผลประโยชน์จากการทำหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างกันนั้นจึงเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นของบุคคลที่สังกัดขึ้นต่อผู้อื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพซึ่ง   เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของปัจเจกชน
ดังจะได้เห็นได้ชัดเจนในเรื่องผลกระทบสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ก็คือ การผลักกรรมกรและชาวนาให้กลายเป็นชนชายขอบผู้อยู่ห่างไกลจากการได้รับความยุติธรรม ขณะที่ผู้นำรัฐยังคงอยู่ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรม ซึ่งยังคงมีความหมายอย่างแคบที่เป็นเพียงการทำหน้าที่และแสวงหาความเจริญก้าวหน้าของตนตามชั้นทางสังคมนั้นๆ โดยไม่ก้าวก่ายผู้อื่น ความยุติธรรมจึงไม่ได้หมายถึงการกระจายรายได้อย่างเสมอภาค ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเสรีในภาคเศรษฐกิจ ไม่รังเกียจที่จะใช้ความสัมพันธ์ที่เป็นคุณในระบบอุปถัมภ์ซึ่งไม่เสมอภาคและขาดเสรีภาพในการแลกเปลี่ยน ในแง่นี้ ความยุติธรรมจึงไม่ได้หมายถึงความเป็นธรรมทางสังคมแต่อย่างใด
ความยุติธรรมสมัยใหม่และความเป็นธรรมทางสังคมระบบยุติธรรมในสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศใน พ.. 2475 เมื่อเปลี่ยนอำนาจตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งมาจากปวงชนชาวไทย แทนที่จะมาจากพระมหากษัตริย์ดังแต่ก่อน พระมหากษัตริย์เป็นเพียงผู้ใช้อำนาจตุลาการทางศาลในนามของปวงชนชาวไทย  และเป็นการใช้อำนาจภายใต้กฎหมายที่บัญญัติขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญถึงสิทธิในชีวิตในเสรีภาพ ในทรัพย์สิน หน้าที่ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ความคิดสำคัญที่แฝงอยู่ในระบบยุติธรรมปัจจุบันคือ distributive justice ซึ่งเกี่ยวพันกับการแบ่งสรรปันส่วนสิทธิอำนาจหน้าที่ และภาระความรับผิดชอบในหมู่สมาชิกของสังคม
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่ามีการขยายตัวของปริมณฑลสาธารณะ ภาคประชาสังคม และการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะการขยายตัวของสิทธิทางการเมือง (political right) และสิทธิพลเมือง (civil right) นำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องและผลักดันประเด็นปัญหาภายใต้แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในมิติของความเท่าเทียมเสมอภาคกันทางสังคม ทั้งนี้อาจเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในสังคมไทยอย่างขนานใหญ่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาเช่น พื้นฐานเศรษฐกิจของภาคเอกชนพัฒนาเข้มแข็งขึ้น การขยายตัวเพิ่มขึ้นของความรู้และวิชาชีพต่างๆขณะที่ภาคเกษตรกรรมในชนบทก็มีการเคลื่อนตัวและขยายประสบการณ์กว้างขวาง  การแบ่งแยกชนชั้นสูงต่ำตามฐานะทางเศรษฐกิจและรสนิยมทางวัฒนธรรมคลายตัวลง เปิดพื้นที่ให้อัตลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นมากขึ้น  การเคารพสิทธิพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาคประชาสังคมขยายตัวกว้างขวางในทุกประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะในฐานะพลังต่อรองกับภาครัฐและภาคเศรษฐกิจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ค่านิยมของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นปัจเจกชนสูงขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งรู้สึกมีส่วนร่วม กล้าแสดงออก และแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการพัฒนาภายใต้แนวคิดก้าวหน้านิยม (progressivism) ทำให้เกิดคำถามในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนหรือตลาดด้วยการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กลับส่งผลเป็นความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ความมั่งคั่งและอิทธิพลครอบนำของอภิสิทธิ์ชน การเมืองที่ยุติธรรม และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามและตรวจสอบความไม่เป็นธรรมในมิติทางสังคมวัฒนธรรมและมิติอื่นๆ  มากขึ้น ทั้งยังกล่าวได้ว่า กระบวนทัศน์ในเรื่องความเป็นธรรมของสังคมไทยยังได้รับอิทธิพลจากการขับเคลื่อนความคิดและการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับสากล ทั้งจากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณภาพชีวิต การเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐาน การแก้ปัญหาความยากจนความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้ประเด็นความเป็นธรรมทางสังคมกลายเป็นประเด็นถกเถียงและถูกผลักดันอย่างกว้างขวางในสังคมตลอดมา  โดยเฉพาะในการต่อสู้เรื่องสิทธิสังคมสิทธิชุมชน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมทางการเมือง และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการต่อสู้ต่อรองระหว่างรัฐและการเมืองภาคประชาชนอย่างกว้างขวางในช่วงหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี พ.. 2540
               

ความคิดเรื่องความเป็นธรรมในสังคมสมัยใหม่  ไม่เพียงเกิดขึ้นบนพื้นฐานความคิดที่มองว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเสมอภาค มีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน  หากแต่ยังอยู่บนพื้นฐานความคิด เรื่องอื่นๆ เช่น หลักการพื้นฐานของแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ถือเป็นหลักการสากล ที่ถือว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และมีศักดิ์ศรีมาตั้งแต่เกิดเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม และยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ ทั้งในด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษาศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ชาติ ทรัพย์สิน ชาติกำเนิด หรือสถานภาพทางสังคม มนุษย์ทุกคนจึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน  ได้รับโอกาสและสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกันที่จะได้รับส่วนแบ่งในการจัดสรรทรัพยากรและการดูแลจากสังคม มีโอกาสในการเลือกดำเนินชีวิตเท่าๆ กัน รวมทั้งการรับภาระมากน้อยแตกต่างกันตามสถานะและพยายามที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมด้วยกระบวนการให้เหตุผลที่เป็นทางโลกมากขึ้นกว่าทางศาสนา ทั้งนี้เพื่อให้คนด้อยโอกาสที่สุดในสังคมสามารถเข้าถึงได้เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและโอกาสให้ทัดเทียมกับคนอื่น โดยรัฐมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรให้เท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี ในภาคปฏิบัติการของวัฒนธรรมยุติธรรมในสังคมไทยนั้น แม้ในระบบกฎหมายไทยจะมีพัฒนาการจากการสร้างระบบเพื่อนำไปสู่การมีกฎหมาย การบังคับใช้ และการตีความชี้ขาดโดยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามกฎหมาย และแม้ว่าในกฎหมายระดับต่างๆ  จะมีมาตราว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคม แต่ความเท่าเทียมเสมอภาคกันในสังคมไทยยังเป็นเพียงอุดมคติของความเป็นธรรมทางสังคม  เนื่องจากมักจะพบเห็นสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมในชีวิตประจำวันได้เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรชายขอบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนยากจน ได้แก่ ชาวนาชาวไร่   เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินแรงงานรับจ้าง คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นประชากรชายขอบในมิติของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และมักจะต้องเสียสละหรือถูกเอารัดเอาเปรียบในนามของการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเหล่านั้นน้อยมาก กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินไปอย่างอิสระบนพื้นฐานความยุติธรรมเสมอไป หากแต่สัมพันธ์อย่างยิ่งกับมิติทางการเมือง  สังคมและวัฒนธรรม ดังกรณีของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในสังคมไทย ซึ่งเป็นคนชายขอบในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ เนื่องจากมักอาศัยอยู่ตามพรมแดน หรืออาจข้ามไปมาระหว่างรัฐ   ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่ใช้อำนาจในการตั้งถิ่นฐาน การกำหนดสถานะพลเมือง การเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐาน   สิทธิในการได้รับสัญชาติฯลฯ หรือกรณีชนมลายูมุสลิมที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอิสลาม การกำหนดนโยบายทางวัฒนธรรมภายใต้วิธีคิดที่อิงอยู่กับพุทธศาสนาและวิถีไทยภาคกลาง จึงเป็นการครอบนำและกีดกันอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่ส่งผลเป็นความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่จนทุกวันนี้
จากบทความที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมผ่านประชากรชายขอบนั้น ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยมองความเป็นธรรมในความหมายที่แตกต่างๆกัน   มีทั้งที่เป็นความเป็นธรรมทางศีลธรรมภายใต้กฎแห่งกรรมของพุทธศาสนา  ความยุติธรรมตามพันธะของระบบควบคุมคนในสังกัดหรือวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ความยุติธรรมที่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและอำนาจที่มีเหนือกว่าทั้งอำนาจทางการเมืองการปกครองทางสังคมวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเป็นธรรมทางสังคมที่อิงกับสิทธิมนุษยชน และการจัดสรรทรัพยากรของสังคมให้คนด้อยโอกาสหรือคนที่ถูกกดทับไว้ในสังคมได้รับโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกับคนอื่นๆ แต่ในกลุ่มประชากรที่เรียกว่าประชากรชายขอบ  ที่ซึ่งความยุติธรรม ความเจริญก้าวหน้า โอกาสในการดำรงชีวิต สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความเสมอภาคเท่าเทียมจากศูนย์กลางยังส่องลงไปไม่ถึงนั้น เป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นการปะทะกันของความคิดว่าด้วยความเป็นธรรมในลักษณะและความหมายต่างๆ ชัดเจนที่สุด
สังคมไทยมีการศึกษาปรากฏการณ์ปัญหาของกลุ่มคนชายขอบไม่น้อย   ทั้งในแง่ของกระบวนการเป็นคนชายขอบที่เกิดขึ้นได้ใน 2 ทิศทางตรงข้ามกัน คือ เกิดจากการถูกกีดกัน ถูกทำให้ไร้อำนาจ และถูกตีตรา  ทำให้แปลกแยกจากสังคมส่วนใหญ่และกลายเป็นคนชายขอบในที่สุด   และการเป็นคนชายขอบที่เกิดจากการถูกดึงให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการ โดยเฉพาะการพัฒนา   แต่กลับนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ที่แปลกแยกและเป็นคนชายขอบในแง่ของการศึกษา ถึงบริบทและเงื่อนไขปัจจัยของการทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนชายขอบ เช่น การสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติที่กดความแตกต่างของชนกลุ่มต่างๆ ไว้ภายใต้ความเหมือนของเอกลักษณ์ไทย  การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ และความพยายามสร้างอัตลักษณ์ความหมายของคนกลุ่มต่างๆ  ในสังคมสมัยใหม่ และในแง่ของการเผชิญความไม่เป็นธรรมลักษณะต่างๆของคนชายขอบ เช่น การถูกรอนหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ได้รับหรือถูกบิดเบือนความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม  การต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิในการร่วมจัดสรรทรัพยากรของสังคม  การไม่ได้รับการยอมรับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมในอัตลักษณ์ที่แตกต่าง เป็นต้น  ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมของกลุ่มประชากรชายขอบทั้งที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย คนไร้รัฐ คนพลัดถิ่นแรงงานข้ามชาติ คนหลากหลายทางเพศ คนยากคนจน ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม  การยอมรับในอัตลักษณ์การสร้างความหมายและการสร้างพื้นที่ทางสังคม หรือการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานและบริการสังคมก็ตาม  ต่างสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งคำถามกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยสร้างความรู้และภาพความจริงให้กับสังคมและคนกลุ่มต่างๆ  ในสังคม และได้รับการปฏิบัติอย่างแตกต่างกันจากความแตกต่างของคนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นความเป็นธรรมทางสังคมซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นๆอย่างเสมอภาคกัน และทุกคนพร้อมที่จะกระจายผลประโยชน์และภาระรับผิดชอบทางสังคมตามสถานภาพอย่างเหมาะสมนั้น ดูจะเป็นความเป็นธรรมที่ห่างไกลความเป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับคนชายขอบ   ด้วยเหตุที่สังคมไทยยังคงมองคนชายขอบจากแง่มุมของความแตกต่าง ความเป็นอื่น และแทบจะไม่มีทางเท่าเทียมกันได้เลย

เอกสารอ้างอิง
1. กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์.(2553).ทฤษฎีความยุติธรรมของจอห์น รอลว์ส = John Rawls’A Theory Of Justice. เอกสารคำสอนวิชา สค.313 หลักและวิธีการสังคมสงเคราะห์ 3 ภาค 1/2553.คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
2. จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย.(2545).ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม. เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการเรื่องกระบวนการยุติธรรมกับปัญหาความยากจนในสังคมไทย วันที่ 6 กันยายน 2545.กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
3. ชูศักดิ์ วิทยาภัค (บรรณาธิการ).(2541).บทนำ: สังคมศาสตร์กับการศึกษาคนชายขอบ.
4. ธีรยุทธ บุญมี.(2548).การเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม การเมือง ครั้งที่ 2 ของไทย. กรุงเทพฯ: สายสาร.
5. สุริชัย หวันแก้ว.(2546).กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
6. เสกสรร ประเสริฐกุล.(2553).การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
7. อานันท์ กาญจนพันธุ์.(2549).การต่อสู้เพื่อความเป็นคนของคนชายขอบในสังคมไทย. ใน อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). อยู่ชายขอบมองลอดความรู้ (หน้า 3-32).กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.
8. http://www.prachatai3.info/journal/2011/05/34433

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น