วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สิทธิและเสรีภาพของสตรี น.ส. กนกวรรณ กฤษดี 53261651


.. กนกวรรณ กฤษดี 53261651
สิทธิและเสรีภาพของสตรี
สิทธิ หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูปร่างซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นโดยกฎหมาย เพื่อให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ และมนุษย์จะเป็นผู้เลือกใช้สิ่งนั้นเอง โดยไม่มีผู้ใดบังคับได้ เช่น สิทธิในการกิน การนอน แต่สิทธิบางอย่างมนุษย์ได้รับโดยกฎหมายกำหนดให้มี เช่น สิทธิในการมี การใช้ทรัพย์สิน สิทธิในการร้องทุกข์เมื่อตนถูกกระทำละเมิดกฎหมาย เป็นต้น
                เสรีภาพ หมายถึง การใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างอิสระ  แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ซึ่งหากผู้ใดใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตจนก่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ก็ย่อมถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
สตรีเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของทุกสังคมและโลก ถ้าโลกนี้ขาดเพศหญิง มนุษย์จะไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์หรือมีชีวิตต่อไปได้ ผู้หญิงเป็นเพศแม่ เป็นทั้งแม่ ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัยลูก เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งของครอบครัว เป็นกำลังการผลิต และกิจกรรมของชุมชนและสังคมทุกประเทศ
ตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน สภาพและสถานภาพของสตรีจะต่ำต้อยด้อยค่า   ไม่เสมอภาคเท่าเทียมชาย และที่สำคัญ สตรีถูกกดขี่ ขูดรีด เหยียดหยาม และกีดกันทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง สภาพดังกล่าว ถือเป็นไม่เคารพสิทธิมนุษยชนของสตรีในทุกสังคม จึงมีการลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิสตรี รัฐและสังคมประเทศต่างๆ ค่อยยอมรับฐานะและบทบาทของสตรี สิทธิสตรี ในระดับสากล มีการออกอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ซึ่งประเทศไทยได้รับรองอนุสัญญาฯ ดังกล่าวไว้ สิทธิสตรีได้รับการคุ้มครองอย่างน้อยก็ไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติ และเสมอภาค เท่าเทียมกันในด้านการทำงาน ค่าจ้าง การประกันสังคม การตัดสินใจมีบุตร สิทธิในการพัฒนา ทั้งการศึกษาและสันทนาการ การมีส่วนร่วมทั้งการเลือกตั้ง การรับตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่ราชการในทุกๆ ระดับ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีมาตรการพิเศษที่เอื้อให้คุ้มครองสิทธิสตรี เช่น การให้บริการสำหรับสตรีที่มีครรภ์
กล่าวเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้รับรองคุ้มครองสิทธิสตรีไว้หลายมาตรา มาตราที่สำคัญอย่างมาก อาทิ มาตรา 30 ที่มีใจความว่าบุรุษและสตรีมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย จะเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อสตรีไม่ได้ และที่สำคัญคือการมีมาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสตรีก็ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากสตรีถูกเอาเปรียบอย่างมากและอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรี ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน รวมถึงการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสตรีก็ต้องมีตัวแทนที่ประกอบด้วยสตรีอยู่ด้วย การเรียนรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงเป็นการรวบรวมกฎหมายของประเทศกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในพื้นภูมิภาคและกฎหมายระหว่างประเทศด้วย การรู้ว่ากฎหมายรับรองและคุ้มครองปกป้องสิทธิต่างๆ
การละเมิดสิทธิสตรียังดำรงอยู่อย่างกว้างขวาง แม้จะน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่ผ่านๆ ทั้งนี้เป็นเพราะโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ผู้ชายยังเป็นใหญ่ ค่านิยมในสังคมไทยที่ครอบงำสังคมให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้อำนาจเป็นมาอย่างต่อเนื่อง สังคมยังมีทรรศนะว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก มีบทบาทสำคัญในครัว หรือถ้าผู้หญิงทำงาน นอกบ้านก็ยังต้องกลับมาทำงานในบ้านด้วย รวมถึงทัศนคติที่คิดว่าการที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิมากๆ ทำให้ครอบครัวเกิดความแตกแยก สังคมปั่นป่วน ฯลฯ
สภาพดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาสะสม พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเลือกใช้นามสกุลตามสามี โดยที่ผู้หญิงไม่สามารถเลือกใช้นามสกุลของตนได้เอง ปัญหากฎหมายที่บัญญัติให้สามีสามารถข่มขืนภรรยาของตนเองได้ ปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือการเข้าไปมีบทบาทในตำแหน่งสำคัญของภาคราชการและเอกชน ผู้หญิงก็ยังได้ตำแหน่งโดยมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย รวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กและสตรี รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าประเทศไทยเป็นทั้งทางผ่านและจุดหมายปลายทางของการค้าสตรีและเด็ก โดยการค้าเด็กสตรีที่เป็นคนไทยลดจำนวนลง แต่ค้าคนต่างชาติโดยใช้ไทยเป็นจุดแวะพักปลายทางมีจำนวนเพิ่มขึ้น การค้าสตรีและเด็กกระทำในหลายรูปแบบ อาทิ หลอกเด็กอายุ 15 ว่าให้ไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ประเทศมาเลเซียได้เงินเดือนหลายหมื่นบาท แม้แต่ผู้หญิงที่บรรลุนิติภาวะและมีการศึกษาถึงระดับอนุปริญญายังถูกหลอกว่าจะให้ไปทำงานแต่ก็ยังถูกนำไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ ถ้าไม่ยอมขายบริการทางเพศก็จะถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
อ้างอิง : http://202.47.224.92/womenfund/article_detail.php?aid=31
ย้อนไป๕๐ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนในปี พ.ศ.๒๕๐๓ กลุ่มหญิงนักต่อสู้ชาวโดมินิแกน ๓ ชีวิต ถูกลอบสังหารอย่างทารุณ โดยผู้นำเผด็จการ เหตุการณ์อันแสนโหดร้ายในอดีตหนนั้น เปรียบดั่งร่องรอยบาดแผลของประวัติศาสตร์ที่ ผู้หญิง ถูกกระทำจาก ผู้ชาย ซึ่งบาดแผลรอยใหญ่นี้ สามารถสร้างแรงสั่นคลอนทางจิตใจในระดับฝันร้ายให้กับ สตรี ทั่วโลกในยุคนั้น และนำไปสู่ที่มาที่ไปต่อการกำเนิดขึ้นของวัน "ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง"
สังคมโลกใช้เวลาหมดไปอย่างต่อเนื่องกว่าสามทศวรรษ เพื่อร่วมรณรงค์ เรียกร้อง และเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นในเรื่องเหล่านี้ โดยในส่วนของในประเทศไทย อาจถือว่าไม่สายเกินไป ที่มีการเริ่มรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกันนับตั้งแต่ ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมา โดยมูลนิธิเพื่อนหญิงองค์กรสตรี องค์กรแรงงานต่างๆ ตลอดจนกลุ่มนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน ภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ร่วมกันกำหนดจัดวางมาตรการเข้าต่อสู้กับปัญหากับ พร้อมวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของมวลปัญหา เพื่อที่จะนำไปเชื่อมโยงเข้าสู่การหาคำตอบ หรือแนวทางการแก้ไข ที่ให้ผลได้แบบเป็นรูปธรรมและชัดเจน เหล่านี้ล้วนแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างความเข้าใจตรงกันว่า"ความรุนแรงต่อผู้หญิง"คือภัยร้ายของสังคม และมนุษยชาติ
ความรุนแรงต่อสตรี หมายถึง การกระทำใดๆที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรีรวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัวคือประโยคจำกัดความหมายของคำว่า"ความรุนแรงต่อสตรี"ที่ประเทศไทยร่วมลงปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี กับองค์การสหประชาชาติ ในปีพ.ศ.๒๕๔๓ โดยนาย ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ภายหลังจากเดือนมิถุนายนในปีก่อนหน้า คณะรัฐบาลเดียวกันนี้ได้มีมติให้เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง
ถึงปัจจุบันนี้ วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย เดินทางเข้าสู่ปีที่ ๑๓ นับว่าเป็นเวลาที่ใช้หมดไปไม่น้อย กับการทำสงครามแห่งการเรียกร้องเสรีภาพทางเพศ ขจัดทำลายภัยคุกคาม ผู้หญิง เพื่อก่อสร้างความเท่าเทียมให้บังเกิดในฐานะภาพของความเป็น มนุษย์เหมือนกัน คืนกลับให้แก่สตรีเพศ แต่ข้อเท็จจริงจากข่าวสารรายวันที่ฉายภาพเรื่องราวของ "ผู้หญิง"ที่ตกเป็น"เหยื่อ"จากการกระทำในรูปแบบต่างๆ เป็นดั่งเงาสะท้อนย้อนมาว่ามาตรการนามธรรมที่นำมาใช้ ไม่ต่างจากอาวุธที่ไร้พลังจะต่อกรกับปีศาจร้าย
อ้างอิง : http://www.ryt9.com/s/nnd/1033540
การละเมิดสิทธิสตรียังดำรงอยู่อย่างกว้างขวาง แม้จะน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่ผ่านๆ ทั้งนี้เป็นเพราะโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ผู้ชายยังเป็นใหญ่ ค่านิยมในสังคมไทยที่ครอบงำสังคมให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้อำนาจเป็นมาอย่างต่อเนื่อง สังคมยังมีทรรศนะว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก มีบทบาทสำคัญในครัว หรือถ้าผู้หญิงทำงาน นอกบ้านก็ยังต้องกลับมาทำงานในบ้านด้วย รวมถึงทัศนคติที่คิดว่าการที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิมากๆ ทำให้ครอบครัวเกิดความแตกแยก สังคมปั่นป่วน ฯลฯ
ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เป็นเป้าหมายที่ยังไม่ได้บรรลุในสังคมปัจจุบัน ซึ่งดูได้จากสัดส่วนของผู้หญิงผู้ชายที่ไม่เท่าเทียมกัน ในตำแหน่งสำคัญๆ ของสังคม เช่น คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หรือในความไม่เท่าเทียมระหว่างรายได้ของผู้หญิงและผู้ชายเป็นต้น แต่สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคม ประเด็นความเสมอภาคที่สำคัญที่สุด เกี่ยวข้องกับค่านิยมในสังคม ที่มองว่าผู้หญิงควรมีบทบาทหลักในการดูแลครอบครัว ซึ่งทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคมนอกครัวเรือน และทำให้ผู้หญิงขาดสิทธิเสรีภาพเหนือเนื้อตัวร่างกายตนเอง นอกจากนี้เมื่อเราพูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ เราต้องรวมถึงสิทธิเสรีภาพของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งยังขาดตกบกพร่องอยู่มาก
 ในกรณีหญิงรักหญิง (Lesbians) Megan Sinnott อธิบายว่า หญิงรักหญิงก็ถูกต้อนเข้ากรอบสองเพศ (binary sex role) เหมือนกรณีกะเทย คือมีหญิงรักหญิงที่เล่นบทเป็น ชายคือ ทอมและที่เล่นบทเป็น หญิงคือ ดี้”  ซึ่งลักษณะแบบนี้ของหญิงรักหญิงพึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ เพราะสมัยก่อนคำว่า กะเทยครอบคลุมทั้งชายรักชายและหญิงรักหญิง และในกรณีหลัง สังคมจะมองว่าเป็น แค่การ เล่นเพื่อนเท่านั้น… “เดี๋ยวก็จะเลิก แล้วไปแต่งงาน”      สาเหตุที่กะเทยได้รับการยอมรับมากกว่าชายที่เป็นเกย์ ก็เพราะในแง่หนึ่งการเลือกเป็นกะเทย เป็นการเลือกภายในกรอบจารีตของสองเพศ ชาย-หญิงคือกะเทยเป็น ผู้หญิงที่เกิดมาในร่างชาย ดังนั้นเขาจึงทำตัวเป็นผู้หญิง ที่ต้องการรักชาย แต่สำหรับเกย์ เขาแหกกรอบอันนี้ เพราะประกาศชัดเจนว่าเป็นชายแท้ที่รักชายแท้ด้วยกัน นอกจากนี้การที่กะเทยจะได้รับการยอมรับ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ เช่นการทำตัวเองเป็นตัวตะลก การวี้ดว้ายกระตู้วู้หรือการที่เขาเป็นศิลปินเป็นต้น
 Sinnot ชี้ให้เห็นว่ากรอบคิดจารีตเรื่องครอบครัว มีผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของหญิงรักหญิงในหลายๆ ด้าน เช่น มันสร้างเสรีภาพสำหรับหญิงรักหญิงหลายคน เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยเป็นห่วงเมื่อลูกสาวไปค้างคืนกับเพื่อนผู้หญิง ซึ่งจะต่างกับกรณีเพื่อนผู้ชาย นอกจากนี้มันสร้างพฤติกรรมในการเล่นบทของ ทอมซึ่งมีส่วนคล้ายๆ ชายแท้คือ เจ้าชู้ พูดจาหยาบคาย สูบบุหรี่ และกินเหล้า ซึ่งทำให้สังคมปล่อยเสรีกับทอมมากกว่า ดี้นอกจากนี้ ทอมหลายคนจะมองว่า ดี้เป็น ผู้หญิงแท้ที่ไม่ได้รักเพศเดียวกัน เพราะ ทอมเป็นชาย และในอนาคต ดี้อาจไปหาแฟนเป็นผู้ชายก็ได้ ซึ่งอาจเป็นความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริงก็ได้
ถึงแม้ว่า “สังคมโลกยุคใหม่” จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลากหลายแนวคิดและพฤติการณ์ต่างๆ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีบางเหตุการณ์ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “พฤติกรรม” จนถึงขั้น “วัฒนธรรม” ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากหรืออาจไม่มีความคืบหน้าเลย โดยเฉพาะ ในกรณีของ “สิทธิสตรี” กับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา
          อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วนั้น ต้องยอมรับว่า “สิทธิสตรี” ได้รับการยอมรับและพัฒนายกฐานะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก จนถึงขั้น “สิทธิเท่าเทียม” กันกับ “สุภาพบุรุษ” ดังที่เราสามารถศึกษาติดตามได้จากบางประเทศที่มี “ผู้นำ” เป็นสุภาพสตรี ระดับ “ผู้นำประเทศ” ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรี
              ประเทศไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นใดในโลก ขนบธรรมเนียม และประเพณีที่ยอมรับความด้อยสถานะของสตรีที่ว่า “สตรีเป็นช้างเท้าหลัง” บุรุษเป็นผู้นำ จึงพบเสมอว่าสตรีไทยยังประสบปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ อาทิ ความรุนแรงต่อตัวสตรี ความรุนแรงในครอบครัว แรงงานสตรีที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของกิจการ หรือผู้ว่าจ้าง และกฎหมาย หรือระเบียบบางอย่างที่จำกัดสิทธิของสตรีอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้การพัฒนาสิทธิสตรีเป็นไปด้วยความล่าช้ากว่าที่ควร
  ปัจจุบันแนวคิดว่าด้วยความเท่าเทียมกันของสตรีและบุรุษ และแนวคิดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ปรากฏเป็นที่ตระหนักของนานาอารยประเทศทั่วโลก ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน อาทิ การให้สิทธิแก่สตรีในการเลือกตั้ง และสิทธิเสรีภาพอื่นๆ อย่างกว้างขวาง โดยได้มีองค์กรในระดับนานาชาติ อาทิ สหประชาชาติ ได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Woman- CEDAW) เมื่อ พ.ศ. 2522 โดยอนุสัญญาฉบับนี้ มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิสตรีให้มีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษ
  ประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาสิทธิเสรีภาพของสตรีในทุกด้าน โดยได้ร่วมลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยมีแนวทางการพัฒนาตามที่สหประชาชาติกำหนด เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2528 และได้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับพันธกรณี ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ตลอดจนกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่อง อาทิ สิทธิในการรับราชการ สิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ทำให้สิทธิและเสรีภาพของสตรีไทยเท่าเทียมกับบุรุษ
               และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้ความคุ้มครองรับรองสิทธิ และสร้างหลักประกัน รวมถึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษ เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน โดยกำหนดให้มีมาตรการและกระบวนการต่างๆ เพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน
               อย่างไรก็ดี ในทางข้อเท็จจริงยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกปฏิบัติต่อสตรี การจำกัดสิทธิและบทบาทของสตรียังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมไทย
1. ทฤษฏีการเมือง ที่พยายามทำความเข้าใจกับปัญหาความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
ทฤษฏีการเมืองที่พยายามอธิบายและแก้ไขประเด็นเรื่องเพศ มีทั้งหมด 3ทฤษฏีด้วยกันคือ
1.      ทฤษฏีเสรีนิยม (Liberalism)
2.      ทฤษฏีเฟมินิสม์ (Feminism)
3.      ทฤษฏีมาร์คซิสม์ (Marxism)
 แนวเสรีนิยม
แนวคิดเสรีนิยมว่าด้วยปัญหาสิทธิสตรี ถูกพัฒนาในช่วงแรกโดยคนอย่าง Mary Wollstonecraft ในหนังสือ A Vindication of the Rights of Womanที่ออกมาในปี 1792ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติทุนนิยมอันยิ่งใหญ่ในฝรั่งเศส Wollstonecraft เน้นหนักในเรื่องสิทธิปัจเจกของหญิง ช่วงนั้นกระแสที่มีการพูดถึงสิทธิมนุษยชนแรงมากขึ้น แต่มักมีการละเลยประเด็นของผู้หญิง นอกจากนี้ Wollstonecraft จะพูดถึงเรื่องความรู้สึกของสตรีในความสัมพันธ์กับชาย และสิทธิและหน้าที่ของสตรีในครอบครัวอีกด้วย
  ในยุคต่อมา John Stuart MillในหนังสือThe Subjection of Womenซึ่งออกมาในปี 1869 เสนอว่าถ้าเสรีภาพเป็นเรื่องดีสำหรับชาย ก็ต้องดีสำหรับหญิงด้วย และพวกที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนนี้ เพราะมองว่าธรรมชาติของชายและหญิงต่างกันจนต้องมีสิทธิเสรีภาพต่างกัน มักจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เชื่อในไสยศาสตร์
                  ในปัจจุบันแนวเสรีนิยมมักจะเน้นหนักในเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย ให้ชายและหญิงเท่าเทียมกัน และมีการรณรงค์ให้การศึกษาผ่านองค์กรอย่างสหประชาชาติ เช่นจากการประชุมนานาชาติเรื่องสตรีครั้งที่สี่ที่ประเทศจีน ซึ่งประกาศ Beijing Platform for Action ในปี 1995รูปแบบการรณรงค์ให้มีความเท่าเทียมทางเพศที่พบเห็นเป็นนโยบายขององค์กรรัฐต่างๆ คือ Gender Mainstreaming ซึ่งเป็นการพยายามนำความเท่าเทียมทางเพศ เข้ามาปฏิรูปและกำหนด กฎหมายและระเบียบการทำงานในทุกหน่วยงาน แนวทางนี้มีการนำมาใช้ในหน่วยงานของรัฐประเทศไทย และนำไปสู่การแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มความเท่าเทียมทางกฎหมายให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เป็นต้น
                อย่างไรก็ตาม แนวคิดเฟมินิสต์ และแนวคิดมาร์คซิสต์ มองว่าการที่แนวเสรีนิยมมุ่งหน้าสร้างความเท่าเทียมในด้านกฎหมาย ผ่านการให้การศึกษา มักจะทำให้มีรูปแบบนามธรรม เป็นการละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ที่ทำให้สตรีส่วนใหญ่ในโลกขาดสิทธิเสรีภาพ และเป็นการละเลยที่จะศึกษารากฐานปัญหาของการกดขี่ทางเพศ ผ่านความคิดจารีตเกี่ยวกับครอบครัวอีกด้วย
                แนวสิทธิสตรีเสรีนิยมมองว่า ผู้หญิงควรมีบทบาทในสังคมเท่ากับผู้ชาย แต่เป็นมุมมองที่ไม่สนใจความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและความเหลื่อมล้ำภายในประชากรเพศเดียวกัน เช่นมีการส่งเสริมให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้บริหารมากขึ้น แต่ไม่ถามว่าทำไมต้องมีเจ้านายหรือผู้บริหารแต่แรก หรือมีการยินดีเมื่อผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ อย่างในกรณีประธานาธิบดี คอร์รี่ อคีโน หรือ กลอเรีย อะรอโย ในฟิลิปปินส์ หรือประธานาธิบดี เมกะวะตี ในอินโดนีเซีย โดยไม่สนใจว่าสตรีเหล่านั้นมาจากตระกูลชนชั้นนำหรือไม่ และไม่สนใจความสามารถของเขาที่จะเป็นผู้แทนของหญิงส่วนใหญ่ในสังคมอีกด้วย
 แนวเฟมินิสม์ (Feminism)
สาระสำคัญของแนวนี้มองว่า  ระบบปัจจุบันเป็นระบบพ่อเป็นใหญ่”(Patriarchy) ซึ่งหมายถึงการกดขี่ที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิง ทั้งภายในครอบครัวและในสถาบันต่างๆ ของสังคม ต้นกำเนิดของแนวความคิดนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่ในรูปแบบขบวนการปลดแอกสตรี (Women’s Liberation Movement)  เริ่มมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา  ในขั้นตอนแรกขบวนการนี้ให้ความสำคัญกับชนชั้นและใกล้ชิดกับฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงานในตะวันตก โดยเฉพาะในอังกฤษและยุโรป แต่เมื่อการต่อสู้ของแรงงานและกระแสซ้ายอ่อนลงในทศวรรษ 1970 เริ่มเปลี่ยนจากการต่อต้านระบบทุนนิยมและการเน้นชนชั้นเป็นหลัก มาเป็นต่อต้านเพศชายตามทฤษฎีพ่อเป็นใหญ่ เพื่อเน้นผลประโยชน์ของผู้หญิงชนชั้นกลาง
                ในยุคนี้แนว เฟมินิสต์ มองขบวนการสังคมนิยมว่า เน้นแต่มิติด้านเศรษฐกิจและยังมีความลึกซึ้งไม่เพียงพอซึ่งสาเหตุของการมองข้ามภูมิปัญญาและทฤษฏีของแนวมาร์คซิสต์เกี่ยวกับเพศแบบนี้ เป็นเพราะแนวเฟมินิสต์เข้าใจผิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาใช้แนวมาร์คซิสต์
                นักคิดที่สำคัญ ๆ ใน แนวคิดนี้มี เคท มิลเล็ท (Kate Millet) ซึ่งเขียนหนังสือ ชื่อ Sexual Politicsในปี 1970 ที่เสนอทางออกว่า  จะต้องยกเลิกระบบถือชายเป็นใหญ่ ทั้งที่ปรากฏอยู่ในระดับสังคม  และทั้งที่อยู่ในระดับเล็ก ๆ เช่น  ในรูปแบบความสัมพันธ์ส่วนตัวอีกด้วย  และอีกคนหนึ่งที่ถือว่าได้วางพื้นฐานทางทฤษฎีให้แก่ขบวนการเฟมินิสต์ คือ ชูลามิช  ไฟร์สโตน ( Shulamith Firestone) ผ่านหนังสือชื่อ  The Dialectic of Sex ในปีเดียวกัน โดยอธิบายปัญหาความเหนือกว่าของชาย  ว่ามาจากรูปแบบของหน่วยครอบครัวที่จัดลำดับชั้นเป็น ชาย/หญิง/เด็ก  อันเป็นบ่อเกิดของสภาวะการครอบงำ  และที่สำคัญไฟร์สโตน  มองว่าพัฒนาการของสังคมนั้น  เกิดจากความขัดแย้งทางเพศ ไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้น ดั้งนั้นทางออกก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ระบบครอบครัว  ความรัก และเพศ และการให้การศึกษากับคนในสังคมเป็นหลัก
 จะเห็นได้ว่ากรอบสำคัญของแนวนี้ให้ความสำคัญในเรื่องเพศเท่านั้น  เช่น เน้นระบบครอบครัวว่าส่งเสริมการครอบงำ  และเป็นการกำเนิดลักษณะของอำนาจนิยม  แต่ไม่ตั้งคำถามที่สำคัญว่าระบบครอบครัวแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  อะไรคือสิ่งผลักดันให้เกิดระบบครอบครัว  ปัจจุบันระบบครอบครัวถูกครอบงำด้วยระบบอะไร    และที่สำคัญแนวความคิดนี้มองว่าผู้หญิงควรสมานฉันท์สามัคคีกัน ไม่ว่าจะรวยหรือจน หรืออยู่ชนชั้นใด ข้อเรียกร้องต่างๆ จะคล้ายแนวเสรีนิยมตรงที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมาย รณรงค์ให้การศึกษา และสนับสนุนให้สตรีเข้าไปมีบทบาทนำในสังคม โดยถือตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง แนว เฟมินิสต์ กล้าที่จะวิจารณ์โครงสร้างสังคม และแนวคิดจารีตของครอบครัว มากกว่าแนวเสรีนิยม ซึ่งเห็นได้จากการรณรงค์เรื่องสิทธิเจริญพันธ์หรือการทำแท้ง
แนวความคิดมาร์คซิสม์ (Marxism)
สำหรับการการวิเคราะห์เรื่องของการกดขี่ทางเพศนั้น  แนวมาร์คซิสต์มองว่าเราไม่สามารถแยกเรื่องการกดขี่ทางเพศออกจากปัญหาที่มาจากสังคมชนชั้นได้ เพราะพัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่ผ่านมา ในแต่ละระบบหลังยุคบุพการ ล้วนแต่เป็นสังคมแห่งความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีพลังผลักดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  มวลชนคนส่วนใหญ่ของโลกถูกคนจำนวนน้อยที่ครอบครองส่วนเกินจากการผลิต กดขี่ขูดรีด  ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย และในขณะเดียวกันมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง ที่นำไปสู่การกดขี่ทางเพศ
    แนว มาร์คซิสต์ มองว่าการกดขี่ทางเพศที่ทำให้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ และไม่ใช่นิสัยใจคอแท้ของชายอีกด้วย การกดขี่ทางเพศเกี่ยวข้องกับการครอบครองทรัพย์สิน และการถ่ายทอดมรดกของชนชั้นปกครอง และเกี่ยวกับการทำให้ภาระงานบ้านเป็นภาระปัจเจกภายในครอบครัว เครื่องมือสำคัญของชนชั้นปกครองคือความคิดจารีตเกี่ยวกับเพศและครอบครัว แนวคิดเกี่ยวกับครอบครัว ชาย-หญิงนี้เอง เน้นว่าบทบาทหลักของหญิงอยู่ในบ้าน และยังเป็นผลให้คนรักเพศเดียวกันกลายเป็นพลเมืองชั้นสามอีกด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหา ต้องอาศัยทั้งการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนค่านิยมคับแคบ และการต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจในสังคม ซึ่งรวมทั้งรัฐ ระบบชนชั้น และสถาบันครอบครัว
                   เมื่อมนุษย์พัฒนาการเลี้ยงชีพ ค้นพบวิธีการเกษตร แทนการเก็บของป่า จึงเกิด "ส่วนเกิน" จากความต้องการวันต่อวัน ทรัพย์สินส่วนตัวก็เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะการที่ชายถืออาวุธในการล่าสัตว์อยู่ในมือ มีกำลังทางกายเหนือหญิง และมีบทบาทในการรวบรวมส่วนเกิน โดยเฉพาะจากการเลี้ยงสัตว์ในยุคแรกๆ ทำให้ชายบางคนตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในสังคมได้ ซึ่งนำไปสู่กำเนิดสังคมชนชั้น การปกป้องมรดก และการใช้สถาบันครอบรัวและรัฐในการรองรับอำนาจใหม่ดังกล่าว
                ข้อเสนอของเองเกิลส์เป็นสาเหตุที่ชาว มาร์คซิสต์ มองว่าการกดขี่ทางเพศ สังคมชนชั้น ระบบครอบครัว และรัฐ แยกออกจากกันไม่ได้ และเราพอจะสรุปหลักการใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1)      การกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่มาจากสรีระ
2)      การกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแบ่งมนุษย์ทั้งชายและหญิงออกเป็นชนชั้น ภายใต้การปกครองของคนส่วนน้อย
3)      ครอบครัวคือสถาบันสำคัญในการกำหนดและกล่อมเกลาความคิดแบบกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม แต่รูปแบบครอบครัวปัจจุบันไม่ใช่รูปแบบที่มาจากธรรมชาติ รูปแบบครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามยุคของระบบการผลิต
4)      วิธีแก้ปัญหาการกดขี่ทางเพศในระยะยาวต้องประกอบไปด้วยการจัดการเปลี่ยนสังคมไม่ให้มีชนชั้น และการเปลี่ยนรูปแบบของครอบครัวจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพื่อให้สตรีมั่นใจในสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น พร้อมๆ กับการรณรงค์แก้ไขความคิดอีกด้วย
 การปลดแอกผู้หญิง  จะเริ่มเป็นไปได้ ในขั้นตอนแรกก็ต่อเมื่อผู้หญิงได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนในการผลิต และมีรายได้ของตนเอง ดั้งนั้นต้องหาทางที่จะแปรเปลี่ยนงานบ้านต่าง ๆ ให้เป็นงานสาธารณะ  ซึ่งหมายถึงการสร้างรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ
                ภาวะเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมปัจจุบัน มีการดึงสตรีเข้ามามีส่วนในการทำงานมากขึ้น ซึ่งสร้างความอิสระให้สตรีระดับหนึ่ง และส่งเสริมให้เกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีมากขึ้น แต่ในมุมกลับ  ชนชั้นนายทุนไม่พร้อมและไม่สามารถจะสละกำไรเพื่อสร้างระบบสังคมที่ "ภาระบ้าน" ทั้งหมดกลายเป็นภาระของสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงมีการรณรงค์จากรัฐในกระแสความคิดที่เชิดชูสถาบันครอบครัวและค่านิยมอนุรักษ์เกี่ยวกับบทบาทสตรี สิ่งนี้ทำให้มีความขัดแย้งดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ตลอดเวลา
               Tony Cliff  นักมาร์คซิสต์อังกฤษ เคยอธิบายว่าขบวนการสิทธิสตรีในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีสองแนวคือ เฟมินิสต์ กับมาร์คซิสต์ และสองแนวนี้ถึงแม้ว่ามีเป้าหมายร่วมเพื่อปลดแอกสตรี แต่จะมีความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง แนวเฟมินิสต์ เป็นแนวคิดของชนชั้นกลาง ที่มองว่าปัญหาการกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับปัญหาชนชั้น ดังนั้นผู้หญิงทุกชนชั้นต้องรวมตัวกันต่อสู้กับอิทธิพลชายแต่แนว มาร์คซิสต์ ซึ่งเป็นแนวของชนชั้นกรรมาชีพ มองว่าการกดขี่ทางเพศแยกออกจากเรื่องชนชั้นและการขูดรีดแรงงานไม่ได้ และไม่มีเรื่องใดที่สำคัญมากน้อยกว่ากัน นักมาร์คซิสต์อย่าง Alexandra Kollontai ซึ่งเป็นผู้นำ บอลเชวิค ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917มองว่าหญิงกรรมาชีพได้ประโยชน์จากการเข้าใจว่าสังคมชนชั้นเป็นแหล่งกำเนิดของการกดขี่ทางเพศ และหญิงกรรมาชีพจะได้ประโยชน์จากการร่วมต่อสู้กับชายในการล้มล้างสังคมดังกล่าว และในการยกเลิกสถาบันครอบครัวแบบจารีต
                ในประเทศไทย การรณรงค์เพื่อให้เกิดสิทธิลาคลอด เป็นผลงานที่สำคัญของสตรีในขบวนการแรงงานไทย ที่จัดตั้งในองค์กร กลุ่มบูรณการสตรี”  และการรณรงค์รอบต่อไปของขบวนการแรงงานในปัจจุบัน คือการต่อสู้เพื่อสิทธิทำแท้ง ซึ่งมีสหพันธ์แรงงานสิ่งทอเป็นหัวหอก
 2.ข้อถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับสถานภาพผู้หญิงในไทย
เมื่อเราพิจารณาสถานภาพของสตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะพบประเด็นข้อถกเถียงใหญ่ๆ ในหมู่นักรัฐศาสตร์และนักมานุษวิทยาสองข้อคือ (1)ลักษณะความเท่าเทียมในเชิงเปรียบเทียบระหว่างหญิงและชายในภูมิภาคนี้ อันเนื่องมาจากทำเนียมประเพณีการสืบทอดสายเลือดคู่ขนาน (2)ผลกระทบของการพัฒนาทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อสถานภาพสตรี
 2.1 ความเท่าเทียมเชิงเปรียบเทียบระหว่างหญิงและชาย
นักมานุษวิทยาหลายคนชี้ให้เห็นว่า ถ้าเปรียบเทียบสังคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กับสังคมจีนหรืออินเดีย สตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีฐานะเท่าเทียมกับผู้ชายมากกว่า ซึ่งมาจากลักษณะของการให้ความสำคัญกับสายเลือดพ่อและแม่เท่ากัน (Bilateral Kinship) นอกจากนี้การที่ผู้หญิงมีบทบาทสูงทางเศรษฐกิจในการเป็นแม่ค้ารายย่อยตามท้องตลาด มีผลในการสร้างฐานะที่ดีกับผู้หญิง
                อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่อสถานภาพสตรี เห็นได้ชัดในประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้หญิงมักจะมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งมาจากการออกไปทำงาน แต่ในมุมกลับร่างผู้หญิงอาจกลายเป็นสินค้ามากขึ้น
 2.2 สตรีถูกขูดรีดหนักขึ้น และกลายเป็นพลเมืองชายขอบในระบบทุนนิยมสมัยใหม่?
นักวิชาการหลายคนชอบเน้นลักษณะ ความเป็นเหยื่อของผู้หญิง โดยเฉพาะในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์  บางคนอย่าง สินิทธ์ สิทธิรักษ์ หรือ Charles Keyes เขียนเหมือนกับว่าผู้หญิงไทยที่ไม่เป็นแม่บ้าน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการเพศซึ่งถูกส่งเสริมโดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และความคิดบริโภคนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสตรีไทยนอกบ้านแล้ว จะเห็นว่าข้อเสนอนี้ไม่สอดคล้องกับความจริงแต่อย่างใด
                ในความเป็นจริงอัตราค่าแรงของคนงานหญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่ำเกินไป เพราะน้อยจนทำให้ชีวิตยากลำบาก  และถือว่าเป็นการรับส่วนแบ่งของมูลค่าที่ตนเองผลิตขึ้นน้อยมาก นอกจากนี้โดยเฉลี่ย เงินเดือนของผู้หญิงต่ำกว่าของชาย 20%แต่นั้นไม่ได้แปลว่าค่าแรงของคนงานหญิงในโรงงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับการยังชีพ
                นักวิชาการบางคน ชี้ให้เห็นว่าคนงานหญิงถูกต้อนเข้าไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และถูกบังคับให้ทำงานเกินแปดชั่วโมงต่อวันในสภาพการจ้างงานที่อันตราย ซึ่งเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะในนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เริ่มมีการตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง หลังจากที่คนงานรุ่นแรกๆ ที่อาจถูกดึงมาจากภาคเกษตร หายปลื้มกับเงินเดือนและสภาพการจ้างที่ได้ในโรงงาน ตัวอย่างที่ดีคือที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนทางเหนือของประเทศไทย 
2.3 สตรีเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อ ในทุนนิยมสมัยใหม่
ผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง และผู้หญิงส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างต่ำเกินไปในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราควรสำรวจภาพรวมของผลกระทบที่มาจากการพัฒนาทุนนิยม เพราะปัญหาของนักวิชาการที่เน้นว่าสตรีเป็นเหยื่อของทุนนิยม คือการมองด้านเดียว ซึ่งนำไปสู่การมองว่าผู้หญิงอ่อนแอเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้เอง นักวิชาการอย่าง Mary Beth MillsหรือFord & Kittisuksathit ชี้ให้เห็นว่าการออกไปทำงานนอกบ้านในภาคอุตสาหกรรม บริการ หรือพาณิชย์ นำไปสู่รายได้ของตนเองของผู้หญิง ซึ่งสร้างความมั่นใจในหลายๆ ด้าน  Millsเสนอว่าการมีรายได้ทำให้สาวโรงงานมีเงินพอที่จะแต่งตัวดีในเวลาว่าง และรู้สึกว่าตนเอง ทันสมัยนอกจากนี้การเป็นผู้นำของผู้หญิงเหล่านี้ เช่นในงานสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการทอดผ้าป่า เกิดขึ้นง่ายกว่ากรณีของหญิงชาวบ้านในชนบทที่มีอายุเท่ากัน
                ความมั่นใจของสาวโรงงานในไทย และการที่เขาย้ายที่อยู่ออกห่างไกลจากการควบคุมของผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน บวกกับระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อความคิดเกี่ยวกับการมีคู่ การแต่งงาน และความคิดจารีตเกี่ยวกับครอบครัวอีกด้วย ในหลายกรณีคนงานหญิงจะมองว่าการแต่งงานกับผู้ชายในรูปแบบทางการ มีข้อเสียเพราะต้องไปแบ่งรายของตนเองกับผู้ชาย ที่ไม่รับผิดชอบแถมยังต้องทำงานบ้านให้ผู้ชายอีกด้วย และอาจต้อง ขอวิซาจากผู้ชาย เพื่อออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่ออัตราการแต่งงานของสาวโรงงาน แต่ไม่ได้แปลว่าคนงานหญิงจะไม่มีแฟนหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ ยิ่งกว่านั้น การที่คนงานหญิงจำนวนมากพักอาศัยในหอพักใกล้โรงงาน หรือในย่านโรงงาน ทำให้มีการรวมตัวกันของคนงานในสหภาพแรงงานง่ายขึ้น และทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องวิธีการต่อสู้
อ้างอิง : http://thaingo.org/web/2011/06/14/ความเสมอภาคระหว่างหญิง/ชาย
9 ประเทศที่ผู้หญิงน่าสงสารที่สุดในโลก
ผู้หญิงบางประเทศเค้าต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะถูกกดขี่ข่มเหงสุด ๆ เรามาดูกันดีกว่าว่า The Worst Places to be a Woman หรือประเทศในโลกนี้ที่แย่ที่สุด สำหรับการเกิดเป็นผู้หญิง มีประเทศใดบ้าง
1. CHAD (ชาด)
                หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อประเทศนี้ ประเทศชาดเป็นประเทศในแอฟริกากลาง มีพื้นที่ส่วนมากเป็นทะเลทราย จึงได้ชื่อว่าเป็น "หัวใจตายของแอฟริกา" ผู้หญิงในประเทศนี้แทบไม่มีสิทธิ์ในการออกความคิดเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น และเด็กผู้หญิงส่วนมากต้องแต่งงานตั้งแต่อายุ 11-12 ปี
 2. AFGHANISTAN (อัฟกานิสถาน)
                ถ้าเอ่ยชื่อถึงประเทศนี้ คงนึกถึงภาพสนามรบและความอันตราย ชีวิตของผู้หญิงในประเทศนี้ถือว่ามีคุณภาพชีวิตในระดับแย่ เพราะ 90% ของผู้หญิงอัฟกานิสถานไม่รู้หนังสือ และ 85% ของผู้หญิงอัฟกานิสถานคลอดลูกในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ในโรงพยาบาล ทำให้เด็กที่คลอดออกมามีสุขภาพแข็งแรงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
3. YEMEN (เยเมน)
                เยเมนเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียโดยอยู่ในคาบสมุทรอาหรับ ความลำบากของผู้หญิงเยเมนมักเกี่ยวข้องกับการลงมือทำร้ายร่างกายภรรยาโดยสามี เพราะกฎหมายเยเมนไม่ถือว่า การที่คู่ครองฝ่ายชายลงมือทำร้ายร่างกายฝ่ายหญิงเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือสามารถเอาเรื่องได้ รวมถึงสามีสามารถข่มขืนภรรยาได้โดยภรรยาไม่มีสิทธิ์แจ้งตำรวจ และภรรยาทุกคนต้องอยู่กับสามีเดิมไปตลอดชีวิต 
4. DEMOCRATIC REPUBLIC OF THE CONGO (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก)
                ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า หากพูดถึง "คองโก" นั้น อาจหมายความได้ถึง 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) และ สาธารณรัฐคองโก (Republic of Congo) โดยในอดีตนั้นเคยเป็นประเทศเดียวกัน แต่ปัจจุบันแยกออกจากกันโดยมีแม่น้ำคองโกเป็นพรมแดนกั้น ส่วนประเทศที่เรากำลังพูดถึงกันก็คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ฟังชื่อประเทศดูประชาธิปไตยแต่จริง ๆ ก็ไม่ค่อยเป็นอย่างนั้น ผู้หญิงในประเทศนี้ต้องเสี่ยงอันตรายในการถูกลากไปข่มขืน ตามสถิติแล้ว ประเทศนี้มีประชากร 70 ล้านคน และในแต่ละวันจะมีผู้หญิงถูกข่มขืนวันละกว่า 1,100 คน
 5. MALI (มาลี)
                มาลีเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตก สิ่งที่ผู้หญิงส่วนมากในประเทศนี้ต้องเจอคือ การถูกขริบอวัยวะเพศอย่างโหดร้ายโดยไม่มีการใช้ยาชา ทำให้หลายคนเสียเลือดจนเสียชีวิตหรือมีโรคอื่น ๆ ตามมา เพราะมีความเชื่อว่า หากผู้หญิงที่ไม่ได้ขริบอวัยวะเพศเกิดมีอารมณ์ทางเพศขึ้นมาก็สามารถข่มขืนผู้ชายได้
    6. SOLOMON ISLANDS (หมู่เกาะโซโลมอน)
                ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งแปซิฟิกเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังไงก็ตาม ผู้หญิงในหมู่เกาะนี้ก็ถือว่าเป็นช้างเท้าหลังของผู้ชาย ถึงจะไม่มีปัญหาเรื่องการทำร้ายร่างกายอย่างโหดร้าย แต่ผู้หญิงที่นี่ไม่สามารถเข้าไปเป็นนักการเมืองในสภาได้
7. NIGER (ไนเจอร์)
                ไนเจอร์เป็นอีกประเทศหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก ผู้หญิงในประเทศนี้ประสบปัญหาเช่นเดียวกับผู้หญิงในประเทศชาดคือ เด็กผู้หญิงมักถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น ถึงจะมีกฎหมายบังคับออกมาว่าไม่อนุญาตให้เด็กเล็กแต่งงาน แต่กลับไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมายนี้หรือมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 
8. PAKISTAN (ปากีสถาน)
                ต้องรู้จักประเทศนี้กันอย่างแน่นอน เพราะอยู่แถบเอเชียใต้ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเรามากนัก ปัญหาของผู้หญิงในประเทศนี้ก็คือ สามีสามารถข่มขืนภรรยาได้โดยภรรยาไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องเพราะถือไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ที่ร้ายแรงที่สุดคือ ในแต่ละปี มีคนในครอบครัวเดียวกันฆ่ากันตายมากกว่า 800 คน นอกจากนี้อัตราการทำร้ายร่างกายผู้หญิงของปากีสถานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 20% ในทุก ๆ ปี 

9. ETHIOPIA (เอธิโอเปีย)
              การแต่งงานตั้งแต่วัยเด็กในภาวะที่ไม่พร้อม ทำให้ผู้หญิงเอธิโอเปียจำนวนมากต้องตัดสินใจทำแท้ง แต่ด้วยสภาพประเทศที่มีภาวะอดอยากและมีระบบสาธารณสุขย่ำแย่ ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเสียชีวิตจากการทำแท้ง หรือหากไม่เสียชีวิต ก็มักติดเชื้อและเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาภายหลัง 
อ้างอิง : http://board.postjung.com/621918.html
หากธรรมชาติ สร้างให้มนุษย์เพศชาย มีสรีระกายที่แข็งแกร่งกว่ามนุษย์เพศหญิง และก็เช่นกัน เมื่อธรรมชาติมอบกายอันบอบบางต่อ "สตรี" อาจไม่ได้หมายความว่าความบอบบางที่เธอได้รับมาคือ"ความอ่อนแอ" หากแต่ควรกล่าวว่า เพศที่สมควรต่อการทนุถนอม น่าจะเป็นผลจากเหตุของธรรมชาติเสียมากกว่า และยังมีผู้หญิงอีกหลายล้านคนในโลกนี้ที่อาจไม่เคยสัมผัสกับความรู้สึก สิทธิเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงสักครั้งในชีวิต   ผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่ของผู้ชายทุกคนกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ต้อยต่ำกว่า ไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ทัดเทียมเพศชาย






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น