วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สุนัข... เร่ร่อน นส.ภัทรวรรณ เรืองสุกใส 53242278


 สุนัข.... เร่รอน 
โดย นส.ภัทรวรรณ เรืองสุกใส

 การดูแลสัตว์และการเมตตาสัตว์เป็นสิ่งที่ดีที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นตั้งแต่เยาวัย จึงจะทำให้สัตว์เลี้ยงได้รับการดูแลที่ดีได้ ทว่าความเมตตาอย่างเดียวในท่ามกลางสังคมและสิ่งแวดล้อมปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสัตว์สี่ขาใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นหมาหรือแมว ความรักและความรู้เป็นสิ่งที่ต้องคู่กันมาด้วย สำหรับหมานั้น คนรักก็มาก คนชังก็ไม่น้อย ไหนจะปัญหาเสียงหมาที่เห่าดังไปไกลถึงท้ายซอย บางครั้งหมาหลุดออกมาจากรั้วบ้านกัดกันลุกลามไปถึงคนเลี้ยงที่อยู่บ้านใกล้เคียง จนเป็นเหตุให้มีปากมีเสียงแข่งกับเสียงหมาที่กำลังกัดกันอย่างมันเขี้ยว ถ้าเบาะๆ ก็เพียงปะทะลมปาก ถ้าหนักๆ ก็ถึงขั้นลงไม้ลงมือหัวร้างข้างแตก ถ้าขั้นรุนแรงก็พาไปวัดบ้าง ไปโรงพยาบาลบ้าง และรวมถึงไปโรงพัก
 
เหล่านี้มีที่มาที่ไปจากการเลี้ยง "หมา" ไม่ว่าจะเป็นหมาในรั้วบ้าน หมาตามถนนหนทางที่มีผู้ใจบุญ สุนทานนำอาหารมาให้หมากินเป็นเวลา นี่ยังไม่พูดถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มีหมาเป็นพาหะโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพิษสุนัขบ้าที่ติดต่อถึงคนแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะเสียชีวิตทุกคน พบว่า ในแต่ละปีทั่วประเทศมีคนไทยถูกหมาที่มีเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ากัดและเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนแสดงอาการและเสียชีวิตมากกว่า ๑๐๐ คนต่อ

  รากฐานทางความเชื่อในสังคมไทย เรื่องบาปบุญและความเมตตาต่อสัตว์ อาจเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาจากสุนัขเร่ร่อนของไทยเป็นเรื่องยากต่อการแก้ไข ความเชื่อเรื่องผลแห่งการทำบาปจากการฆ่าสัตว์ทำให้การนำมาตรการที่เข้มงวด เช่น การกำจัดสุนัข ได้รับกระแสต่อต้านจากสังคมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ความเมตตา ความเชื่อเรื่องการทำบุญให้ทาน อาจเป็นแรงจูงใจให้คนไทยช่วยเหลือสุนัขเร่ร่อนด้วยการให้อาหาร โดยมีคนบางส่วนอาจใช้ประโยชน์จากสุนัขที่เลี้ยงไว้ (เช่นเฝ้าบ้าน) แต่ไม่ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูอย่างแท้จริง ทำให้สุนัขขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น และเร่ร่อนไปมาได้อย่างอิสระ ก่อให้เกิดเป็นปัญาต่อสังคมตามมา เมื่อไม่สามารถใช้มาตรการของการกำจัดสุนัขได้ มาตรการอื่นๆที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การจำกัดบริเวณ และให้การเลี้ยงดู การฉีดวัคซีนและทำหมัน คงทำได้เพียงชั่วคราวเพราะงบประมาณของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมี จำกัด
ดังนั้น การแก้ปัญหาสุนัขเร่ร่อนของคนไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่และใช้หลายๆ มาตรการร่วมกัน ผู้เขียนชื่นชอบกระแส พระราชดำรัสฯ ที่ให้ไว้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ (คุณสมัคร สุนทรเวช) ที่ว่าควรสนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกสุนัข Mid-Road ไปเลี้ยง และต้องเลี้ยงอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าหากประชาชนสามารถช่วยกันสนองตาม กระแสพระราชดำรัสฯ ดังกล่าว โดยช่วยกันนำสุนัขเร่ร่อนไปเลี้ยง อย่างมีความรับผิดชอบตามศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนแล้ว จะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐควรมีการรณรงค์เพื่อปลูกฝังค่านิยมให้คนไทยมีความ รักร่วมกับความรับผิดชอบต่อสุนัขที่เลี้ยงอยู่ตลอดชีวิต นอกจากนี้รัฐควรให้บริการเรื่องการทำหมันฟรี (ควรทำหมันก่อนแจก) และฉีดวัคซีนราคาถูก (ราคาต้นทุน หรือกำไรน้อย) ให้กับสุนัขเร่ร่อนที่คนนำไปอุปการะ สำหรับมาตรการใหม่ของกรุงเทพมหานครคือ การจัดทำทะเบียนสุนัขนั้น น่าจะเป็นผลดีอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยอาจใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการสำรวจจำนวนประชากรสุนัข บ้าน แต่ก่อนที่จะประกาศให้มีผลบังคับใช้นั้น รัฐควรมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนต่อการดำเนินการกับสุนัขที่ไม่ได้รับการขึ้น ทะเบียนด้วย ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าของสุนัขที่มีความรับผิดชอบ แล้ว กลับไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาสุนัขเร่ร่อน
แต่ผู้เขียนยังไม่เห็น ด้วยกับเรื่องของการบังคับฝัง  ไมโครชิฟ  ให้กับสุนัขเพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาสุนัขเร่ร่อนเลย ทั้งนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่าเจ้าของที่รักสุนัขจริงจะไม่ทอดทิ้งสุนัขของตนอยู่แล้ว แม้ว่าสุนัขจะหลงทาง ( มีจำนวนไม่มากนัก ) หายไป เจ้าของสุนัขกลุ่มนี้น่าจะพยายามตามหาสุนัขของตนเองแทบทุกวิถีทางอยู่แล้ว ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าว อาจเป็นเพียงการจัดหน่วยงานและสถานที่รองรับสุนัขหลงทาง ( Dog Shelter  โดยมีสถานที่ตั้งชัดเจน และติดต่อสะดวกเพื่อให้เจ้าของสุนัขสามารถติดต่อสอบถามได้หรือมีเว็บไซต์  แสดงรูปภาพและข้อมูลสุนัขที่เก็บมาเลี้ยงไว้เพื่อให้เจ้าของสุนัขสามารถตรวจ สอบหาสุนัขที่หายไปได้ ดังนั้น จึงยังไม่เห็นด้วยกับการฝัง  ไมโครชิฟ  เพียงเพื่อป้องกันสุนัขหลงทางและเห็นว่าการฝังไมโครชิฟ เพื่อใช้ประโยชน์ในการตามหาสุนัขนั้น ควรเป็นเรื่องของการสมัครใจของเจ้าของสุนัขเองมากกว่าเช่นเดียวกัน ผู้เขียนยังไม่เห็นด้วยกับการบังคับฝัง  ไมโครชิฟ  ในสุนัขเพียงเพื่อจะช่วยแก้ปัญหาที่เจ้าของสุนัขทิ้งขว้างสุนัขของตนให้กลาย เป็นสุนัขเร่ร่อย เพราะถ้าหากผู้เลี้ยงทราบตำแหน่งของการฝังแล้ว การผ่าผิวหนังเพื่อนำชิ้น  ไมโครชิฟ ”  ขนาดเม็ดข้าวสาร  ออกจากตัวสุนัขสามารถกระทำเองได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะทิ้งขว้างจริง คงไม่มีความเมตตา หรือสนใจถึงความเจ็บปวดของสุนัขจากการผ่าเพื่อนำชิ้น  ไมโครชิฟ  ออกจากตัวสุนัขก่อนทิ้งขว้าง แล้วแจ้งว่าสุนัขตายหรือหายไป ดังนั้นการบังคับฝัง  ไมโครชิฟ  อาจจะไม่ก่อประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาสุนัขเร่รอ่นที่มาจากการทิ้งขว้างสุนัข เลย นอกจากนี้ การฝัง  ไมโครชิฟ  กับสุนัขเร่ร่อนนั้น นับว่าเป็นการสูญเปล่าที่ไม่เห็นน่าจะได้ประโยชน์จากการแก้ไขปัญหาสุนัขเร่ ร่อนเลย
ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่ารัฐควรน้อมรับกระแสพระราชดำรัสฯ มาไตร่ตรองเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมมารองรับการแก้ไขปัญหาสุนัขเร่ร่อน ยก ตัวอย่างเช่น การปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อการเลี้ยงสุนัข การส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐนำสุนัขเร่ร่อยมาฝึกเพื่อใช้ในการราชการ และอาจรวมไปถึงการใช้งานในภาคเอกชน หรือส่วนบุคคล รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนเจ้าของที่จะช่วยอุปการะสุนัขเร่ร่อน เช่น การทำหมันฟรีก่อนรับสุนัข การบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้สุนัขเร่ร่อนที่ได้รับอุปการะในราคาถูกเป็นประจำทุกปี ด้วยเหตุนี้การแก้ไขปัญหาสุนัขเร่ร่อนจึงเป็นงานของทุกคนในสังคม ถ้าคนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความจำเป็นของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้ความสนับสนุนร่วมมือ ร่วมใจกันอย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงเพียงความรู้สึกพึงพอใจหรือเพียงเพื่อประโยชน์เล็กน้อยส่วน ตัว ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาจากสุนัขเร่ร่อนจะเป็นความจริงขึ้นมาได้โดยเร็ว
บทความข้างต้นเป็นบทความที่มีมุมมองน่าสนใจในการแก้ในปัญหาสุนัขเรร่อน เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นเหตุของสุนัขจรจัดเกิดจากการขาดความรับผิดชอบของตน อย่างไรก็ตามการสร้างสำนึกและความรับผิดชอบและการกำจัดสุนัขจรจัดให้หมดไปก็เป็นไปไม่ได้ตราบใดที่ยังมีการขยายพันธุ์หรือมีคนนำมาปล่อยเพิ่มในขณะเดียวกันจำนวนสุนัขแต่ละพื้นที่ก็มีส่วนป้องกันม่ไให้สุนัขอื่นเข้ามาอาศัยนอกจากสุนัขที่เกิดจากฝูงเดียวกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดจึงเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน และการนำสุนัขไปทำลายไม่ใช้วิธีที่ได้ผลและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม เพราะที่ผ่านมามีการกำจัดสุนัขจรจัดด้วยการทำลายปีละ 4-5 หมื่นตัวแต่ยังคงมีผู้นำมาปล่อยบวกกับการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ปัละ 4-5 หมื่นตัวทุกปี การทำลายสุนัขจึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา


กำเนิดหมาจรจัด การเกิดหมาจรจัดพอจะประมวลได้ ดังนี้

๑. โดยอุบัติเหตุ เช่น พลัดหลง  หลุดจากบ้านแล้วกลับไม่ถูกหรือหลงระเริงไปจนไม่กลับบ้าน มักพบกับหมาเพศ ผู้หนุ่มๆ แตกพานออกไปติดหมาเพศเมีย เป็นต้น รวมถึงพวกที่เลี้ยงหมาแบบปล่อยสะเปะสะปะ เจ้าของมีหน้าที่ให้อาหารอย่างเดียว ไม่ได้ดูดำดูดีว่าหมาของตนจะออกไปทำอะไรที่ไหน เป็นต้น

๒. โดยเจ้าของประเภทนี้เป็นความตั้งใจที่จะอัปเปหิหมาออกจากบ้าน โดยตัวเจ้าของหมาเอง ทำให้เกิดเหตุเทวดาตกสวรรค์ขึ้น อันมีสาเหตุจาก
หมาไม่ได้สวยน่ารักดั่งใจนึก เช่น ขี้เหร่ มีตำหนิ ผิดพันธุ์ เป็นต้น คลาดเคลื่อนจากความหวังเมื่อซื้อมาขณะเป็นลูกหมาเจ็บไข้ได้ป่วย เบื่อการรักษาเยียวยา ภาระและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ยิ่งยุค ไอเอ็มเอฟ. ด้วยแล้ว เจ้าของเองยังเอาตัวไม่รอดเลย

ผลกระทบจากหมาจรจัดมีอะไรบ้าง? หมาจรจัดก่อให้เกิดปัญหาต่างๆอันกระทบต่อคนเมืองโดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ
๑. ผลกระทบทางสาธารณสุข  หมาจรจัดเป็นพาหะสำคัญของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งคร่าชีวิตคนในกรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี จนจัดว่าเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในโลกที่มีสถิติของโรคพิษสุนัขบ้าสูงติดอันดับต้นๆ

๒. ผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม ได้แก่

ทางเสียง เช่น การเห่าหอน  ทำความรำคาญ
สร้างสิ่งปฏิกูล เช่น การถ่ายอุจจาระตามที่ต่างๆ รื้อคุ้ยขยะเลอะเทอะ แล้วมีหนูมารับช่วง
ทางสายตา เช่น สภาพหมาจรจัดที่เจ็บป่วยทรุดโทรม เป็นภาพไม่ชวนมอง เป็นต้น

๓. ด้านเศรษฐกิจ เช่น เมืองใหญ่ๆ ต้องเสียงบประมาณเพื่อจัดการกับหมาจรจัดเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยต้องเสียเงินตราต่างประเทศไปเพื่อนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและหมาเพื่อฉีดป้องกัน และในกรณีโดนหมาจรจัดกัด เป็นต้น

คนเมืองกับหมาจรจัด

คนเมืองคิดอย่างไรต่อหมาจรจัด?
๑. หมาจรจัดเป็นเพื่อนร่วมโลกที่สมควรได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่
๒. หมาจรจัดเกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคมและชีวิตสัตว์ของเจ้าของหมาที่ขาดสำนึก
๓. ปัญหาหมาจรจัดเป็นปัญหาของคนเมืองที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้
๔. หมาจรจัดก่อปัญหาต้องรีบแก้ไข
๕. เมืองไทยเป็นเมืองพุทธไม่ควรทำลายหมาจรจัด
๖. หมาจรจัดเป็นตัวนำโรคร้าย คือ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งทำให้ถึงตาย จึงต้องควบคุมดูแลอย่างจริงจัง
๗. ช่างมันไม่สนใจ ไม่อยากยุ่งเกี่ยว เสียเวลา เสียงสตางค์ ธุระไม่ใช่
๘. ไม่ควรเสียสตางค์ไปกับหมาจรจัด น่าจะมาใช้ดูแลคนจรจัด คนจน คนไม่มีจะกินในยุค ไอเอ็มเอฟ. เช่นนี้จะดีกว่า เป็นต้น


 คนเมืองทำอะไรกับหมาจรจัดบ้าง?
๑. ช่วยให้ข้าว ให้น้ำ
๒. พาไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
๓. พาไปทำหมัน คุมกำเนิด
๔. ปกป้องคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่ จับไปทำลาย
๕. นำไปเลี้ยงดูไว้เอง
๖. เจ็บป่วยพาไปหาหมอ
๗. ไล่เตะ ยิงหนังสติ๊กใส่เมื่อพบ เห็นเกะกะ
๘. แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาจับไปทำลาย
๙. เก็บเศษอาหารและถังขยะอย่างมิดชิด จนหมาขุดคุ้ยไม่ได้
๑๐. วางยาเบื่อเมื่อเข้ามารบกวนในชุมชน เป็นต้น


ข้อเสนอแนะของคนเมืองเพื่อการแก้ไขปัญหาหมาจรจัด
๑. จัดบริการฉีดวัคซีน ฉีดยาคุมกำเนิด และทำหมันฟรีแกหมาจรจัด
๒. ให้เมืองจัดหาที่เลี้ยงหมาจรจัด ไว้จนหมดอายุขัยไปเอง โดยแบ่งแยกเป็น ๒ เพศ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำหมันให้สิ้นเปลือง
๓. จัดระเบียบการเลี้ยงหมาของชาวเมืองโดยการขึ้นทะเบียน
๔. จัดระเบียบผู้ประกอบกิจการค้าขายหมา เพื่อให้รับผิดชอบต่อคุณภาพหมาที่ขายไป และสะดวกในการจดทะเบียนเมื่อเริ่มต้น
๕. จัดกลุ่มอาสาสมัครเพื่อดูแลหมาจรจัดภายใต้การสนับสนุนของรัฐ
๖. ให้หน่วยงานรัฐยุติการจับหมาไปทำลาย
๗. ดำเนินการให้มีสถานที่กลางเพื่อการแจกจ่ายหมาสำหรับผู้ต้องการนำไปเลี้ยงโดยไม่คิดมูลค่า
๘. เริ่มกระตุ้นตลอดจนสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงโดยไม่คิดมูลค่า
๙. ต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตลอดไปมิใช่แบบไฟไหม้ฟาง


หน่วยงานรัฐทำอะไรกับหมาจรจัดบ้าง?
๑. จับและทำลาย
๒. ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดฟรีแก่หมาบ้านและหมาจรจัด
๓. รณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จัดทำประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ประชาชน
๔. ระดมความคิดจากนักวิชาการ และประชาชนเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาหมาจรจัด


ชาวเมืองจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมาจรจัดได้อย่างไร?
๑. มีความรับผิดชอบต่อหมาที่เลี้ยงอยู่ตลอดชั่วชีวิต ไม่ทิ้งขว้าง ปล่อยปละละเลย ตลอดจนวางแผนคุมกำเนิดครอบครัวหมาด้วย 
๒. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเมื่อมีการจัดระเบียบการเรื่องหมาโดยวิธีจดทะเบียนหมาบ้าน
๓. เก็บขยะมูลฝอย เศษอาหารให้มิดชิดเพื่อมิให้เป็นแหล่งอาหารของหมาจรจัด
๔. ช่วยกันนำหมาจรจัดไปเลี้ยงตามลำพัง
๕. ช่วยกันประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้เกิดการเลี้ยงหมาอย่างมีคุณภาพ

แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด

มาตรการที่ 1. การกรองสุนัขจรจัด ที่ไม่มีเจ้าของออกจาก สุนัขที่มีเจ้าของให้ชัดเจน โดยการออกกฎหมาย ควบคุมรวมถึงบทลงโทษ กับเจ้าของสุนัขที่กระทำผิด เช่น การออกกฎหมาย ห้ามมิให้ผู้เลี้ยงสุนัข ปล่อยสุนัขของตน ออกนอกเคหะสถาน หรือที่สาธารณะโดยเด็ดขาด ถ้าสุนัขก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สิน หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ให้เจ้าของสุนัข ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถ้าเจ้าของสุนัขที่มีความจำเป็น ที่จะต้องนำสุนัข ออกนอกเคหะสถาน หรือที่สาธารณะ สุนัขทุกตัวจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด จากเจ้าของสุนัข หรือผู้ดูแลสุนัขตลอดเวลา เป็นต้น

ผลพลอยได้ที่ได้จากมาตรการนี้มีหลายเรื่องคือ 1.ช่วยลดอุบัติเหตุ ในกรณีที่สุนัขวิ่งตัดหน้ารถ หรือไล่กัดผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จนอาจทำให้เสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้ 2.ช่วยลดการแพร่ระบาท ของโรคพิษสุนัขบ้า 3.ช่วยแก้ไขปัญหาสุนัขอุจจาระ และปัสสาวะ ในที่ๆไม่เหมาะสม ซึ่งอาจก่อความเดือดร้อนกับผู้อื่นได้ 4.ป้องกันสุนัขกัดหรือทำร้ายคน 5.ลดปัญหาการแพร่ขยายพันธุ์ของสุนัข ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหา

มาตรการที่ 2. ให้เจ้าของสุนัข นำสุนัขทุกตัวที่ต้องการจะเลี้ยง ไปทำการสักเบอร์หู พร้อมกับขึ้นทะเบียนตัวและทำประวัติให้เรียบร้อย ซึ่งการขึ้นทะเบียนตัวประวัติสุนัข ยังเป็นการตรวจนับประชากรสุนัขไปในตัวด้วย จะได้ทราบถึง จำนวนสุนัขที่แท้จริงว่ามีอยู่เท่าไหร่ และยังสามารถควบคุม โรคพิษสุนัขบ้า และโรคติดต่ออื่นๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยการให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คอยตรวจเช็คจากฐานข้อมูลประวัติของสุนัข ว่าสุนัขตัวใดบ้างที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ จะได้ทำการแจ้งเตือน ให้เจ้าของสุนัขนำสุนัขของตน ไปรับการฉีดวัคซีนให้เรียบร้อยต่อไป

การสักเบอร์หู จะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามาก ซึ่งต่างกับการฝังไมโครชิพ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ ถ้าใช้วิธีการสักเบอร์หู แทนการฝังไมโครชิพ จะช่วยประหยัด งบประมาณได้มหาศาลเลยที่เดียว การเลือกใช้การสักเบอร์หูสุนัข พร้อมกับการขึ้นทะเบียนตัวและประวัติสุนัข ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะจุดประสงค์ ที่แท้จริงก็เพื่อ ให้ทราบว่าสุนัขบ้านอยู่ที่ไหน และใครเป็นเจ้าของสุนัขเท่านั้น

มาตรการที่ 3. เมื่อกรองสุนัขจรจัด ออกจากสุนัขที่มีเจ้าของได้แล้ว ก็จะเหลือแต่สุนัขที่เป็นสุนัขจรจัดจริงๆเท่านั้น ขั้นตอนนี้ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ออกจับสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของทั้งหมด ไปไว้ยังสถานที่รับเลี้ยงสุนัขจรจัด และให้แยกเลี้ยงสุนัขเพศผู้และสุนัขเพศเมียออกจากกัน เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กันเองของสุนัข โดยวิธีนี้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำหมันสุนัขแต่อย่างใด และให้เลี้ยงสุนัขจรจัดทั้งหมด จนกว่าจะสิ้นอายุขัย

มาตรการที่ 4. จัดให้มีสถานที่และเจ้าหน้าที่ ในการทำโครงการ หาบ้านใหม่ให้สุนัข ซึ่งทุกวันนี้ก็มีโครงการดีๆแบบนี้อยู่บ้างแล้ว เพียงแต่ส่งเสริมให้ดูชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการคัดเลือกสุนัขที่มีความเหมาะสม ในด้านนิสัยและพฤติกรรมที่ดี ให้กับผู้ที่มีความพร้อม ในการที่จะขอรับสุนัขไปอุปการะ ควรทำหมันสุนัขทุกตัวที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นการ ช่วยลดจำนวนสุนัขจรจัด ที่สถานรับเลี้ยงสุนัขจรจัด ต้องรับผิดชอบได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย

มาตรการที่ 5. รณรงค์และขอความร่วมมือ กับเจ้าของสุนัข ให้ทำหมันสุนัขที่ไม่ต้องการจะมีลูก เพื่อป้องกันการแพร่ขยายพันธุ์ ของสุนัขโดยไม่ตั้งใจ ส่วนสุนัขที่อยู่ในเคหะสถาน โอกาสที่สุนัขจะออกมาผสมพันธุ์กันเอง ก็เป็นไปได้ยาก จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ เมื่อไม่มีการขยายพันธุ์เพิ่มของสุนัขจรจัด สุดท้ายสุนัขจรจัดที่เหลืออยู่ ก็จะค่อยๆ ลดจำนวนลง และหมดไปในที่สุด

เหนือสิ่งอื่นใดวิถีทางที่สำคัญประการหนึ่งในการแก้ปัญหาหมาจรจัดอย่างยั่งยืนก็คือ การนำหมาจรจัดมาเลี้ยงเป็นหมาบ้าน มันจะเปลี่ยนสถานะจากหมา Mid road หรือหมากลางถนนมาอยู่ในสถานที่มีรั้วรอบขอบชิด และที่สำคัญมีผู้รับผิดชอบในความรักและเลี้ยงดูมันต่อไปชั่วชีวิต ฝากผีฝากไข้ไว้ได้นั่นเอ

บรรณานุกรม

ปัญหาจากสุนัขเร่ร่อน ควรแก้ที่จุดไหน  เอกสารงานวันเกษตรแห่งชาติปี 2546

สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย  http://www.thaiaga.org/mobile_clinic.php

ดูแลเพื่อนซี้ 4 ขา http://www.doctor.or.th/article/detail/1891

มูลนิธิพิทักษ์สัตว์เพื่อสังคม http://th.carefordogs.org/objectives/about-homeless-dogs/





1 ความคิดเห็น:

  1. งานเขียนนี้

    - เหมือนมีประเด็นที่ต้องการสื่อ แต่ไม่ชัดเจน
    - ขาดการจัดเรียงลําดับความสําคัญ และความคิดที่เป็นระบบต่อเนื่อง
    - เนื้อหา และข้อเสนอแนะ ขาดการให้เหตุผลที่ดี อ้างอิงมาก็จริง แต่ ความคิดเห็นของตนเอง อยู่ที่ไหน อย่างไร
    - ข้อเสนอแนะเป็นสิ่งที่บอกลอย ๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร

    ตอบลบ