วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาพลังงาน นายอาชวิน มาเทศ 53242957


การเขียนบทความประเด็นปัญหาสังคม
ชื่อ นายอาชวิน มาเทศ รหัสนิสิต 53242957 นิสิตชั้นปีที่ 3
สาขาวิชาพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
…………………………………………………………………………………………………………
บทความเรื่อง ปัญหาพลังงาน
บทนำ
                  ในปัจจุบัน ปัญหา เรื่องของพลังงาน เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทำให้ทางหน่วยงาน หลายๆ งานรวมทั้งนักวิจัยในด้านพลังงานต่างๆ ร่วมกันค้นคว้า เพื่อสรรหา พลังงาน ชนิดอื่นที่จะมาทดแทนพลังงานหลักที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งก็คือ พลังงานเชื้อเพลิงน้ำมัน ที่ไม่สามารถผลิตทดแทนส่วนที่ใช้ไปได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ผสมผสานกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ได้คิดค้นพลังงาน เพื่อทดแทนพลังงานที่ไม่สามารถ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงทำให้เกิด พลังงานทางเลือก หรือ พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกนี้ หมายถึงพลังงานที่สะอาด สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ได้ต่อเนื่องไม่มีวันหมด และยังเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษต่างๆ ต่อโลกด้วย พลังงานทดแทนที่สำคัญก็คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม พลังงานความร้อนใต้ภิภพ และพลังงานจากชีวมวล

ความหมายของปัญหาพลังงาน
ประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องของแหล่งพลังงาน เราไม่มีน้ำมัน มีก๊าซบ้างที่อ่าวไทยแต่ไม่มาก สมัยนายกฯเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อหลายสิบปีก่อนมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย คนในรัฐบาลดีใจมากถึงกับประกาศว่าประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาล  เมื่อก่อนนี้นอกจากเราจะไม่มีแหล่งพลังงานของเราเองแล้ว โรงกลั่นและผู้จำหน่ายน้ำมันยังเป็นของคนต่างชาติ แต่โชคดีในสมัยพล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยมีโรงกลั่นและบริษัทจำหน่ายน้ำมันและก๊าซเชื้อเพลิงของคนไทย จนกระทั่งเราได้บริษัทปตท.ฯ ในทุกวันนี้ ตอนที่เราประกาศว่าประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาลเพราะมีก๊าซธรรมชาติของตัวเอง เราลืมไปว่าก๊าซธรรมชาติต้องมีวันที่จะหมดไป และตอนนี้มีการคำนวณแล้วก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่ในอ่าวไทยนั้นมีเหลือใช้อีกไม่ถึง 20 ปีสิ่งที่น่าห่วงคือพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นให้ทุกครัวเรือนได้ใช้ทุกวันนี้ มีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถึง 70 % ตอนนี้คนไทยอยู่ในสังคมเมืองเพิ่มขึ้นทุกวัน คนไทยพึ่งพาเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เริ่มอยู่คอนโดมิเนียมกันมาก วันใดที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชีวิตจะอลเวงไม่ต่างไปจากตอนที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ยังไม่นับรวมรถยนต์ในประเทศของเราที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่รถติดตอนเช้าตอนเย็นทุกวันก็ผลาญเงินประเทศชาติไปหลายพันหลายหมื่นล้านบาท
เมื่อต่างชาติขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซ ค่าครองชีพในประเทศไทยก็ต้องโดนบีบให้สูงขึ้นเพราะ ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าน้ำประปา ค่าเชื้อเพลิง สินค้าต้องขึ้นราคาหมดนโยบายที่จะกดราคาก๊าซหรือน้ำมันไว้ เป็นการฝืนธรรมชาติ ไม่มีทางทำได้ ถึงทำได้ก็ เป็นครั้งคราว ก็ต้องใช้เงินของผู้เสียภาษีมาชดเชยซึ่งไม่เป็นธรรม

ความหมายของพลังงาน

พลังงาน คือ ความสามารถที่จะทำงานได้ ความสามารถดังกล่าวนี้เป็นความสามารถของวัตถุใดมีพลังงานวัตถุนั้นก็สามารถทำงานได้และคำว่างานในที่นี้เป็นผลของการกระทำของแรง  ซึ่งทำให้วัตถุเคลื่อนที่ไปในแนวของแรงสิ่งใดก็ตามที่สามารถทำให้วัตถุเปลี่ยนตำแหน่งหรือเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมได้สิ่งนั้นย่อมมีพลังงานอยู่ภายใน  และพลังงานนั้นยังมีความสามารถที่จะทำงานได้โดยอาศัยแรงงานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติโดยตรง และที่มนุษย์ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดัดแปลงใช้จากพลังงานตามธรรมชาติ   ตามคำนิยามของนักวิทยาศาสตร์  พลังงาน (Energy) คือ ความสามารถในการทำงาน (Ability to do work) โดยการทำงานนี้อาจจะอยู่ในรูปของการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนรูปของวัตถุก็ได้
จากความหมายข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า พลังงาน คือ ความสามารถของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะทำงานได้ ซึ่งงานเป็นผลจากการกระทำของแรงเป็นเหตุให้สิ่งนั้นเคลื่อนที่ซึ่งคุณสมบัติโดยทั่วไปของพลังงานมีอยู่ 2 ประการ คือ ทำงานได้และเปลี่ยนรูปได้ และในการดำรงชีวิตประจำวันของคนเรา จำเป็นต้องอาศัย สิ่งที่ทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปตามความต้องการ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น  อำนวยความสะดวกคนส่วนใหญ่และส่วนบุคคล  เช่น  ต้องมีไฟฟ้า  ประปา  ถนน  สวนสาธารณะ  หอสมุดประชาชน  โรงพยาบาล และอื่น ๆ พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ในโลกปัจจุบันและทวีความสำคัญขึ้นเมื่อโลกยิ่งพัฒนามากยิ่งขึ้น แหล่งพลังงานค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นแหล่งพลังงานที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการผลิตมากยิ่งขึ้น จากน้ำมันปิโตรเลียมไปเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานหลายประเภทด้วยกัน แต่อาจจะมีในปริมาณค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ บางครั้งวิกฤตการณ์ของโลกอาจจะทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยยังต้องมีการสั่งน้ำมันเข้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยกลไกลในการขับเคลื่อนระบบให้ดำเนินไปตามความต้องการของผู้ใช้  สิ่งที่ใส่เข้าไปในระบบเพื่อให้ทำงานได้ คือ พลังงานรูปแบบต่าง ๆ    มนุษย์มีการใช้พลังงานเกือบตลอดเวลาที่มีชีวิตโดยพลังงานที่ใช้นี้มีรูปแบบต่าง ๆ กันและสามารถเปลี่ยนรูปไปมาได้ รูปพลังงานสามารถจำแนกได้ คือ
1. น้ำมันปิโตรเลียม
ประเทศไทยมีน้ำมันปิโตรเลียมในแหล่งต่าง ๆ ที่พิสูจน์แล้วไม่น้อยกว่า 174 ล้านบาร์เรล ได้แก่ น้ำมันจากอ่าวไทย (เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งสตูล) อำเภอฝาง และแหล่งสิริกิติ์ จังหวัดกำแพงเพชร และคาดว่าจะต้องค้นพบอีกหลาย ๆ แห่ง เช่น บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี สุราษฎ์ธานี ซึ่งคาดว่าจะพบอีกไม่น้อยว่า 100 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นแอ่งสะสมน้ำมันปิโตรเลียม ในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องสั่งเข้าน้ำมันปิโตรเลียมเป็นอัตราส่วนสูง เนื่องจากการผลิตในประเทศไทยยังต่ำกว่าปริมาณการใช้มาก การขุดเจาะและผลิตน้ำมันปิโตรเลียม จะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกับโครงการอื่น ๆ ผลที่จะเกิดขึ้นอาจจะมาจากวัสดุที่ใช้หล่อลื่นในการขุด (Drilling fluid) การระบายน้ำเค็ม ที่มีความเค็มสูงมากจากหลุมเจาะ และมีสารบางประเภทที่เป็นพิษปะปนออกมาด้วย เช่น ปรอท แคดเมียม โครเมียม เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วการจัดการกับบ่อภายหลังสิ้นสุดการนำน้ำมันปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ก็มีความสำคัญต่อสภาพความมั่นคงของพื้นที่ที่อยู่โดยรอบบ่อน้ำมัน
2. ก๊าซธรรมชาติ
นับเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันปริมาณของก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดมากกว่า 100 พันล้านลูกบาศก์เมตร และโอกาสที่จะพบเพิ่มเติมมีโอกาสสูงมากโดยเฉพาะในบริเวณอ่าวไทยซึ่งการผลิตก๊าซธรรมชาตินั้น สามารถนำมาผลิตเป็นมีเธน อีเทน และแอลพีจี ซึ่งใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับไฟฟ้าเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้มและยานพาหนะ ก๊าซธรรมชาติเมื่อผ่านเข้ากระบวนการผลิตจะแยกได้ผลพลอยได้อย่างหนึ่งปนมากับก๊าซที่อยู่ในรูปของละอองน้ำมัน เรียกว่า ก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนเบนซินธรรมชาติ สามารถนำไปผสมกับน้ำมันดิบ เพื่อกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินได้ นอกจากนั้นแล้วในแหล่งต่าง ๆ ในอ่าวไทย ยังมีก๊าซธรรมชาติเหลวปะปนอยู่ในแอ่งก๊าซธรรมชาติด้วย ดังนั้นก๊าซธรรมชาติจึงนับว่าเป็นแหล่งพลังงานของประเทศไทยที่มีความสำคัญ ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการดำเนินการเพื่อขุดเจาะและผลิตน้ำมันปิโตรเลียม
3. ถ่านหินลิกไนต์
ประเทศไทยมีแหล่งถ่านหินลิกไนต์รวมทั้งหมด 72 แหล่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ที่มีการนำมาใช้ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและภาคใต้ แอ่งที่จัดว่ามีปริมาณถ่านหินลิกไนต์มากได้แก่ แอ่งแม่เมาะ แอ่งกระบี่ ซึ่งได้มีการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า นับเป็นเวลานานแล้ว ส่วนแหล่งอื่น ๆ ที่สำรวจแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการเพื่อนำถ่านหินมาใช้ ได้แก่ แอ่งสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา แอ่งสินปุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่นับว่าเป็นแหล่งที่มีถ่านหินลิกไนต์สะสมเป็นจำนวนมหาศาล การใช้ประโยชน์ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะผลิตกระแสไฟฟ้า ยกเว้นเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ที่มีเอกชนเข้ามาเปิดดำเนินการ เพื่อนำถ่านหินลิกไนต์ไปใช้ประโยชน์ให้ความร้อนในทางอุตสาหกรรม หากประเทศไทยมีการใช้ถ่านหินปีละประมาณ 50 ล้านตัน เมื่อเทียบอัตราการใช้ในปัจจุบันแล้ว อายุการใช้ถ่านหินของประเทศไทยจะใช้งานได้ประมาณ 25 ปี นับว่าเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของประเทศ การนำแร่ถ่านหินลิกไนต์มาใช้จะก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมได้ ในอากาศจะมีปริมาณของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สลายออกจากถ่านหินเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านฝนกรดได้ ส่วนการทำเหมืองจะก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ โดยเฉพาะน้ำบาดาล ซึ่งจะเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน 
4. พลังน้ำ
การผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยอาศัยพลังน้ำ โดยการสร้างเขื่อนนั้น เป็นวิธีการซึ่งให้ได้มาซึ่งพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์ โดยหลักแล้วเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนแรกได้แก่ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และต่อมาเขื่อนก็ถูกสร้างขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุดรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น พลังน้ำจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าในราคาต้นทุนต่ำ แต่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ควรคำนึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสูญเสียเนื้อที่ป่าเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อใช้เป็นอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ราษฎรในพื้นที่น้ำท่วมจึงจะต้องอพยพย้ายที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ สัตว์ป่าต่าง ๆ จะสูญเสียที่อยู่อาศัยหรืออาจจะสูญพันธุ์ไปโดยไม่สามารถป้องกันได้ เพราะการอพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่น้ำท่วมนั้น ไม่สามารถจะโยกย้ายสัตว์ได้ทันทุกชนิด นอกจากนั้นแล้ว แร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่อาจจะถูกทิ้งให้จมอยู่ใต้น้ำ โดยไม่มีโอกาสนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ของประเทศ ทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่สามารถจะประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ซึ่งถ้าหากกระทำได้แล้วอาจจะทำให้ต้นทุนของการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงโดยพลังน้ำ จะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยวิธีอื่น ๆ
5. ไม้และถ่าน
แหล่งพลังงานของประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ได้จากชีวมวล อันได้แก่ ไม้ฟืนและถ่าน แต่การใช้ป่าไม้เพื่อผลิตพลังงานนั้น จะก่อให้เกิดการทำลายป่าไม้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่ได้มีการหวั่นวิตกอยู่ในปัจจุบัน การนำไม้มาใช้เพื่อเป็นแหล่งความร้อนและพลังงานทำให้ป่าปกคลุมโลกประมาณร้อยละ 20 ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ดังนั้น จึงเป็นการก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย และจะต้องใช้พื้นที่อย่างกว้างขวางเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มกับหน่วยความร้อนที่จะได้ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบต่อหน่วยพื้นที่ นอกจากนั้นแล้วจะต้องมีการปลูกพืชขึ้นมาทดแทนอยู่ตลอดเวลา จึงถือว่าไม้และถ่านเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่น่าจะพัฒนาให้มีการใช้ในโลกปัจจุบัน
6. พลังงานรังสีอาทิตย์
ที่จะได้รับรังสีอาทิตย์เฉลี่ยประมาณวันละ 17 เมกะจูลต่อตารางเมตร ซึ่งประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากรังสีอาทิตย์มานานตั้งแต่ในอดีต เช่น การผลิตเกลือจากน้ำทะเล การตากผลิตผลทางเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่ยังมิได้ประเมินปริมาณรังสีอาทิตย์ที่ประเทศได้ใช้ในแต่ละปี ในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนำรังสีอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น และสามารถจะเก็บสะสมไว้ในรูปของเซลความร้อนที่จะสามารถเรียกใช้ได้ตามเวลาที่ต้องการ นอกจากพลังงานจากรังสีอาทิตย์แล้ว ที่เป็นแหล่งพลังงานจากระบบสุริยจักรวาลอีกอย่างได้แก่ พลังงานลมและพลังงานกระแสน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งในขณะนี้ในประเทศไทยได้เริ่มทำการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะพลังงานลมได้มีสถานีสาธิตและประเมินความเหมาะสมที่จังหวัดภูเก็ต
7. พลังงานนิวเคลียร์
ประเทศอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการใช้พื้นที่น้อยให้ปริมาณความร้อนสูง และเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะไม่ได้รับอิทธิพลจากองค์ประกอบนอกระบบ เนื่องจากระบบการผลิตเป็นการควบคุมการทำงานโดยอัตโนมัติแม้แต่ประเทศต่าง ๆ ในเอเซียด้วยกันยังมีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย ปัจจุบันกำลังไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์รวมกันประมาณร้อยละ 20 ของกำลังผลิตของโลก ประเทศไทยได้เคยทำการศึกษาความเหมาะสมเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่อ่าวไผ่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ปัจจุบันยังไม่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แต่อย่างใด เนื่องจากมีความไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้า การใช้พลังงานนิวเคลียร์อาจจะมีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น การกำจัดกากเชื้อเพลิง ซึ่งจะต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม อาจจะเป็นในทะเลลึกโดยฝังในชั้นหินที่ไม่ซึมน้ำ หรือการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้า แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถที่จะป้องกันแก้ไขได้โดยการวางแผนและการเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ประเทศไทยจึงควรพิจารณาการใช้พลังงานนิวเคลียร์ไว้เป็นทางเลือกสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคตแทนการสร้างเขื่อนซึ่งอาจจะมีปัญหาการใช้พื้นที่ หรือการใช้ถ่านหินที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบมลพิษด้านอากาศ
8. หินน้ำมัน
หินน้ำมันในประเทศไทยจากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีการสะสมตัวเป็นจำนวนมากในบริเวณจังหวัดตาก ซึ่งประเมินปริมาณสำรองเบื้องต้นประมาณ 21,000 ล้านตัน โดยจะมีน้ำมันดิบปะปนอยู่ประมาณ 6,700 ล้านบาร์เรล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว ปริมาณน้ำมันที่สะสมอยู่ในชั้นหินของประเทศไทยค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 28 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีของการแยกน้ำมันออกจากหินน้ำมันยังไม่ก้าวหน้าเพียงพอทำให้อัตราการคืนตัวต่ำ ในขณะเดียวกับราคาต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ศักยภาพของการนำหินน้ำมันมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในอนาคตค่อนข้างต่ำ และไม่คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมปัจจุบัน
ผลกระทบในอนาคตจากปัญหาพลังงาน                                                                                                                
อนาคตพลังงานไทย ทางเลือกบนความขัดแย้ง                                                                                                            
วิกฤตการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยที่ประสบปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ใช่เพียงเราประเทศเดียวที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางความขัดแย้งบนทางออกของปัญหาพลังงาน ในเวลาที่ผู้คนต่างเรียกร้องหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วยังไม่พอเพียงกับความต้องการพลังงานของคนทั้งประเทศและนี่คือความจริงที่เราคนไทยต้องรับรู้รวมกันว่าจากนี้ไปอีกประมาณ 5 ปี เรากำลังเผชิญกับภาวะการขาดแคลนพลังงานอย่างเสี่ยงไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ตัดสินใจหาแหล่งพลังงานทดแทนที่แน่ชัดไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ได้มาอย่างไร้ความขัดแย้ง
                "ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเรากำลังมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องโครงสร้างโรงไฟฟ้าหลายๆ แห่ง จนอาจส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักได้ แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีทางเลือกใดที่ไม่มีความขัดแย้ง เพราะในชีวิตประจำวันของเราก็ไม่สามารถทำให้คนอื่นรักและเคารพการตัดสินใจของเราได้ทุกคน
                การตัดสินใจด้านพลังงานก็เช่นกัน ถ้าในวันนี้เราไม่ตัดสินใจเดินหน้าแผนพลังงานของประเทศในอนาคตเราอาจจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงาน เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น 1 แห่ง ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-10 ปี ทำให้ไม่ทันต่อความต้องการของประเทศ และทำให้เราต้องเสียเงินซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น แสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานภายในประเทศ เพราะในง่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าสักแห่งจะต้องมีความขัดแย้งในด้านใดด้านหนึ่ง
                โดยเพาะการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้านั้น แทบจะล้มพับโครงการในทุกครั้ง เพราะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนกันหลายปี ไม่นับรวมม็อบต่อต้านการส้รางโรงไฟฟ้า ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนถึงความปลอดภัย ทำให้ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างจำกัด  ในขณะความต้องการพลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ม้จะมีการรณรงค์ลดการใช้พลังงาน แต่นั่นก็ทำได้แค่เพียงชะลอตัวเลขการใช้พลังงานไม่ให้สูงจนน่าใจหาย กับความจริงที่ว่าเราทุกคนจำเป็นต้องใช้พลังงานเติบโตไปพร้อมๆ กับตัวเลขประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

 แนวทางในการกู้วิกฤตด้านพลังงาน
ปัจจุบันหลายประเทศคำนึงถึงแนวโน้มการขาดแคลนพลังงานและผลกระทบของพลังงานต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงาน หมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งถ้าหากสามารถพัฒนาและขยายกำลังการผลิตจากแหล่งพลังงานดังกล่าวให้สามารถทดแทน แหล่งพลังงานในปัจจุบัน เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และโดยเฉพาะนํ้ามัน ที่เป็นแหล่งพลังงานหลักและก่อให้เกิดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านพลังงานครั้งยิ่งใหญ่ของโลกทีเดียว อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรนิ่งเฉยและ รอให้เกิดผลสำเร็จด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกซึ่งมีแนวโน้มที่จะพัฒนาได้สำเร็จใน 10 ปีข้างหน้าเพียงอย่างเดียว นิตยสาร Popularmechanics จึงเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อลดวิกฤตและแก้ไขปัญหาด้านพลังงานทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว เพื่อตั้งรับกับวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน ตามแนวทางในการกู้วิกฤตด้านพลังงาน 10 วิธีของประเทศสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้
1. ลดภาษีนํ้ามันดีเซล (Cut diesel taxes)
เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีเซลกับเครื่องยนต์เบนซินนั้น เครื่องยนต์ดีเซลมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์ เบนซินถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้ หน่วยงานป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา(Environmental Protection Agency: EPA) คาดการณ์ว่า หากหนึ่งในสามของประชากรสหรัฐฯ ขับรถยนต์ดีเซล จะสามารถประหยัดปริมาณนํ้ามันได้ถึง 1.4 ล้าน บาเรล (Barrels) ต่อวัน ดังนั้น การนำนํ้ามันดีเซลมาใช้น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกู้วิกฤตด้านพลังงานดังเช่นการนำรถยนต์ระบบไฮบริด (Hybrid) มาใช้
แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการใช้นํ้ามันดีเซลนั้นก่อให้เกิดมลพิษสูงเนื่องจากการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ (Sulfur) จากผลการวิจัย ล่าสุดของ Energy Policy Research Foundation พบว่า มีการพัฒนานํ้ามันดีเซลให้มีส่วนผสมของสารซัลเฟอร์น้อยลงกว่าในอดีต ถึงร้อยละ 97 อีกทั้งรัฐบาลกลาง (Federal) ยังเก็บภาษีนํ้ามันดีเซลสูงกว่าภาษีนํ้ามันเบนซินอีก ส่งผลให้ราคานํ้ามันดีเซลสูงกว่าราคา นํ้ามันเบนซิน และยังเป็นการลดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับนํ้ามันดีเซลในทางอ้อมอีกด้วย
2. หยุดการเผาไหม้และการปล่อยควันจากก๊าซธรรมชาติ (natural gas)
               ในแต่ละปี ประเทศสหรัฐฯ มีการปล่อยหรือเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติมากกว่า 3 แสนล้านลูกบาศก์ฟุต เนื่องมาจากกระบวนการผลิตและการกักเก็บนํ้ามัน ในอดีตที่ผ่านมา เราไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บก๊าซธรรมชาติที่รั่วซึม (Fugitive Emissions) แต่ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันการรั่วซึมของก๊าซดังกล่าว เช่นบริษัท Hy-Bon Engineering ได้ออกแบบ Compressor หรือเครื่องอัดก๊าซที่สามารถกักเก็บก๊าซจากถังเก็บนํ้ามันดิบได้ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ก่อให้เกิดพลังงานความร้อนเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ กระบวนการกักเก็บในปัจจุบัน ทั้งนี้ การลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถคืนทุน ได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน ถือเป็นความคุ้มค่าสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมอีกแนวทางหนึ่ง
3. พัฒนาการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าและการหักลบหน่วยการใช้ไฟฟ้า (Simplify  Interconnection and Net Metering)
               อุปสรรคสำคัญด้านการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าประการหนึ่ง คือ การแบ่งแยกสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอย่างชัดเจน ทั้งนี้ การเชื่อมต่อระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าและการหักลบหน่วยการใช้ไฟฟ้า (Simplify Interconnection and Net Metering) หรือการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากหลายๆ มลรัฐร่วมกันนั้นเป็นได้ยาก เนื่องจากมีการแบ่งแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน แต่ถ้าหากเราสามารถพัฒนาระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า (Grid) ให้สามารถรับฝากพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินซึ่งมีลักษณะคล้าย กับการฝากเงินธนาคาร ในกรณีที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าปริมาณที่ได้รับ รวมถึงสามารถถอนพลังงานไฟฟ้าเมื่อมี ความต้องการใช้เพิ่มเติม และถ้าสามารถนำเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก (มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 10 เมกกะวัตต์) มาตั้งอยู่ในละแวกที่มีการใช้ไฟฟ้า และมีการจ่ายไฟฟ้าผ่าน grid ในระยะสั้นๆ จะช่วยในการป้องกันการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า ที่มีสาเหตุจากกระบวนการขนส่งอีกด้วย

4. ขยายระบบท่อขนส่งนํ้ามันจากศูนย์กลางจ่ายนํ้ามัน (Oil Supply Hub)
               ประเทศสหรัฐฯ มีการนำเข้านํ้ามันมาจากประเทศ แคนาดา และนํ้ามันจะถูกขนส่งตามท่อนํ้ามันและกักเก็บบริเวณ ด้านฝั่งตะวันตกของอเมริกาก่อนที่จะส่งต่อไปยังโรงกลั่นนํ้ามัน ซึ่งระบบท่อขนส่งนํ้ามันเพื่อการกักเก็บกลับมีมากกว่าระบบท่อ ขนส่งเพื่อการจัดจำหน่าย ทำให้เกิดแนวคิดขยายระบบท่อขนส่ง นํ้ามันจากเมือง Alberta ประเทศแคนาดา ไปยังเมือง Cushing มลรัฐ Oklahoma เพื่อขยายปริมาณการส่งออกนํ้ามันจาก ประเทศสหรัฐฯ ไปสู่ทวีปเอเชียในปริมาณ 1 ล้านบาเรลต่อวันแต่โครงการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ แม้จะได้รับการอนุมัติโครงการจากรัฐบาลแคนาดา รวมถึงรายงานยืนยันว่าโครงการดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม
5. สนับสนุนเทคโนโลยีระบบ Demand Response
               การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีทั่วโลกให้ความสำคัญ การพัฒนาระบบสายขนส่ง ไฟฟ้า (Grid) เพื่อให้ทุกมลรัฐในประเทศสหรัฐฯ สามารถแบ่งปันปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบัน นักวิจัยได้พัฒนา ระบบการเชื่อมต่อการจ่ายไฟฟ้ากับระบบการควบคุมอาคาร เพื่อให้แต่ละอาคารสามารถควบคุมและลดปริมาณการจ่ายไฟฟ้า ได้เอง เทคโนโลยี Demand Response เป็นกลไกที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจัดการการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นระบบจะแจ้ง ให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารู้ว่าเวลาใดที่ผู้คนในประเทศมีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูงหรือเวลานี้มีปริมาณค่าใช้ไฟฟ้าไปเป็นเงินเท่าไร ซึ่งจะ ช่วยจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหาทางลดการใช้ไฟฟ้าของตนเองลง ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถลดค่าไฟฟ้า และเป็นการประหยัดปริมาณการจ่ายไฟฟ้าจากโรงผลิตไฟฟ้ามายังอาคารอีกด้วย
6. ไม่นำนํ้ามันสำรองมาใช้ 
               ปัจจุบันประเทศสหรัฐฯ มีการกักเก็บนํ้ามันดิบไว้ในปริมาณ 727 ล้านบาเรลในบริเวณใต้ดินของมลรัฐ Texas และ Louisiana เพื่อเป็นการกักตุนไว้ใช้ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนนํ้ามันและใช้เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมการแทรงแซง ทางการค้า รวมไปถึงการเก็งกำไรจากราคานํ้ามัน แต่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐฯ กลับประสบปัญหาด้าน ราคานํ้ามัน ทำให้มีการนำปริมาณนํ้ามันสำรองดังกล่าวมาใช้ คิดเป็นปริมาณ 4.4 ล้านบาเรล ต่อวัน เพื่อช่วยพยุง ราคานํ้ามันเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ราคานํ้ามันในระยะยาวได้อยู่ดี
7. นำเทคโนโลยีความร้อนร่วมไฟฟ้ามาใช้ (Combined Heat and Power)
               ถึงแม้ว่าโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาตินั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าโรงงานผลิตไฟฟ้าจากการเผาไหม้ถ่านหิน โดยทั่วไป กระบวนการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาตินั้น จะอยู่ในรูปของก๊าซ ทำให้เกิดการสูญเสียของ พลังงานในรูปของความร้อน คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 50 จากการสูญเสียพลังงานทั้งหมด ดังนั้น เทคโนโลยีความร้อนร่วม ไฟฟ้า (Combined Heat and Power: CHP) จึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำความร้อนดังกล่าวกลับมาใช้ในการให้ความร้อน ภายในตึกหรืออาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับระบบ Grid ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (Department of Energy: DOE) ต้องการจะขยายโครงการดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2030

8. ยกเลิกนโยบายสนับสนุนที่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
               ผู้มีอำนาจทางการเมืองของสหรัฐฯ มักจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานของประเทศสหรัฐฯ เนื่องจาก เป็นแหล่งสร้างงาน และเป็นปัจจัยสำคัญในการลดราคาสินค้าหรือต้นทุนการผลิต รวมถึงเป็นตัวช่วยในการสนับสนุนการพัฒนา ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ดูเหมือนว่า แนวทางในการสนับสนุนบางประการกลับก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ เช่น การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตนํ้ามันคิดเป็นมูลค่ารวม 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ในช่วงปี 2002 – 2008) โดยแบ่งออกเป็นการสนับสนุนในการลดหย่อนภาษีถึง 15,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐฯ มีการสนับสนุน กลุ่มผู้ผลิตพลังงานทดแทน (Renewable fuel) คิดเป็นมูลค่า 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากข้าวโพด
ปัจจุบันสหรัฐฯ มีการบริโภคข้าวโพด เพื่อเป็นอาหารและแปรรูปเป็นนํ้าตาล เมื่อมีการนำข้าวโพดไปผลิตเอทานอล ยิ่งทำให้ราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยถึงความคุ้มค่าในการผลิตเอทานอลจากข้าวโพดว่ามีประโยชน์ เพียงพอหรือไม่
9. พัฒนาสายส่งไฟฟ้า (Electronic Grid) ให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น
               ในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดในกระบวนการขนส่งไฟฟ้าจาก Grid เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า ประมาณร้อยละ 7 ของพลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ปัญหาการติดขัดในการส่งกระแสไฟฟ้าภายใน Grid ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานคิดเป็นมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
ดังนั้น การพัฒนาและผลิต Superconducting Wire ซึ่งเป็นเส้นลวดนำไฟฟ้าผ่านสาย Supercooled Line (สายหล่อเย็น) นั้น ทำให้ประสิทธิภาพในการนำกระแสไฟฟ้าของ Superconducting Wire มากกว่าเส้นลวดทองแดงถึง 100 เท่า ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการขนส่งไฟฟ้าผ่าน Superconducting Wire ให้มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศสหรัฐฯ อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 7 – 15 ปี

10. สนับสนุนเงินทุนเพื่องานวิจัยด้านพลังงาน
               ประเทศสหรัฐฯ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในห้าจากแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งหมด ในปีค.ศ. 1948 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 91,100 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ แต่ยังไม่ปรากฎผลสำเร็จอย่างเด่นชัด อีกทั้ง หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลายฝ่ายเกิด ความกังวลถึงความปลอดภัยของโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้น การสนับสนุนทุนการวิจัยเพื่อหาแหล่ง พลังงานทางเลือกอื่นๆ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่สามารถทดแทนพลังงานฟอสซิลใน ปัจจุบัน ทั้งนี้ การสนับสนุนทุนการวิจัย น่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ได้ประสิทธิผลสูงสุดเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา วิกฤตด้านพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
11.เปิดปัญหาพลังงานสะอาด
               "ไม่มีแหล่งพลังงานใดในโลกที่ดีพร้อมทุกอย่าง มีข้อดีข้อเสีย เราต้องศึกษาเรียนรู้และบริหารแหล่งพลังงานเหล่านี้อย่างเหมาะสม และ อธิบายปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งต่างมีข้อดีข้อเสียและเกิดผลกระทบแตกต่างกันไป  ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเริ่มศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานลม แต่ติดปัญหาที่ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีลมรงอย่างสม่ำเสมอมากพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีกังหันลมที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จากลมความเร็วต่ำ แต่ก็เท่ากับความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้จากลมความเร็วต่ำ แต่ก็เท่ากับความสามารถในการผลิตไฟฟ้าน้อยลงไปด้วย อีกทั้งใบกังหันลมที่เราเห็นหมุ่นอย่างช้าๆ นั้น แท้จริงแล้วมีความเร็วใบพัดไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม, ส่งผลต่อชีวิตและเส้นทางการบินของนกในบริเวณดังกล่าว    นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านเสียงที่เกิดจากการหมุนใบพัดต่อชุมชนรอบข้าง การตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม จะต้องศึกษาเรื่องพื้นที่และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วยเช่นกัน แต่มีข้อดีที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น จะทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง รวมทั้งความสามารถในการผลิตพลังงานที่ไม่สม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง ละช่วงที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีที่สุดเพียงแช่วงประมาณเวลา 10.00 - 15.00 น. เท่านั้น
สรุปก็คือ
               พลังงานต่างๆ นั้นล้วนแล้วมีหมดและยังก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ให้กับโลกดังนั้นเราควรมาสนใจในการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดผลอย่างจริงจังและมีผลอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องวางระบบในการดำเนินงานที่เหมาะสม และปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องด้วยความตั้งใจ เข้าใจ สนใจ และร่วมใจกันทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงลงไป พร้อมทั้งกำหนดแผนงาน เพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ตลอดไป ผลประโยชน์ของการจัดการด้านพลังงานแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภทด้วยกันคือ ผลประโยชน์โดยตรงและผลประโยชน์ทางอ้อมหรือผลข้างเคียง โดยกลยุทธ์ในการบริหารพลังงานในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีแนวทางดังนี้คือ ต้องมีนโยบายที่แน่นอน ต้องมีคนหรือผู้รับผิดชอบ จะต้องกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ การติดตามผลการดำเนินงาน ต้องมีการเตรียมการ เก็บข้อมูล ประเมินผล การทำงานเก็บข้อมูลรายละเอียดของผลที่ได้รับจริง ๆ เปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

บรรณานุกรม

ปราโมทย์ ไชยเวชปิโตรเลียมเทคโนโลยีเอกสารประกอบการสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นฤมล แก้วกล่า "ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและใช้พลังงาน.[ออนไลย์].เข้าถีงได้
            http://www.eppo.go.th/doc/doc-AlterFuel.html (วันที่สืบค้นข้อมูล 7 ธันวาคม 2555)

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กองนโยบายและแผนพลังงาน "ทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า" มกราคม 2542

กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ .[ออนไลย์]. เข้าถึงได้ http://www.ngthai.com/ngm/0903/feature.asp?featureno=2      
                  (วันที่สืบค้นข้อมูล 7 ธันวาคม 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น