วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาการค้าสุนัขข้ามชาติ นายวสันต์ ชูช้าง รหัสนิสิต 53242490

     บทความวิชาการ
เรื่อง ปัญหาการค้าสุนัขข้ามชาติ
        รายวิชา ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา(830329
  โดย นายวสันต์ ชูช้าง  รหัสนิสิต  53242490
 
_______________________________________________________________

ประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมการกินของแต่ละประเทศทั่วโลกย่อมแตกต่างกัน แต่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและจับตามาทางแถบเอเชีย นั่นก็เพราะมีวัฒนธรรมการบริโภคที่ต่างออกไปนั่นก็คือ วัฒนธรรมการบริโภค เนื้อสุนัขซึ่งตลาดใหญ่ๆ ที่นิยม และซื้อขายเนื้อสุนัขกันจนเป็นเรื่องปกติคงหนีไม่พ้นประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม หรือแม้กระทั่งประเทศไทยของเราเอง การบริโภคเนื้อสุนัขไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประเทศจีนเพิ่งพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่ามนุษย์มีการบริโภคเนื้อสุนัขมานานกว่า 3,000 ปีแล้ว ซึ่งในหลายประเทศการบริโภคเนื้อสุนัขถือเป็นเรื่องปกติ  เช่น จีน และเวียดนามที่มีการเปิดภัตตาคารเมนูจานเด็ดที่มีวัตถุดิบหลักมาจากเนื้อสุนัขล้วนๆ เลยทีเดียว  แต่สำหรับประเทศไทยความนิยมบริโภคเนื้อสุนัขแม้จะไม่แพร่หลายเท่าประเทศอื่นๆ  แต่ก็ขึ้นชื่อเรื่องการลักลอบส่งออกเนื้อสุนัขไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเห็นได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ และด้วยความต้องการเนื้อสุนัขเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้เกิดช่องทางอาชีพใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ ขบวนการค้าสุนัข  ที่จะคอยกว้านซื้อสุนัขตัวเป็นๆ ในแถบชนบทของประเทศ โดยอาชีพนี้สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับกลุ่มนายทุนที่ยึดจับอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี  กลายเป็นภาพที่มีให้เห็นจนชินตาไปเสียแล้ว สำหรับรถกระบะที่มีลำโพงขยายเสียงติดอยู่ด้านบน กับถ้อยคำเชิญชวนที่คนขับรถประกาศบอกชาวบ้านในแถบต่างจังหวัดว่า หมาดุ หมาดื้อ หมากัดคน เอามาแลกกะละมังไปใช้ กะละมัง ไม่ดื้อไม่กัดคน มีประโยชน์มากกว่าหมาดื้อๆ   สุนัขตัวแล้วตัวเล่าถูกยัดแน่นอยู่ท้ายรถกระบะ บางตัวอาจจะเคยเป็นหมานักเลงเจ้าถิ่น แต่เมื่อถูกจับยัดรวมกัน พวกมันไม่แม้แต่จะขู่ หรือกัดกัน  มีเพียงแต่เสียงร้องโอดครวญด้วยความกลัวที่ดังก้องพร้อมกับคำประกาศของคนขับรถ   แล้วกะละมังเฝ้าบ้านแทนสุนัขได้ไหม? แลกชีวิตหนึ่งชีวิตที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เพื่อกะละมังใบเดียวคุ้มแล้วหรือ
            แววตาที่ดูเศร้าสร้อย ลิ้นที่ห้อยเหยียดยาว น้ำลายยืดย้อย และหอบแฮกๆ ตลอดเวลาของบรรดาสุนัขที่ถูกยัดทะนานกันอยู่ในกรงแคบๆ ขนาดเพียง 40-45 ซม. กว่าพันตัว กลายภาพแห่งความหวังที่พวกมันสามารถรอดพ้นจากการเป็นอาหารจานโปรดของนักชิมในประเทศเวียดนาม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและด่านกักกันสัตว์ จ.นครพนม ช่วยชีวิตให้รอดพ้นคมมีดได้หวุดหวิด แต่สุนัขบางตัวก็ต้องพิการและตายไประหว่างที่มนุษย์กำลังยัดเยียดความตายให้พวกมัน!!
            การค้าหมาเพื่อบริโภค เริ่มทำเป็นธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสันในไทยกว่า 20 ปีมาแล้ว โดยมีตลาดใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียว อยู่ที่บ้านท่าแร่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ด้วยการตระเวนจับหมาวัด หมาจรจัด หรือหมาที่ชาวบ้านอยากกำจัด ชำแหละขายราคาถูก เพื่อส่งออกไปขายประเทศเวียดนาม สร้างรายได้กำไรงามให้คนหันมาทำธุรกิจนี้กันมากขึ้นจนวัตถุดิบเริ่มหายากขึ้น เพราะมีการกว้านซื้อหมาด้วยการแลกถัง แม้แต่หมาที่เจ้าของเผลอก็ตกเป็นเหยื่อไปด้วย
             ทำให้มีเจ้าของหมาจาก กทม.มาตามหาสุนัขที่หายไป แล้วมาพบอยู่ในคอกที่บ้านท่าแร่กำลังจะถูกส่งออกไปเวียดนาม จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดจับผู้ค้าสุนัขและช่วยชีวิตเจ้าตูบมาไว้ได้กว่า 3,000 ตัว แต่ปัจจุบันมีรอดชีวิตอยู่เพียงไม่กี่สิบตัวเท่านั้น
             การตรวจยึดสุนัขครั้งฮือฮาที่สุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2546 ชุด ฉก.ของกรมปศุสัตว์ ตรวจพบมีการลำเลียงหมาที่ริมแม่น้ำโขง บริเวณท่าต้นยาง ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม จึงเข้ายึดสุนัขที่เหลือจำนวน 802 ตัวไว้เป็นของกลาง และคาดว่าถูกลำเลียงข้ามไปแล้วกว่า 300 ตัว คดีนี้ ศาลตัดสินคดีด้วยการสั่งปรับเจ้าของสุนัขไม่กี่พันบาท และให้คืนของกลาง แต่เนื่องจากสุนัขเหลือไม่กี่ตัว คดีนี้จึงยุติกันไป
            ถัดมาอีกเพียง 3 เดือน เจ้าหน้าที่ตรวจยึดสุนัขได้ 420 ตัวที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ตายไป 40 ตัวเหลือเพียง 380 ตัว คดีนี้ศาลมีคำสั่งปรับเจ้าของสุนัขและให้เจ้าหน้าที่คืนของกลาง ซึ่งทางด่านเรียกร้องให้ผู้ค้าหมาจ่ายค่าอาหารหมาระหว่างดูแลประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท แต่ผู้ค้าไม่ยอม แต่ในที่สุดสุนัขชุดนี้ก็มีผู้ใจดีขอซื้อไปดูแลแจกจ่ายด้วยเงิน 7,000 บาท เหลือมีชีวิตรอดจริงๆ ไม่ถึง 50 ตัว
            ในห้วงปี 2547 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ทั้ง ตชด. ทหารเรือ และตำรวจภูธร ตรวจยึดสุนัขได้ในเขต จ.สกลนคร อุดรธานี หนองคาย และนครสวรรค์ รวมแล้วประมาณ 300 กว่าตัว แต่สุดท้ายด้วยความอ่อนแอในการถูกขังถูกทรมาน ทำให้หมาเหล่านี้ตายไปเกือบทั้งหมด บางส่วนก็ต้องคืนเจ้าของตามคำสั่งศาล เพราะการกล่าวโทษทำได้เพียง ทรมานสัตว์ ค้าสัตว์โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่ฉีดวัคซีน และอื่นๆ ที่ถือเป็นข้อหาเล็กๆ เสียค่าปรับไม่กี่พันบาทก็จบกันไป
           จากนั้นก็มีการตรวจพบการค้าสุนัขอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ตรวจพบฟาร์มสุนัขขนาดใหญ่ อยู่ชายป่าแห่งหนึ่งในเขตบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม มีสุนัขกว่าหนึ่งพันตัวถูกขังอยู่ในกรงขนาดใหญ่ เตรียมพร้อมส่งออกทันทีที่ได้รับสัญญาณว่า "ทางโล่ง"!!
           ธุรกิจค้าสุนัขเติบโตไปควบคู่กับการขโมยหมา เพราะเมื่อมีราคางามและหายากขึ้น จากที่เคยรับเฉพาะสุนัขพันธุ์ทาง กลับเป็นขโมยไม่เลือกรุ่นเลือกขนาดหรือสายพันธุ์ อย่างเมื่อกลางดึกวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา มีโจรขโมยหมา 3 คนถูกจับกุม ขณะเข้าไปขโมยสุนัขในหมู่บ้าน ชาวบ้านช่วยกันจับตัวไว้ได้ บนรถพบหมาไทย 10 ตัว เชือกบ่วงและหนังสติ๊ก สารภาพว่า ขโมยหมาไปขายตัวละ 300-350 บาท
           ธุรกิจการค้าสุนัขข้ามชาติขยับขยายใหญ่โตมากขึ้น ถึงขั้นมีผู้ค้ารายใหญ่ในพื้นที่ท่าแร่รายหนึ่งถูกลอบยิงเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีนายทุนจากประเทศเวียดนามมาตั้งคอกเอง ที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางคนไทย แต่มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งรับหน้าเสื่อการเคลียร์เจ้าหน้าที่ให้ มีการดาวน์รถกระบะพร้อมจัดทีมออกตระเวนแลกซื้อหมาทั่วทุกภาคของประเทศไทย หากใครไม่มีทุน เจ้าของคอกก็จะออกทุนให้ก่อน ได้หมาแล้วค่อยมาหักลบกลบหนี้
          "รายได้จากการขายหมา ทำให้ชาวบ้านหลายคนจากไม่มีอะไรเลย มีรถขับ มีบ้านอยู่ แม้แต่กรรมกรแบกหามหมาขึ้นลงรถก็มีรายได้ดีไปด้วย ส่วนที่ได้เป็นกอบเป็นกำก็เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบพื้นที่ ตลอดเส้นทางขนหมาข้ามโขง ซึ่งจะต้องเคลียร์กันเที่ยวต่อเที่ยว ที่มีบทบาทน้อยหน่อยก็อาจเคลียร์เป็นเดือน" แหล่งข่าวค้าสุนัขรายหนึ่งกล่าว
          กว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีสุนัขส่งออกหลายหมื่นตัว แม้บางตัวจะโชคดีที่ช่วยเหลือไว้ได้ แต่โอกาสรอดก็แทบริบหรี่เต็มที แต่คราวนี้สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยได้เข้ามาช่วยดูแลอย่างเป็นระบบ มีการคัดแยกสุนัขตามสภาพ ทยอยติดหมายเลขทำปลอกคอรหัสชื่อ ถ่ายรูปทำประวัติ ฉีดวัคซีน ทำหมันทุกตัว ด้วยความหวังว่า พวกมันจะมีโอกาสรอดชีวิตกว่าทุกๆ ครั้ง
          มนุษย์เรา ผูกพันกับ สุนัข ในฐานะ ที่เป็น สัตว์เลี้ยงประจำบ้าน (Companion animals) มาช้านาน  มนุษย์ เลี้ยงดู ไว้เป็นเพื่อน  คลายเหงา  เลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน  เลี้ยงไว้สงเคราะห์ ทำบุญ  ทำให้ความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสุนัข อยู่ในระดับใกล้ชิด   การที่สุนัขมีประสาทสัมผัสที่ไวมากทำให้สุนัข มี  คุณค่าในด้านใช้ล่าสัตว์ ใช้เป็นสุนัขตำรวจ ใช้เป็นสุนัขสงคราม ใช้สะกดรอยตามหาคนหรือสิ่งของ ใช้ให้เฝ้าเวรยาม ใช้ให้รักษาความปลอดภัย และใช้ให้ค้นหายาเสพติด เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วเราก็ยังใช้สุนัขให้ทำหน้าที่นำทางคนตาบอดและนำทางคนพิการ  ใช้เป็นสุนัขลากเลื่อนในต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้วในทางการแพทย์ มีการศึกษาวิจัย การเลี้ยงสุนัข ที่นำมาใช้เพื่อช่วยบำบัดโรคจิตประสาทให้แก่ผู้ป่วยโรคจิตอีกด้วย
          ในขณะที่อีกฟาก มนุษย์ ผูกพัน กับ สัตว์เศรษฐกิจ  ได้แก่  สุกร โค กระบือ แพะ แกะ นกกระจอกเทศ ฯลฯ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้เลี้ยงดูเช่นกันแต่เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภค   จึงเป็นความสัมพันธ์ในระยะห่างใกล้ประโยชน์ของสัตว์เหล่านั้น จึงมีเพียงการเป็นอาหารให้มนุษย์เท่านั้น   สัตว์ ชนิดอื่นๆบนโลกล้วนถูกมนุษย์ในฐานะผู้ล่าที่แข็งแรงจับกินเรียบไม่ว่าสัตว์แปลกสัตว์ป่าก็ล้วนถูกเปิบพิสดารเกือบทุกชนิดมาแล้วโดยถ้วนทั่ว   
          การบริโภคสุนัขยังคงมีในประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้ง เวียดนาม จีน  เกาหลี  หรือแม้แต่คนไทยเองก็มีบางกลุ่มที่นิยมบริโภคสุนัขสัตว์แสนรู้เพื่อนที่แสนดีของเราๆ ท่านๆ  ทำให้เกิดธุรกิจการค้าสุนัขข้ามชาติซึ่งมีมานานหลายปีดำเนินการแบบเป็นล่ำเป็นสันในเขตพื้นที่ภาคอีสานและภูมิภาคของประเทศในการคัดสรรคัดเลือกสุนัขไม่จำกัดสายพันธุ์ไม่จำกัดอายุโดยมีจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งพักขนาดใหญ่และส่งผ่านไปประเทศเพื่อนบ้านผ่านจังหวัดนครพนมแต่ละปีมีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้าน(สุนัขราคาหลักร้อยในประเทศแต่เมื่อข้ามฝั่งไปแล้วราคาขยับขึ้นไปเป็นหลักพัน )
         ข่าวการจับกุมการค้าสุนัขข้ามชาติมีมาอย่างต่อเนื่องผ่านมาในหลายๆปีและเงียบหายไปบ้างในบางช่วงจนกระทั่งกระแสข่าวถูกปลุกขึ้นมาจากปลายปีที่แล้วต่อเนื่องจนมาถึงปีนี้ข่าวคราวการจับกุมมีความถี่เพิ่มขึ้นและในครั้งนี้ก็เพิ่มปริมาณสุนัขจำนวนกว่า  6,000 ตัวตามที่เสนอผ่านสื่อ สร้างความสะเทือนใจ ให้กับกลุ่มคนรักสัตว์กลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์ NGO  ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการคัดค้านต่อต้านการค้า การบริโภคสุนัขผ่านทางสื่อสังคมรวมถึงสังคมออนไลน์ให้เราเห็นกันถ้วนทั่วโดยให้เหตุผลว่าการกระทำ เหล่านั้นเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์ที่มีความใกล้ชิดผูกพันต่อมนุษย์สุนัขเป็นเพื่อที่ดีที่สุดของมนุษย์และ บ้านเราเมืองเราเป็นเมืองพุทธไม่ควรมีการกระทำที่โหดร้ายทารุณเช่นนี้ เกิดขึ้น  
        นักวิชาการท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องการค้าการบริโภคสุนัขไว้อย่างน่าคิดว่า สิทธิในการกินเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในความเป็นจริงสัตว์ในโลกนี้ทุกชนิดไม่ควรถูกกินถูกฆ่า แต่ไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งแยกว่าสัตว์ประเภทไหนควรถูกกินและไม่ถูกกิน เพราะบอกว่าสัตว์ประเภทนี้ใกล้ชิดมนุษย์มากกว่าหรือสัตว์บางประเภทเกิดมาเพื่อถูกมนุษย์กินเป็นอาหารของมนุษย์โดยธรรมชาติ รวมถึงเสนอ แนะการให้เหตุผลในการที่จะบริโภคหรืองดการบริโภคสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งไว้อย่างน่าฟังว่า  " การให้เหตุผลของการกินสัตว์หนึ่งไม่กินสัตว์หนึ่งขอให้เหตุผลที่เท่าเทียมกัน ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่ถูกกำกับด้วยการแบ่งแยกความดีความเลวของคนจากการกินควรให้เป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรมที่เท่าเทียมกันของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้หรือถ้าเป็นเหตุผลในเรื่องการสูญพันธ์ในสัตว์บางชนิดการทารุณกรรมสัตว์ในด้านของพ่อค้าสุนัขกลุ่มผู้ดำเนินการก็ได้ให้ความคิดความเห็นผ่านรายการโทรทัศน์ชื่อดังช่องน้อยสีไว้ว่า การค้าสุนัขเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัวยอมรับว่าสังคมบางส่วนไม่ยอมรับการค้าสุนัขดีกว่าการค้ายาเสพย์ติด ? ”
      ขณะที่โลกแห่งความเป็นจริง ยังมีอีกหลายชีวิตก้มหน้ารับชะตากรรมในความเดียดฉันท์จากสังคม เมื่อกลุ่มผู้ค้าสุนัขถูกกล่าวหาว่า "อำมหิต" จนต้องหยุดธุรกิจการงานของตัวเองชั่วคราว รายรับหลายหมื่นบาทต้องหยุดชะงัก แต่เงินต้นและดอกเบี้ยจากรถกระบะเงินผ่อน ที่ถอยออกมาใช้ทำมาหากินไม่ได้หยุดไปด้วย เงินทองที่สะสมมาก็เริ่มร่อยหรอ รถกำลังจะถูกยึด หนี้สินกำลังเพิ่มพูน ไม่มีใครสนใจใคร่ถามว่า พรุ่งนี้พวกเขาจะเป็นอย่างไร?
        "สายทอง ลาลุน" พ่อค้าสุนัขวัยชราบ้านท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ผู้สร้างฐานะจากธุรกิจค้าสุนัขจนส่งเสียเลี้ยงดูลูกๆ จนจบปริญญาตรี เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ธุรกิจนี้ว่า จากคนที่กินเนื้อสุนัข ตามวัฒนธรรมการบริโภคที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เริ่มมาเป็นผู้ชำแหละขายกินกันเองในกลุ่มชาวท่าแร่ จนมาถึงช่วงประมาณปี 2545 มีพ่อค้าชาวเวียดนามเดินทางมาติดต่อขอซื้อสุนัขจำนวนมาก หลังจากรับออร์เดอร์ ก็วางเครือข่ายไปตามจังหวัดต่างๆ กว่า 20 จังหวัด ออกรถไปตระเวนรับแลกสุนัขตามหมู่บ้าน
        ธุรกิจรับแลกสุนัขล็อตแรกผ่านไปได้ด้วยดี ต่อมาก็มีออร์เดอร์จากเวียดนามหลั่งไหลเข้ามาจนรับไม่ไหว ต้องแบ่งออร์เดอร์ให้แก่ผู้ค้ารายอื่นๆ ขณะเดียวกัน "สายทอง" ก็เริ่มขยายกิจการ และเครือข่าย มีการดาวน์รถกระบะพร้อมอุปการณ์รับแลกสุนัขครบครัน บวกกับค่าน้ำมันและอาหารอีก 1.3 หมื่นบาทต่อคันต่อเที่ยว ใช้เงินทุนหมุนเวียนเดือนละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท เมื่อหักลบกลบหนี้แล้ว รถรับแลกสุนัขคันหนึ่งจะทำกำไร 5,000-6,000 บาท ต่อการออกตระเวน 3 วัน นับเป็นรายได้ที่ดีมาก จนขยายเป็นเครือข่ายขยายไปกว่า 20 จังหวัด ปัจจุบันมีรถที่นำสุนัขมาส่งที่ท่าแร่กว่า 5,000 คัน
         "บางคนลงทุนเอาโฉนดที่ดินไปจำนองธนาคารเพื่อเอาเงินมาดาวน์รถกระบะ วิ่งตระเวนรับแลกหมา เนื่องจากเห็นเพื่อนบ้านทำแล้วมีรายได้ดี แต่พอชะงักใครจะรับผิดชอบชีวิตครอบครัวเขาจากนี้ไป ถ้ารถและที่ดินถูกยึด น่าสงสารน้อยกว่าหมาตรงไหน ตอนนี้หมามีที่อยู่ มีคนช่วยสิบกว่าล้านบาท ทำไมไม่มีใครเอาเงินมาช่วยคนที่กำลังจะไม่มีที่อยู่บ้าง" สายทอง ตัดพ้อ
         ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ทางการเข้มงวดกวดขันจับกุมการออกตระเวนรับแลกสุนัข และสกัดกั้นเส้นทางการส่งออก ทำให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่เป็นเจ้าของรถตระเวนรับแลกสุนัขได้รับความลำบาก บางรายถูกยึดรถไปแล้วเนื่องจากไม่มีรายได้มาส่งรถ บางรายกำลังจะถูกยึดทั้งรถและบ้านที่อยู่อาศัย ครอบครัวต้องอดมื้อกินมื้อ
        "มีใครเห็นอกเห็นใจคนเหล่านี้บ้าง พวกเราทำมาหากินกันอย่างสุจริตไม่ได้เป็นภาระของรัฐบาล แต่ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในขณะนี้ อยากให้รัฐบาลของพวกเราหาทางช่วยเหลือด้วย" สายทอง วิงวอน
         สายทองเสนอว่า กรมปศุสัตว์ ควรออกใบอนุญาตค้าสุนัข เช่นเดียวกับการค้าโคและกระบือ ชาวบ้านจะได้ไม่ลักลอบทำกัน ทั้งนี้ รายได้จากการค้าสุนัข ทำเงินเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 500 ล้านบาท แต่ละเดือนมีการส่งออกสุนัขอย่างต่ำเดือนละ 5 หมื่นตัว ราคาตัวละ 450 บาท ก็ตกเดือนละ 20 กว่าล้านบาทแล้ว
          "แต่อาชีพนี้สังคมไม่ยอมรับ อ้างว่าทำเสื่อมเสียภาพลักษณ์ของประเทศ ภาพลักษณ์ทำให้ท้องอิ่มได้ไหม คนมีการศึกษามีอาชีพดีๆ ก็พูดได้ แต่คนจนเรียนน้อยมาทำอาชีพค้าหมาเลี้ยงปากท้อง ทำไมต้องถูกหาว่าอำมหิต" สายทอง น้อยใจในโชคชะตา
          "ความรู้แค่นี้จะไปทำงานที่ไหนได้เงินเดือนหมื่นห้า" หนึ่งในเครือข่ายธุรกิจค้าหมาเสริม ด้าน "ศวง เดชาเลิศ" ข้าราชการครูบำนาญ ชาวท่าแร่ มองว่า รัฐบาลควรมีความชัดเจนในการกำหนดนโยบายในระยะยาว และอยากให้เวลาต่อกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้ มีโอกาสปรับตัวหาอาชีพอื่นก่อนสัก 5-6 ปี แล้วค่อยวางมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาจเป็นการหาทางออกแบบ "ช่วยชีวิตหมา ปรานีชีวิตคน"
        บ้านท่าแร่เวลานี้ จะพบเห็นรถปิกอัพที่ต่อกระบะด้านข้างสูง มีไม้กระดานรองพาดทำเป็นรถสองชั้นสามชั้น ที่มองนิดเดียวก็รู้ว่าเป็น "รถหมาแลกถัง" จอดเรียงรายกว่าร้อยคัน ส่วนบรรดาเจ้าของรถ ก็จะมานั่งรวมตัวกัน ด้วยสีหน้าและแววตาเศร้าสร้อย สิ้นหวัง บางคนเหลือบตามองรถด้วยสายตาเหม่อลอย และถอนหายใจเป็นระยะ
        “ธุรกิจค้าและส่งออกสุนัขมีมานานหลายปีแล้วซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงปัจจุบันนี้มีกลุ่มผู้ค้าและส่งออกสุนัขที่ทำเป็นธุรกิจใหญ่ประมาณ 4-5 ราย ทั้งนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดนครพนม อดีตส.ส. และอดีตรัฐมนตรีเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังซึ่งเงินที่ได้จากการส่งออกสุนัขก็จะนำมาจ่ายให้แก่ข้าราชการที่คอร์รัปชันคอยปิดหูปิดตาไม่รู้ไม่เห็นกับการลักลอบขนส่งแล้วก็นำเงินมาใช้ซื้อเสียงในการหาเสียงแต่ละครั้ง 
        ผู้ใดที่ยังสำคัญว่าการต่อต้านการค้าเนื้อและหนังสุนัขเป็นเรื่องระหว่างคนรักสัตว์กับสิทธิในการบริโภคเป็นเรื่องของความฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภคให้ต้องเสี่ยงต่อสุขอนามัยโดยกลุ่มคนที่เห็นแก่ได้และฉวยโอกาสกอบโกยจากปัญหาของสังคม เป็นบ่อนทำลายศีลธรรมจรรยาของเยาวชนโดยไม่คำนึงถึงความอัปยศอดสู่ที่ได้นำมาสู่สังคมและคนไทยทั้งประเทศ
        ในขณะที่หน่วยงานต่างๆได้ปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างมีคุณธรรมมากขึ้น กลับยังมีคนกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสกอบโกยรายได้จากสุนัขที่น่าสงสารโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและภาพลักษณ์ของประเทศ จนนานาอารยประเทศมองว่าสังคมไทยตกต่ำถึงขนาดสนับสนุนให้ทำการค้าหาประโยชน์จากสุนัขโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขจรจัด
        หลังจากมีกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการ กำหนดควบคุมการค้าสัตว์และซากสัตว์ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ. ศ. 2546 กองบังคับการตำรวจทางหลวงได้ให้การสนับสนุนโดยประกาศห้ามขนย้ายสุนัขนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไป ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้ให้ความสำคัญโดยประกาศห้ามการค้าและการชำแหละเนื้อสุนัข แต่กลับถูกกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์กดดันอย่างหนัก ด้วยการออกมาประท้วงและร้องเรียนไปยังกระทรวงมหาดไทย ผู้ที่หนุนหลังมีทั้งอดีต ส. ส. เทศมนตรี อบต. ท่าแร่ และข้าราชการท้องถิ่น เป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องยอมอ่อนข้อด้วยการยกเลิกประกาศดังกล่าว
       ระหว่างที่หลายฝ่ายพยายามเร่งแก้ปัญหา การจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตค้าสุนัขและแมวหรือซากสุนัขและแมว กลับไม่มีความคืบหน้า ด้วยฝ่ายกฎหมายกรมปศุสัตว์เห็นว่า การห้ามค้าเนื้อและหนังสุนัขอาจเป็นการละเมิดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ในขณะที่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายซึ่งล้วนมีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่มากก็น้อยโดยคำนึงถึงความถูกต้องและประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เช่นเดียวกับข้อห้ามที่จำเป็นอื่นๆ อาทิ ห้ามจักรยานยนต์วิ่งบนทางด่วน ห้ามค้าประเวณีเพราะผิดศีลธรรม ห้ามบริโภคเนื้อปลาปักเป้าเพราะเป็นพิษ การห้ามนำเข้าสุนัขพิทบลูที่เข้าข่ายสัตว์ดุร้าย ห้ามเลี้ยงปลาปิรันย่า นาคหญ้า และสัตว์อีกหลายชนิดเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การห้ามค้าเนื้อและหนังสุนัขเพื่อปกป้องศีลธรรมจรรยาของสังคมและป้องกันโรคระบาดจึงน่าจะกระทำได้และกฎกระทรวงก็ได้ให้อำนาจนี้แก่กรมปศุสัตว์อยู่แล้ว ล่าสุดได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือกับสำนักงานกฤษฎีกาซึ่งทั้งกฤษฎีกาและสำนักปลัดกระทรวงเกษตรฯต่างก็เห็นด้วยว่ากรมปศุสัตว์มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว
     การค้าเนื้อและหนังสุนัขไม่เพียงเป็นการกอบโกยผลประโยชน์บนชื่อเสียงของประเทศ ยังเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคและบ่อนทำลายเยาวชนด้วย เพราะการค้าเนื้อสุนัขมักทำในรูปเนื้อสวรรค์ตากแห้ง ลูกชิ้น หรือเนื้อสดที่ปะปนขายกับเนื้อโคกระบือในกรุงเทพฯและทั่วประเทศ ผู้ประกอบการท่าแร่ถึงกับประกาศว่าทุกวันนี้ผู้ที่บริโภคเนื้อสุนัขไม่ใช่คนสกลแต่เป็นคนกรุงเทพฯที่ไม่รู้ตัวนอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเยาวชนในภาคอีสานและภาคเหนือเริ่มนิยมบริโภคเนื้อสุนัขแกล้มเหล้า โดยลืมไปว่าแหล่งที่มาของสุนัขที่ค้ากันอยู่ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงที่สามารถควบคุมโรคหรือสุขอนามัยได้ดังเช่นโคกระบือเป็ดไก่และสุกร การอนุญาตให้ค้าซากสุนัขเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ค้าทำการได้ง่ายขึ้น สามารถนำเนื้อหรือหนังสุนัขมาปะปนกับอาหารหรือสินค้าบริโภคได้สะดวกขึ้นไม่ต้องลักลอบอีกต่อไป และยังเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ต้องคอยตรวจสอบอีกด้วย
     ขณะที่การออกระเบียบเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมถูกจำกัดด้วยการตีความของกฎหมาย การค้าหนังสุนัขเพื่อประโยชน์ของพ่อค้าหมาท่าแร่ยังคงดำเนินต่อไปโดยอาศัยใบอนุญาตที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นออกให้ก่อนการบังคับใช้กฎกระทรวงเดือน เมษายน 2546 ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่ามี ส่วยหมาซึ่งโดยแท้จริงใบอนุญาตดังกล่าวเป็นเพียงใบอนุญาตค้าเนื้อโคกระบือที่เพียงเขียนคำว่าสุนัขเพิ่มเข้าไว้ด้วยลายมือเท่านั้นและได้รับการยืนยันจากกรมปศุสัตว์ว่าจะใช้ได้เพียงสิ้นเดือนธันวาคม 2546 จากนั้นจะต้องใช้ใบอนุญาตตามระเบียบใหม่        
     จากเรื่องราวที่กล่าวมาได้มีข้อถกเถียงในสังคมสองแง่มุม ทั้งประณามผู้ค้าสุนัขและผู้ที่เห็นใจสำหรับผู้ที่ทำมาหากินอย่างสุจริต ทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนมีสองด้านเสมอแล้วแต่อุดมคติของแต่ละคนว่าจะมองอย่างไร เรื่องความคิดเราคงห้ามกันไม่ได้ เอาเป็นว่า "ช่วยชีวิตหมา ปรานีชีวิตคน" แล้วควรหาทางออกของปัญหาทั้งสองด้าน ซึ่งปัญหาการลักลอบค้าสุนัขข้ามชาติ เป็นปัญหาที่แก้ยากเชื่อว่ายังมีการลักลอบกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้อง และการขาดอาชีพปากท้องของผู้ที่กระทำอยู่ ปัญหานี้ต้องให้ระดับรัฐบาลแก้ไขหาทางออก ในการออกกฎหมาย ที่จะสามารถหยุดการค้าสุนัขได้หรือหาอาชีพใหม่ให้ผู้ค้าเหล่านั้น  เพราะระดับหน่วยงานไม่มีศักยภาพที่จะแก้ไขได้ ทำได้เพียงการปราบปรามจับกุมแต่สุดท้ายต้องเป็นภาระเลี้ยงดู ไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ไขได้ถาวร  ถ้าเราไม่สามารถหยุดขบวนการนี้ได้ ก็อย่าส่งเสริมด้วยการปล่อยปละละเลยสุนัขของท่าน แม้สิ่งที่คุณทำจะเป็นเพียงส่วนน้อยนิด แต่คุณก็สามารถปกป้องชีวิตเค้าได้ ถ้าคุณรู้สึกสลดหดหู่กับสิ่งที่คุณเห็น คุณช่วยสุนัขเหล่านั้นได้ อย่าเพียงแค่สงสาร

                                                   
                                                    แหล่งอ้างอิง

ปราณี พาณิชย์พงษ์.เหลียวหลังมองเหยื่อแก๊งค้าสุนัขข้ามชาติ
           คุณช่วยได้ไม่ใช่แค่สงสาร[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://www.dld.go.th.
            (วันที่สืบค้นข้อมูล: 2 ธันวาคม 2555).                                                    
 สมาคมพิทักษ์สัตว์.หมาท่าแร่ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://www.thaiaga.org.   
             (วันที่สืบค้นข้อมูล: 3 ธันวาคม 2555).                                                           


 

 

 

1 ความคิดเห็น: